มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ร่วมกับ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนและสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ "เวทีวิเคราะห์นโยบายพรรคการเมือง และข้อเสนอสำหรับการเลือกตั้ง 2566 เพื่อความมั่นคงทางอาหารและคุณภาพชีวิตเกษตรกร" ณ ห้อง Amber 2-3 โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2565
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงสิ่งสำคัญและแทบไม่เห็นพรรคการเมืองใดพูดถึงเลย คือ การผูกขาดหรือรวมศูนย์ในระบบอุตสาหกรรมอาหาร ระบบการกระจายอาหารในปัจจุบันอยู่ในมือของบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งมีการปล่อยให้ค้าปลีกถือครองการกระจายอาหารเกิน 80% ที่ไม่มีที่ไหนในโลกปล่อยให้เกิดขึ้น บวกกับเบื้องหลังการผลิตที่เอื้อต่ออุสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับบริษัทเหล่านั้นและเป็นผู้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
(วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ)
นอกจากนี้ปัญหาเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารก็มักไม่ถูกพูดถึง ทั้งที่ล่าสุดตัวเลขปี 2565 ระบุเด็กไทยขาดอาหารทำให้เตี้ย แคระ แกร็น 5.5% ถ้าไปเทียบกับละตินอเมริกาที่จีดีพีเท่าๆ กับเรา ไทยแย่กว่ามาก และไอคิวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรการของโลก สะท้อนระบบโภชนาการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอาหาร รวมทั้ง ตัวเลขสารตกค้างในของผักผลไม้ตลาดค้าส่งทั่วไป ปลอดภัยต่ำกว่าเกณฑ์วิเคราะห์กรท่รวงสาธารณถึง 62% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นหรืออเมริกาที่ยอมรับได้ที่ 2-3 %
“เพราะฉะนั้นถ้าจะทำให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารมีสวัสดิการที่มุ่งไปสู่การแก้ปัญหาของคนที่ขาดอาหารได้ ควรมุ่งไปที่เด็กเล็กถึงเด็กปฐมวัย หากมีการเปลี่ยนระบบเกษตรกรรมควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาเรื่องสติปัญญาของเด็ก คุณภาพของคนต้องจัดการระบบอาหารที่ขยายไปสู่ระบบนอกโรงเรียนด้วย และเปลี่ยนอาหารให้เป็นอาหารอินทรีย์ ใช้งบประมาณเพิ่มโดยมีเงื่อนไขโดยให้การผลิตต้องมาจากการผลิตที่ยั่งยืน และเป็นการผลิตจากท้องถิ่นเพื่อป้องกันการผูกขาดการขยายตลาด เราสามารถใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเพียง 3 หมื่นล้านเพื่อแก้ปัญหาความไม่มั่นคงทางด้านอาหารที่เป็นวิกฤตของประเทศได้ และโดยวิธีนี้คุณสามารถลดการใช้สารเคมีและรักษาสิ่งแวดล้อมไปได้พร้อมกับการพัฒนาสติปัญญาของเด็กไปด้วย” คุณวิฑูรย์ กล่าว
ขณะที่ดร.ไชยยะ คงมณี รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มองว่าถ้าดูนโยบายโดยรวมจะเห็นว่าโครงสร้างนโยบายไม่เปลี่ยนอยู่ในวังวนเดิมๆ ไม่ทันกับกระแสโลกเปลี่ยนไปแล้ว หลายพรรคยังคงเน้นเงินอุดหนุน และมีเป้าหมายทางการเมืองมากกว่าการยกระดับทางเกษตร จะเน้นปัจจัยการผลิตและข้ามไปเรื่องรายได้เลย โดยไม่มองเรื่องประสิทธิภาพ
สิ่งที่ดร.ไชยยะเสนอคือ การวางรากฐานภาคเกษตรไปสู่การเกษตรยุคใหม่ เพื่อรายได้มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เป็นรายได้ที่มาจากการอุดหนุน โดยเปลี่ยนการอุดหนุนเชิงรายได้เป็นการสนับสนุนโครงสร้างการผลิต การสร้างนักธุรกิจการเกษตร ปรับเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจเกษตร ที่มีความสามารถในการแข่งขันได้ในตลาดยุคใหม่ ต้องมีมาตรฐานการผลิตที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานที่โลกต้องการ และการแข่งขันหรือการพัฒนาต้องการงานวิจัยไม่ว่าจะเป็นเอไอหรือนวัตกรรมที่สอดคล้องกับเกษตรกร อาจเป็นกองทุนเสถียรภาพรายได้เกษตรกร
อย่างไรก็ตามหลายคนมองว่า มองว่านโยบายประชานิยมเรื่องการให้เงินอุดหนุนระยะสั้นที่แทบทุกพรรคมีนั้น อาจจะยังจำเป็นต้องมีสำหรับเกษตรกรในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ก็ต้องทำคู่ขนานไปกับแนวทางในระยะยาว และพลิกโฉมการสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนด้วยการผูกเงื่อนไขให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เผยว่า ปัญหาใหญ่ของเกตรกรไทย คือ เรื่องการจัดการที่ดินทางการเกษตร สิทธิทำกินของเกษตรกรครึ่งหนึ่งในประเทศอยู่ในพื้นที่ของรัฐ จึงเป็นปัญหาและอุปสรรคในการรับรัฐสวัสดิการ หรือโอกาสสร้างอาชีพเพิ่มเติม เช่น หากใครต้องการพัฒนาไปสู่การแปรรูปก็ต้องถูกถามถึงที่ดิน หรือสปก.ก็ติดเงื่อนไขมากมาย ที่ไม่สามารถปรับตัวให้อยู่รอดบนความหลากหลายได้
“กฎหมายมันล้าสมัยแล้ว ไม่เหมาะกับสังคมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันควรแก้ไขให้มีความทันสมัยมากขึ้น ยังไม่เห็นพรรคไหนพูดถึงเรื่องนวัตกรรมทางการเกษตรที่ค้นหาพื้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ของแต่ละจังหวัด โดยไม่ยึดอยู่กับพืชเศรฐกิจ 4 ตัวหลักอย่าง ข้าว อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง” ประพัฒน์ กล่าวพร้อมเสริมว่า “ที่สำคัญควรมีการกระจายอำนวจการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรไปสู่ท้องถิ่น ไม่ใช่อยู่ที่ส่วนกลางอย่างเดียว เพื่อการเข้าถึงและเข้าใจอย่างแท้จริง”
ด้านอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เสนอว่า ควรมีกองทุนเพื่อการพัฒนาทักษะ สนับสนุนคนรุ่นใหม่แรงงานกลับบ้าน สำหรับการรองรับสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยให้ปักหลักได้ในท้องถิ่น เช่นเดียวกับเรื่องการผ่อนปรนหนี้สินเพื่อการเริ่มต้นใหม่
“การอุดหนุนระยะสั้นควรทำเพื่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตไปสู่โอกาสที่ยั่งยืน เช่น ถ้าคุณทำผักออแกนิคคุณจะได้รับการสนับสนุนแบบนี้ หรือมีระบบชลประทานที่เอื้อต่อเกษตรกร ส่งเสริมการผลิตที่หลากหลาย โดยลดพื้นที่อุตสาหรรมเชิงเดี่ยวลง”
ขณะที่สุเมธ ปานจำลอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เสริมว่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะมีการทำวิจัยในกลุ่มของสถานศึกษาและนักวิชาการ ซึ่งอาจไม่เข้าใจบริบทและเข้าถึงภูมิปัญญาชาวบ้านได้ทั้งหมด ควรเปิดให้ชาวบ้านหรือชุมชนได้เข้าถึงทุนในการศึกษาวิจัยของตัวเอง เพื่อเป็นความรู้ที่เกิดจากท้องถิ่นและเอามาใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด รวมถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหารในมิติของการสร้างอาหารให้พอเพียงกับครอบครัวและชุมชน และปกป้องพื้นที่อาหาร คือ การยกเลิกสารเคมีบางตัวที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม หรือการจัดการสร้างพันธุกรรมพื้นบ้าน หรือการจัดการน้ำที่ดีพอ
การปฏิรูปเชิงระบบด้วยการยกเลิกการปฏฺิวัติเขียว หรือการใช้สารเคมีที่มีมานานกว่า 60 ปี คือสิ่งที่ทัศนีย์ วีระกันต์ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน มองว่า เป็นระบบที่ถึงเวลาเกษียณได้แล้ว และควรส่งเสริมเกษตรเชิงนิเวศ พร้อมเปลี่ยนวิธีคิดจากวิถีเกษตรให้เป็นอาชีพเกษตร เช่นเดียวกับระบบผูกขาดของนายทุนที่กดเกษตรกร ควรมีนโยบายที่สร้างความเป็นธรรมในตัวราคาผลผลิต และการกระจายอำนาจ ระบบงบประมาณต้องปฏิรูป ไปสู่พี่น้องโดยตรงมากกว่า
ด้านวรดร เลิศรัตน์ จาก 101 PUB เผยว่า นโยบายเงินอุดหนุนเกษตรกรถือเป็นเรื่องใหญ่สุดแต่เมื่อมองลึกๆ แล้วกลับไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เป็นนโยบายขุดหลุมฝังเกษตรกรและประเทศ เพราะสร้างเงื่อนไขยึดโยงอยู่กับเกษตรแบบเดิมๆ ช่วยไม่ตรงจุด และไม่ยั่งยืนแต่กลับใช้งบเพิ่มขึ้นเพราะค่าครองชีพสูงขึ้น
“การเติมรายได้ผ่าน “สวัสดิการพลเมือง” น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่า เพราะเกษตรกรไม่ได้คนจนทุกคน และคนจนทุกคนไม่ได้เป็นเกษตร เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเหมาะสม ส่วนเกษตรกร อาจจูงใจให้ปรับตัวเติมทุน-จูงใจให้ปรับตัวผ่าน “เงินพลิกชีวิตเกษตรกร” ให้เงินสนับสนุนบางอย่างกับการปรับปรุงบางอย่าง เช่น การปรับปรุงคุณภาพ การเปลี่ยนอาชีพ การเกษียณอายุเกษตรกร”
วรดร กล่าวด้วยว่า การใช้ข้อมูลวิจัยเป็นฐานมากขึ้น ไม่ใช่แค่งานวิจัยของงานวิชาการ แต่รวมถึงภูมิปัญญาของชุมชน เช่น ที่ดิน ทุกวันนี้เวลากำหนดภาษีที่ดิน อัตราไม่สอดคล้องกับการกระจายที่ดินได้เลย และควรส่งเสริม ลงทุนหรืออุดหนุนให้เกษตรออกจากภาคเกษตรกรบางส่วน เพื่อรักษาราคาผลผลิตในอยู่ในระดับที่ดีไม่ล้นตลาดเกินไปจนราคาตก เมื่อประวัติศาสตร์ในประเทศเกษตรกรที่มีรายได้ดี ควบคู่กับรัฐต้องให้เกษตรกรขยับออกจากภาคเกษตรในระยะยาว ทำอย่างไรให้คนชนบทมีทางเลือกอื่นๆ ให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาภาคเกษตรไปด้วย
- 884 views