สธ. ออกประกาศ “หลักเกณฑ์การปฏิบัติงาน และรายงานผลงาน อสม.” ฉบับใหม่  เบิกจ่ายค่าป่วยการไม่ต้องผ่าน รพ.สต. ให้เริ่มที่ สสอ.ได้เลย ชี้ช่วยลดขั้นตอน สามารถเบิกจ่ายค่าป่วยการ ให้กับอสม. ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  และขณะนี้ค่าป่วยการอยู่ที่  1000 บาท/เดือน ส่วนข้อเสนอ 2000 บาท อยู่ระหว่างเสนอ ครม.เห็นชอบ  

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ห้องประชมุชัยนาท นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ประชุมชี้แจง “หลักเกณฑ์การปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และการรายงานผลการปฏิบัติงานตามแบบ (อสม. 1) พ.ศ. 2566”  

นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านกลาง ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบประกาศคณะกรรมการสนับสนุนและส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านกลาง เรื่อง “หลักเกณฑ์การปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และการรายงานผลการปฏิบัติงานตามแบบ (อสม. 1) พ.ศ. 2566” โดยกำหนดให้ อสม. จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ร่วมจัดทำระบบการยืนยันผลงาน อสม. ผ่านระบบ e – Social welfare ให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด 

โดย อสม.จะต้องรายงานผลการปฏิบัติงานเป็นประจำทุกเดือนใน 9 ภารกิจหลัก ประกอบด้วย 

1. การส่งเสริมสุขภาพ 2. การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค 3. การฟื้นฟูสุขภาพ 4. การคุ้มครองผู้บริโภค 5. การจัดการสุขภาพชุมชนและการมีส่วนร่วมในแผนสุขภาพตำบล 6. การสนับสนุนอาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.) 7. การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล/การบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ 8. การเข้าร่วมกับทีมหมอครอบครัวในการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยและครอบครัวในชุมชน 9. กิจกรรมอื่นๆ ตามสภาพปัญหาของชุมชน ซึ่งการนำระบบ e-Social welfare เข้ามาใช้ในการรับรองผลการปฏิบัติงานของ อสม. เป็นการอำนวยความสะดวกการปฏิบัติงานและการรายงานผล

ทำให้การเบิกจ่ายค่าป่วยการมีความคล่องตัว โปร่งใส อีกทั้งยังช่วยเชื่อมประสานการทำงานกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และจะส่งผลต่อการพัฒนาระบบ อสม. ให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นพี่เลี้ยง ส่งเสริม สนับสนุน อสม. ด้านวิชาการ ให้มีความรู้ มีศักยภาพ พร้อมที่จะเป็นหมอคนที่ 1 ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ดูแลสุขภาพของประชาชนต่อไป
 

ด้าน นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กล่าวว่า แนวทางการรับรองผลงานของ อสม. จะแยกออกเป็น 2  กระบวนการ คือ ส่วนที่ 1 กระบวนการทำงานของ อสม. ซึ่งจะยังคงปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ในสถานบริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เช่นเดิม และส่วนที่ 2 กระบวนการรับรองผลการปฏิบัติงานเพื่อเบิกจ่ายเงินค่าป่วยการ ซึ่งเป็นกระบวนการตรวจสอบ ควบคุม กำกับการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน โดยให้ประธาน อสม. ระดับหมู่บ้าน/ชุมชน รับรองรายงาน อสม. 1 ส่งให้กับประธาน อสม. ระดับตำบล รวบรวมส่งสำนักงานสาธารณสุขอำเภอตรวจสอบและยืนยันผลงาน จากนั้นส่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรวจสอบและยืนยันผลงานและส่งให้กรมฯ เพื่อรวบรวมตรวจสอบและยืนยันผลงานในภาพรวม ก่อนส่งให้กับกรมบัญชีกลาง ผ่านระบบ e – Social welfare  

ซึ่งปัจจุบันเรามี อสม.ที่ได้รับค่าป่วยการ จำนวนทั้งสิ้น 1,039,723 คน เดิมที เราให้ รพ.สต. รับรอง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มันยาวเกินไป เราจึงลดขั้นตอนเป็นให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) รับรอง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน และสามารถเบิกจ่ายค่าป่วยการ ให้กับอสม. ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

สำหรับเงินค่าป่วยการ อสม. ตอนนี้ได้ 1000 บาท/เดือน ช่วงโควิดเราขอเพิ่มให้ 500 บาท/เดือน เพราะมีภาระงานเพิ่มขึ้นในส่วนของโควิด ซึ่งเป็นงบกลางที่ได้ให้เฉพาะช่วงโควิด หลังจากเปลี่ยนโรคโควิดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ภาระงานก็น้อยลงไป ตอนนี้ปีงบประมาณ 2566 ก็ได้ที่ 1000 บาท/เดือน ส่วนเรื่องการขอ 2000 บาท/เดือน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารกำลังเสนอปลัด สธ. เพื่อเสนอ รมว.สธ.ลงนามใน ครม. เพื่อให้ ครม.เห็นชอบก่อน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการงบประมาณได้ในช่วงที่เปิดสภา

สำหรับงาน 9 ด้านที่เป็นงานเดิมต้องรายงาน ปัจจุบันอสม.ได้รับมอบหมายงานใหม่ ทั้งในเรื่องของ 3 หมอ เรื่องยาเสพติด และเรื่องคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งเรื่องคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ ที่มีผู้สูงอายุถึง 12 ล้านคน ที่ต้องคัดกรองภาวะถดถอย 9 ด้าน ซึ่ง อสม.1 จะไม่มีในเรื่องการรายงาน แต่เป็นผลงานของ อสม.ที่เราเก็บไว้ เพราะภาระงานค่อนข้างเยอะ ส่วนเรื่องยาเสพติดรัฐบาลมองว่า อสม.น่าจะเป็นกลุ่มบุคคลและทีมงานระดับพื้นที่ ที่สามารถจะรู้ความเคลื่อนไหวผู้เสพผู้ติดยาเสพติดที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัด 

"ในส่วนของฌาปนกิจสงเคราะห์ อสม. (ฌกส.อสม.) ตอนนี้เรามีองค์กรดูแลอยู่ ซึ่งดูแลทั้งอสม.และคู่สมรส ล่าสุด ตอนเกิดเหตุที่หนองบัวลำภู มีประธาน อสม.เสียชีวิตได้ 5 แสนบาท เกือบเท่าข้าราชการ ซึ่งเรามี อสม. 1.03 ล้านคนรวมคู่สมรส เก็บไม่เกินคนละ 50 สตางค์ เพื่อมอบให้ อสม.ที่เสียชีวิต ขณะนี้มี อสม.เข้าร่วม ฌกส.แล้ว 90 %"  นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ กล่าว