เลขาธิการสปสช.ยืนยันให้สิทธิหญิงท้องไม่พร้อมยุติตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ไม่ต้องกังวลปัญหาเบิกจ่าย มีรพ.สังกัด สธ. และเอกชนให้บริการ หากแห่งใดไม่พร้อมบริการก็สามารถโทรแจ้งสายด่วน 1330 ดำเนินการช่วยเหลือทันที ส่วนเรื่องงบประมาณเบิกจ่ายทุกสิทธิ ไม่กระทบประชาชน ขั้นตอนการเบิกจ่าย สปสช.จะเป็นผู้บริหารจัดการ

ตามที่กลุ่มทำทาง พร้อมผู้หญิงที่เคยทำแท้ง  เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นหนังสือถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้เร่งรัดการดำเนินการให้หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติตามพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28 ) พ.ศ. 2564 และขอให้ลงนามเรื่องงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในการยุติตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  ให้สัมภาษณ์ว่า สปสช.ได้บรรจุการบริการป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย  ให้เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นการดูแลความปลอดภัยกับหญิงไทยทุกอายุ ที่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์จากภาวะการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม  โดยการขอรับหรือการให้บริการยุติการตั้งครรภ์นั้น เป็นไปตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่แก้ไขตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 28) พ.ศ.2564 และข้อบังคับแพทยสภา บริการป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยหรือบริการยุติการตั้งครรภ์สำหรับหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมนั้น ครอบคลุมการให้บริการทั้งวิธีการใช้ยาหรือวิธีการทางศัลยกรรม  โดยมีหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีศักยภาพในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยาซึ่งลงทะเบียนกับกรมอนามัย

 “สตรีที่เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายสามารถไปรับบริการได้ตามหน่วยบริการที่มีศักยภาพในการให้บริการได้ ซึ่งปัจจุบันหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมี 70 แห่ง และภาคเอกชนมีอีก 14 แห่ง ปัญหาคือ หน่วยบริการบางแห่ง อาจไม่มั่นใจในการให้บริการดังกล่าวก็สามารถส่งต่อไปยังหน่วยบริการสังกัด สธ.ได้ หรือโทรสายด่วนสปสช. 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เรายินดีให้บริการช่วยเหลือ” เลขาธิการ สปสช.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สปสช.จัดสรรงบประมาณส่วนใดในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยแก่โรงพยาบาลต่างๆ นพ.จเด็จ กล่าวว่า มี 2 ส่วน ทั้งงบประมาณส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค หรืองบ PP และอีกงบเป็นงบประมาณบริการผู้ป่วยใน   อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ไม่ต้องกังวลเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำกฎหมายเพื่อให้มั่นใจในการดำเนินการเบิกจ่ายทุกสิทธิการรักษา แต่ในส่วนของประชาชน หรือสตรีที่ตรงตามเงื่อนไขยุติการตั้งครรภ์สามารถรับบริการได้ทุกสิทธิ ไม่มีผลกระทบ ขณะที่เรื่องการเบิกจ่าย ทางสปสช.จะดำเนินการบริหารจัดการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ

 “ยืนยันว่า จะให้ความดูแลดีที่สุด ปัญหาของการยุติการตั้งครรภ์มาจากหน่วยบริการบางแห่งไม่พร้อม แต่เราเข้าใจปัญหาตรงนี้ ดังนั้น  หากไม่ได้รับบริการหรือมีปัญหาให้โทรสายด่วนสปสช.  1330 ตลอด 24 ชั่วโมงหรือโรงพยาบาลสามารถโทรมาสอบถามทางสปสช.ได้” นพ.จเด็จ กล่าว

  

ข่าวเกี่ยวข้อง :  เอ็นจีโอบุก สธ.  ไล่ “อนุทิน” ตัดงบฯส่งเสริมสุขภาพ ละเมิดสิทธิผู้หญิงท้องไม่พร้อม ต้องทำแท้งผิดวิธี!

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org