เตรียมตัว เตรียมใจอย่างไร เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ? เรียนรู้เรื่องใหม่ที่คนไทยต้องรู้ ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย
ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในสังคมไทย ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงสานพลังภาคีเครือข่าย จัดงานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม รับฟังทุกเสียงอย่างเท่าเทียม” ในวันที่ 21 – 23 ก.พ. 2566 ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี กรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายสื่อสารสังคมถึงนโยบายที่เกี่ยวข้อง เปิดพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการทำงานลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมความเป็นธรรมทางสุขภาพใน 10 กลุ่มประชากรกลุ่มเฉพาะ และทุกคนในสังคม
สังคมผู้สูงวัย เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่สังคมไทยต้องใส่ใจ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. เครือข่ายชมรมผู้สูงอายุ โดยสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ได้มีการพูดคุยในหัวข้อ: พลังเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุ มีการนำเสนอแนวคิดการพัฒนาชมรมผู้สูงอายุให้เข้มแข็งรองรับสังคมสูงวัย อีกทั้งให้ผู้ร่วมงานได้เข้าฐานแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาชมรมผู้สูงอายุ เพื่อนำไปใช้ในการขับเคลื่อนสร้างชมรมผู้สูงอายุให้เข้มแข็งต่อไป
นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีการเตรียมพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมายาวนาน พ.ศ.2525 องค์การสหประชาชาติเห็นความสำคัญว่า ผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นและเป็นเรื่องสำคัญของโลก จึงจัดประชุมสมัชชาโลกในเรื่องผู้สูงอายุขึ้นครั้งแรกในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย จากครั้งนั้นที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุม ก็เตรียมแผนเพื่อผู้สูงอายุในระยะยาวถึง 20 ปี หลังจากนั้นก็มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยวางแผนดำเนินการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ พ.ศ.2525 ภาครัฐมีกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่รับผิดชอบงานนี้ ส่วนในภาคประชาสังคมก็มีการร่วมประชุมสาธารณสุขมูลฐาน มีเรื่องสุขภาพดีถ้วนหน้า เตรียมการดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยหัวใจหลักคือ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในเรื่องผู้สูงอายุ รวมถึงส่งเสริมความเข้มแข็ง ผู้สูงอายุจึงต้องรวมตัวกัน ทำให้เกิดการก่อตั้งชมรมผู้สูงอายุทุกจังหวัดทั่วประเทศขึ้น จนจดทะเบียนเป็นสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย แต่ละจังหวัดมีเครือข่ายเพื่อที่จะให้ภาคประชาชนรวมเป็นกลุ่มก้อนเดียว นโยบายสำคัญที่ภาครัฐให้ความช่วยเหลือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายผู้สูงอายุที่ลำบากยากไร้ นอกจากนี้ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ยังกำหนดสิทธิผู้สูงอายุอื่น ๆ อีก เช่น สิทธิค่าลดหย่อนในการเดินทาง สิทธิการลดหย่อนการเข้าถึงสถานที่สาธารณะ สิทธิที่จะได้รับการศึกษา สิทธิทั้งหมดได้รับการรับรองทางกฎหมาย มีกลไกในการเพิ่มเติมสิทธิต่าง ๆ เข้ามา โดยเฉพาะการดูแลด้านสาธารณสุข อย่างระบบบัตรทองที่ครอบคลุมทั่วถึงเพื่อดูแลสุขภาพของคนไทย
"สิ่งที่ต้องผลักดันและสนับสนุน คือ การทำให้ระบบต่าง ๆ ที่มีอยู่เป็นระบบที่ทำงานได้ เพราะระบบปัจจุบันยังไม่ดีพอ เช่น สภาผู้สูงอายุฯ ที่ผลักดันให้เกิดชมรมผู้สูงอายุทั่วประเทศ แต่ชมรมเหล่านี้ต้องทำให้สามารถทำงานได้อย่างเข้มแข็ง องค์กรภาครัฐต้องต่อยอดตรงนี้ ต้องมีกลไกเข้าไปเสริม ส่วนโครงสร้างใหญ่ ๆ เรามีกองทุนผู้สูงอายุ แต่กลไกยังต้องทำความเข้มแข็งต่อไป ลำพังภาคประชาชนเป็นได้แค่ตัวกระตุ้น จุดประกายเท่านั้น ภาครัฐต้องดูแล ตัวผู้สูงอายุเอง กลไกของเราต้องทำให้ผู้สูงอายุสุขภาพดี ช่วยเหลือตัวเองได้ให้ยาวนานที่สุด เป็นภาระของคนอื่นน้อยที่สุด" นพ.วิชัย ย้ำ
เมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย จึงจำเป็นต้องมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาช่วยดูแล ภายในงานนี้จึงมีการพูดคุยถึงเรื่องใหม่ที่คนไทยต้องรู้...ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย โดยภาคีเครือข่ายธนาคารเวลา สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ซึ่งนวัตกรรมธนาคารเวลามีต้นแบบมาจากต่างประเทศ มุ่งเน้นทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน เป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน สมาชิกของธนาคารเวลาจะเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับความช่วยเหลือ นำทักษะความรู้ ความชำนาญ มาช่วยเหลือกัน ค่าตอบแทนที่ได้รับ คือ เวลา นำไปฝากและเบิกถอนได้ในบัญชีส่วนบุคคล การฝากหรือถอนจะดำเนินการภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของสมาชิก
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายว่า เนื่องด้วยสังคมสูงวัยเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีธนาคารเวลาเป็นหนึ่งในเครื่องมือรองรับสังคมสูงวัย ช่วยส่งเสริมให้คนดูแลซึ่งกันและกัน เป็นการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียม ซึ่งจะมีผู้จัดการธนาคารเวลามาเป็นผู้จับคู่ ผู้ให้ กับ ผู้รับ ให้ตรงกัน สสส.มีเจตนารมณ์ในการพัฒนานวัตกรรมระบบ กลไกต่าง ๆ เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัยนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ และสร้างความเท่าเทียมในสังคมได้
"ในระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่า เมืองไทยใช้ได้ดีในบริบทสังคมเมืองที่คนไม่ค่อยรู้จักกัน โดยได้เริ่มทำจากกลุ่มสมาชิกในกลุ่มธนาคารเวลา ผู้ที่เป็นสมาชิกสามารถแลกเวลากับทักษะต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม ฝึกการเป็นผู้ให้และผู้รับ เราอาจจะเคยแข็งแรง แต่วันหนึ่งเมื่อเราเจ็บป่วยหรือมีอายุเพิ่มขึ้น ก็ไม่อยากขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ธนาคารเวลาจึงมาตอบเรื่องนี้ไม่ว่า เราจะจบการศึกษาระดับไหน ทำอาชีพอะไร ก็จะมีทักษะส่วนบุคคล ไม่ว่าคุณจะเป็นหมอ วิศวะ หรือคนสวน คุณก็สามารถแลกกันได้ เป็นการรองรับสังคมสูงวัยที่ต้องมีอย่างอื่นนอกเหนือจากเงิน ธนาคารเวลาจะช่วยเรื่องบริการด้านสังคมได้ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการทดลองใช้ธนาคารเวลา มีทั้งเรื่องเศรษฐกิจ จิตใจ ความสัมพันธ์ของคนในสังคม อย่างในหมู่บ้าน เราไปทำขนมให้เขา เขามาทาสีบ้านให้เรา ก็เป็นเศรษฐกิจชุมชนรูปแบบหนึ่ง หากสนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก ธนาคารเวลา" นางภรณี กล่าว
นางภรณี ย้ำด้วยว่า สำหรับการรองรับสังคมผู้สูงอายุ คิดว่า ประเทศไทยยังต้องมีนวัตกรรมทางสังคมพวกนี้เข้ามาช่วยเสริม ระบบในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ยากจน หรือพื้นที่มีข้อจำกัด ควรมีนวัตกรรมรูปแบบอื่นเพิ่มเข้ามาให้คนในสังคมได้เลือกใช้
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 532 views