หมอศิริราชเตือนฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงขึ้น กระทบสุขภาพระยะยาว ห่วงกลุ่มเด็กรับผลสูง เหตุปริมาตรการหายใจต่อน้ำหนักตัวมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้สูดฝุ่นเข้ามากกว่า เผยผลศึกษาประเทศจีนในเด็กอนุบาล 3-7 ขวบ กว่าแสนคน พบเด็กในครรภ์จนถึง 3 ขวบ ที่สัมผัสฝุ่นพีเอ็ม ส่งผลให้การนอนผิดปกติ กระทบพัฒนาการทางสมอง แนะป้องกันด้วยหน้ากากอนามัยดีสุด ส่วนล้างจมูกแนะนำกลุ่มผู้เป็นโรคภูมิแพ้ น้ำมูกเยอะๆ แต่คนทั่วไปไม่แนะนำ เหตุเสี่ยงติดเชื้อ
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้กราฟของสถานการณ์ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกันตั้งแต่ปลายปี 2565 จนถึงเดือน ก.พ.2566 พบว่า ตัวเลขผู้ป่วยในโรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช เพิ่มขึ้นซึ่งสอดคล้องกับ รพ.อื่น ๆ ทั่วประเทศด้วย โดยมีทั้งผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วยเก่าที่อาการกำเริบ เช่น ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และ โรคหัวใจวาย
ทั้งนี้ สาเหตุที่โรคระบบทางเดินหายใจกำเริบส่วนใหญ่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่มักจะสูงขึ้นในช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค. ของทุกปี ทำให้เราเสียทรัพยากรสุขภาพโดยไม่จำเป็น ส่วนผลระยะยาวเป็นสิ่งที่ต้องติดตามเพื่อประเมิน ตนเป็นห่วงในกลุ่มเด็กมากกว่ากลุ่มอื่น เพราะเด็กมีปริมาตรการหายใจต่อน้ำหนักตัวมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้มีโอกาสที่ฝุ่นเข้าไปได้เยอะ แต่ขณะที่การป้องกันตนเองด้วยหน้ากากอนามัยยังน้อยกว่า ล่าสุด ประเทศจีน เผยแพร่ข้อมูลการศึกษาในกลุ่มเด็กอนุบาล 3-7 ขวบ กว่าแสนคน ใน 51 เมือง พบว่า เด็กในครรภ์จนถึง 3 ขวบ ที่สัมผัสฝุ่น PM2.5 ส่งผลให้การนอนผิดปกติ ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองแย่ลงอย่างชัดเจน
“ที่จะห่วงคือเด็กรุ่นหลัง ๆ ที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ และกลุ่มเปราะบางที่โรคเรื้อรังก็จะทำให้อาการกำเริบ ดังนั้น จะต้องดูแลกลุ่มเด็ก หากอยู่ในบ้านก็ต้องป้องกันไม่ให้ฝุ่นเข้า โรงเรียนหรือศูนย์รับเลี้ยงเด็ก จะต้องมีห้องปลอดฝุ่น มีเครื่องกำจัดฝุ่น งดกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อป้องกันให้ได้มากที่สุด ซึ่งอาการระบบทางเดินหายใจในเด็กจะเหมือนกับผู้ใหญ่ เช่น ไอ มีน้ำมูก มีเสมหะ โรคระบบทางเดินหายใจกำเริบ หรืออาจเกิดผื่นที่ผิวหนัง ตา หรือหู” รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว
เมื่อถามถึงการวัดคุณภาพอากาศและการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษ จาก AirVisual ประเทศไทยติดอันดับคุณภาพอากาศแย่ที่สุด 10 ประเทศแรกถึง 2 จังหวัด รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า ตั้งแต่ที่เราสนใจเรื่องฝุ่นนับแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน เรานับวันที่สามารถหายใจแบบคล่องคอ ไม่มีมลพิษ ลดน้อยลงๆ ใน 1 ปี สะท้อนถึงคุณภาพชีวิตของทุกคนแย่ลง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและคนเปราะบาง ดังนั้น ทุกฝ่ายคงต้องร่วมมือจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน
เมื่อถามถึงการล้างจมูกเพื่อเอาฝุ่น PM2.5 ออก รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการล้างจมูกเราแนะนำในกลุ่มผู้เป็นภูมิแพ้ที่มีน้ำมูกเยอะๆ เพื่อทำความสะอาดโพรงจมูกก่อนพ่นยา หรือกลุ่มคนที่ทำงานกลางแจ้งแล้วอยู่กับฝุ่นเยอะๆ ตลอดเวลา เช่น ตำรวจจราจร ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ แต่สำหรับคนทั่วไป ไม่แนะนำให้ล้างจมูก เพราะหากน้ำไม่สะอาดก็อาจติดเชื้อได้ รวมถึงการล้างจมูกก็จะเอาเยื่อเมือกที่อยู่ในโพรงจมูกทำหน้าที่ดักจับสิ่งแปลกปลอมออกไปด้วย ก็จะยิ่งทำให้เปิดจุดอ่อนของเราให้ศัตรูโจมตีได้ง่ายขึ้น ดังนั้นจึงไม่เป็นประโยชน์ จึงแนะนำให้ป้องกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งสวม 1 ชั้นก็ลดการหายใจเอาฝุ่นเข้าไปได้ถึง 50%
- 741 views