อปสข. เขต 13 กทม. สปสช. จับมือ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ขับเคลื่อนระบบริการสาธารณสุขในกรุงเทพฯ หนุน ศบส. เพิ่มศักยภาพเป็นผู้จัดการระบบสุขภาพในเขตพื้นที่ ดูแลสุขภาพประชาชน เตรียมรุกจัดบริการนำร่องดูแล 3 กลุ่มประชากร ‘เด็กมีปัญหาสายตา-ผู้สูงอายุ-ประชากรแฝง’
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ เขต 13 กรุงเทพมหานคร (อปสข. เขต 13 กทม.) และ ผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมประชุมหารือผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อร่วมขับเคลื่อนระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม. โดยมีประเด็นสำคัญ คือ การยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) 69 แห่ง ให้เป็นผู้จัดการพื้นที่ในการดูแลสุขภาพประชาชน เริ่มนำร่องบริการประชากรเฉพาะกลุ่ม ได้แก่
1. เด็กนักเรียนที่มีปัญหาทางสายตาให้ได้รับแว่นตาครบทุกโรงเรียน เป้าหมาย 2 หมื่นคน 2. ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง (Long Term Care: LTC) เป้าหมาย 2 หมื่นคน และ 3. ประชาชนต่างจังหวัดที่มาทำงานและอาศัยใน กทม. จำนวนประมาณ 7 แสนคน ให้มีสถานพยาบาลประจำอยู่ใน กทม. ใกล้ที่พักอาศัยในปัจจุบัน เพื่อได้รับการดูแลในระบบสุขภาพ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กทม. กล่าวว่า การเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข เป็น 1 ใน 2 มิติความเหลื่อมล้ำใน กทม. และต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน ซึ่งจากนโยบายของ กทม. ที่มุ่งขับเคลื่อนในระดับชุมชน จึงได้เน้นไปที่บริการระดับปฐมภูมิ ทั้งการส่งเสริมป้องกันและการดูแลรักษา เพื่อให้เกิดการเข้าถึง โดยหน้าที่ของ กทม. เอง จะต้องกระจายระบบสาธารณสุขลงไปสู่ชุมชนให้ได้มากที่สุด ใช้กลไก ศบส. ทั้ง 69 แห่ง ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการพื้นที่ในการดูแลสุขภาพประชาชน (Efficient Area) บริหารทรัพยากรในพื้นที่ โดยบูรณาการทำงานกับหน่วยงาน และภาคีเครือข่ายต่างๆ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. (อสส.) คลินิกชุมชนอบอุ่น ฯลฯ รวมถึงเชื่อมต่อไปยังโรงพยาบาลแม่ข่าย เพื่อให้เกิดภาพรวมของระบบสุขภาพที่สมบูรณ์
“ความร่วมมือวันนี้เ ป็นเรื่องสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนความเหลื่อมล้ำใน กทม. เพราะถ้าเราดูแลสุขภาพได้ดี มีโรงเรียนที่ดี สุดท้ายแล้วประชาชนก็จะพัฒนาตัวเอง มีรายได้ มีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธาน อปสข. เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ อปสข. ปี 2566-2567 เน้น 3 เรื่องหลัก คือ พัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ และงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ระบบบริการทุติยภูมิ-ตติยภูมิ และการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบาง เชื่อมโยงและสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วันนี้คณะอนุกรรมการฯ จึงมีข้อเสนอต่อผู้ว่าฯ กทม. ในประเด็นสำคัญคือ การทำให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นผู้จัดการพื้นที่ ให้สามารถดูแลสุขภาพประชากรในพื้นที่รับผิดชอบอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มต้นจากประชากรเฉพาะกลุ่มก่อน ได้แก่
1. เด็กนักเรียนที่มีปัญหาทางสายตาให้ได้รับแว่นตาครบทุกโรงเรียน เป้าหมาย 20,000 คน 2. ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ได้รับการดูแล ( LTC: Long Term care) เป้าหมาย 20,000 คน และ ผู้ป่วยระยะกลาง (IMC: Intermediate care) เป้าหมาย 10,000 คน 3. ประชาชนต่างจังหวัดที่มาทำงานและอาศัยใน กทม. จำนวน 700,000 คน มีสถานพยาบาลประจำอยู่ใน กทม. เพื่อให้ได้รับบริการสาธารณสุขที่สถานพยาบาลใกล้ที่พักอาศัยในปัจจุบัน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ความร่วมมมือวันนี้ จะเป็นการสนับสนุนให้ ศบส. เป็นจุดยุทธศาสตร์ และมีศักยภาพในการดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยศักยภาพและความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน โดยกรณีประชากรแฝง ที่ประชุมเน้นย้ำ ต้องมีการจัดบริการให้เพียงพอกับจำนวนคนที่เข้ามา โดย สปสช.จะร่วมกับ กทม. เพิ่มหน่วยบริการเข้ามารองรับมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านยา ศูนย์กายภาพบำบัด คลินิกชุมชนอบอุ่น หรือคลินิกที่เปิดเพียง 3-4 ชั่วโมง หากรวมหน่วยบริการทั้งหมดใน กทม. ขณะนี้จะมีกว่า 900 แห่ง นอกจากนี้ สปสช.จะนำคนที่จำเป็นจะต้องขึ้นทะเบียนใน กทม. มาขึ้นทะเบียนให้ครบทุกคน ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรของ กทม. อย่างเต็มที่
“ท่านผู้ว่าฯ กทม. ก็ยืนยันว่าพร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่กับข้อเสนอที่ได้ตกลงร่วมกัน และ สปสช. ก็จะสนับสนุนกลไกอย่างเต็มที่เช่นกัน ซึ่งในที่ประชุมเราตกลงกันว่าอีกประมาณ 6 เดือนจะมาดูกันอีกครั้งว่าผลลัพธ์จากการประชุมในครั้งนี้จะเป็นอย่างไร” นพ.จเด็จ กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
- 119 views