คณะแพทยศาสตร์ศิริราชเปิดตัว 2 นวัตกรรมสุดล้ำ! พัฒนาการวินิจฉัยเอกซเรย์ด้วย AI และรักษาโรคสั่นที่ไม่ทราบสาเหตุด้วย MRI และอัลตราซาวด์
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่โรงพยาบาลศิริราช ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล แถลงข่าว ศิริราชเปิดตัว 2 นวัตกรรมสุดล้ำ พัฒนาการวินิจฉัยเอ็กซเรย์ด้วย AI และรักษาโรคสั่นที่ไม่ทราบสาเหตุด้วย MRI และอัลตราซาวด์ ว่า คณะฯ ได้สร้างนวัตกรรมต้นแบบ Smart Hospital รู้และเข้าใจการใช้เทคโนโลยี มีการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้มั่นใจว่า คนไข้ได้รับการดูแลที่ดี ไม่ติดขัด เกิดความคุ้มค่าสูงสุด ตั้งแต่การเป็นศูนย์กลางให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทางที่ทันสมัยครบวงจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจรักษาดูแลผู้ป่วย นอกจากจะยกระดับการบริการด้านสาธารณสุขการรักษาให้กับคนไทยแล้ว ยังสามารถต่อยอดการพัฒนาความรู้ทางการแพทย์ใหม่ ๆ หรือการศึกษาเพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ซึ่งเราเองก็ได้มีการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการแพทย์อยู่ตลอดเวลา
ศ. คลินิก พญ.อัญชลี ชูโรจน์ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา กล่าวว่า ภาควิชารังสีวิทยา มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาพันธกิจด้านการบริการทางการแพทย์ด้านการตรวจวินิจฉัยและการรักษาพยาบาลทางรังสีวิทยาที่มีคุณภาพในระดับสากล โดยจัดหาเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีชั้นนำ ตลอดจนเทคนิคการตรวจและรักษาใหม่ ๆ ที่นำมาใช้ในการตรวจวินิจฉัยและรักษา ในด้านการวินิจฉัย ทางภาควิชาได้นำเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยพัฒนาในการแปลผลภาพการตรวจทางรังสี เพื่อเพิ่มความรวดเร็วและถูกต้องในการวินิจฉัย ในด้านการช่วยรักษาโรค โดยเฉพาะโรคทางสมองบางชนิดที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ก็มีการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงไปทำลายส่วนที่ผิดปกติเฉพาะที่โดยอาศัยการนำทางจากเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ เอ็มอาร์ไอ ได้ด้วยความแม่นยำ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
รศ. นพ.ตรงธรรม ทองดี ภาควิชารังสีวิทยา กล่าวว่า คณะฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด ในการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ AI เพื่อการอ่านผลภาพทางการแพทย์และสร้างรายงานทางการแพทย์เพื่อใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ทรวงอก Chest X-ray เกิดความร่วมมือด้านวิจัยพัฒนา สร้างองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างบุคลากรของทั้งสองฝ่ายในด้านการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำตามหลักวิชาและมาตรฐานทางการแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มทดลองใช้ระบบ AI นำร่องที่ภาพเอกซเรย์ทรวงอก พบว่า ผลภาพสามารถช่วยรังสีแพทย์ในการวินิจฉัยได้แม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น มีประสิทธิผลในการรายงานผลการวินิจฉัยน้อยกว่า 10 วินาที มีเวลาพิจารณาภาพรังสีได้มากขึ้น ไม่ต่ำกว่า 800 รายต่อวัน และการรายงานผลภาพเอกซเรย์ก็จะมีความถูกต้องแม่นยำ นอกจากนั้น AI ยังสามารถช่วยบ่งชี้รอยโรคโดยอ้างอิงจากข้อมูลภาพถ่ายรังสีเพียงอย่างเดียวได้ 8 สภาวะ ดังนี้
1. เพิ่มและตัดสภาวะให้สอดคล้องกับการทำงานของรังสีแพทย์มากขึ้น
2. พัฒนาและปรับปรุงอัลกอริทึมเพื่อให้มีความแม่นยำและความไวที่สูงขึ้นในรอยโรคที่สำคัญ
3. เพิ่มจำนวนภาพของการสอนโมเดลเพื่อให้โมเดลมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นและสามารถครอบคลุมสภาวะที่มากขึ้น
4. พัฒนาระบบมาเพื่อทำให้การทำงานของแพทย์รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การสร้างรายงานผลของแพทย์
5. การวิจัยและตีพิมพ์รายงานเชิงวิชาการที่สอดคล้องกับประโยชน์ของการใช้ผลิตภัณฑ์
6. การเสนอขออนุมัติองค์การอาหารและยาขององค์กรในต่างประเทศเพื่อส่งออกเทคโนโลยีในประเทศเพื่อนบ้าน
7. การพัฒนาระบบให้สามารถใช้งานในโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้โดยยังคงประสิทธิภาพการทำงานของระบบ (generalizability)
8. การพัฒนาระบบเพื่อให้รองรับการทำงานทั้งในและต่างประเทศ
ปัจจุบัน คณะฯ ได้นำการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ AI เพื่อการอ่านผลภาพทางการแพทย์และสร้างรายงานทางการแพทย์เพื่อใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ทรวงอก Chest X-ray ขยายผลในการให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก รวมทั้งโรงพยาบาลอื่น ๆ ในราคาถูกกว่า ช่วยลดงบประมาณค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลในประเทศไทย เมื่อเทียบกับการซื้อโปรแกรม AI มาจากต่างประเทศ และในอนาคตมีแผนจะดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างปัญญาประดิษฐ์ฯ สำหรับใช้ในโรงพยาบาล นำไปสู่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อไป
นอกจากนี้ อีกหนึ่งความก้าวหน้าของนวัตกรรมทางการแพทย์ทางรังสีวิทยา คณะฯ ยังได้นำเทคโนโลยีการรักษาโรคสั่นด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงร่วมกับการถ่ายภาพเทคโนโลยี MRI guided Focused Ultrasound (MRgFUS) มาช่วยพัฒนาศักยภาพในการรักษาโรคทางด้าน Essential Tremor โดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาพักฟื้นของคนไข้ได้อย่างมาก โดยโรงพยาบาลศิริราชจะเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยและแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่มีเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยี MRgFUS ที่สามารถรักษาผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติของสมองในการสั่งการเคลื่อนไหวร่างกายได้
อ. พญ.ยุวดี พิทักษ์ปฐพี สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ กล่าวถึงอาการโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุเรียกว่า Essential tremor หรือ ET ว่าผู้ป่วยมักจะมีอาการสั่นที่มือหรือแขนทั้งสองข้าง หรืออาจพบอาการสั่นที่ตำแหน่งอื่นร่วมด้วยได้เช่น ศีรษะ เสียงหรือ ขาทั้งสองข้าง โดยอาการสั่นมักจะเป็นขณะใช้งานเช่น หยิบจับสิ่งของ ตักอาหาร เขียนหนังสือ ในผู้ป่วยบางรายนั้นหากอาการสั่นรุนแรง อาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำกิจกรรมต่างๆ สาเหตุของการเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือส่วนหนึ่งของผู้ป่วย อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งการรักษาหลักของโรคนี้แบ่งออกเป็น คือ การรักษาด้วยยา การผ่าตัดสมองส่วน Thalamus (Thalamotomy) และการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation, DBS) ทั้งนี้ การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดนั้น จะเป็นการรักษาแบบ invasive ดังนั้นเครื่อง MRgFUS จึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรค ET ที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยารับประทาน
รศ. นพ.ฑิตพงษ์ ส่งแสง สาขาวิชารังสีวินิจฉัย ภาควิชารังสีวิทยา กล่าวว่า เราค้นคว้าและศึกษาเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า MR guided Focused Ultrasound (MRgFUS) เพื่อมาช่วยพัฒนาศักยภาพในการรักษาโรคให้กับผู้ป่วยในประเทศไทย ซึ่งเครื่อง MRgFUS (Exablate) นี้จะสามารถรักษาโรคทางด้าน Essential Tremor , Tremor Dominant Parkinson’s Disease ทางเลือกใหม่แทนการผ่าตัดหรือการฉายรังสี ซึ่งเทคนิคหนึ่งของ Focused Ultrasound ที่นำมาใช้ร่วมกับเครื่อง MRI (MRgFUS) เทคนิคนี้ เป็นเทคนิคที่ได้รับความสนใจและเป็นที่ยอมรับจากประเทศชั้นนำทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลี และอื่นๆ ทำให้แพทย์สามารถระบุตำแหน่งที่ต้องการการรักษาได้อย่างแม่นยำ
สำหรับกลไกของการใช้เทคโนโลยี MR guided Focused Ultrasound (MRgFUS) นี้ โดยการยิงคลื่นเสียงความถี่สูงอัลตราซาวน์ โดยการรวมจุดไปถี่โครงสร้างสมองตำแหน่งเดียว เพื่อลดอาการสั่นในผู้ป่วย โดยหลักการจากภาพ เราสามารถมองเห็นตำแหน่งที่ต้องการยิงคลื่นเสียงไปยังสมองได้อย่างชัดเจน แม่นยำ ในขนาดไม่เกิน 4 – 5 มิลลิเมตร ซึ่งแพทย์สามารถควบคุมทิศทางได้อย่างชัดเจน ลดอัตราความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ได้ นอกจากนี้ แพทย์ยังสามารถติดตามระดับของอุณหภูมิในตำแหน่งที่ทำการรักษาได้แบบ real time จากเครื่อง MRI ข้อดีของการรักษา คือ ช่วยลดระยะเวลาพักฟื้นของคนไข้เร็วขึ้น ประมาณ 1 – 2 วัน คนไข้ก็สามารถกลับบ้านได้ ผลการรักษาเห็นได้ชัดเจน อาการสั่นดีขึ้น 70 – 80 % ทำให้คนไข้สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติ
รศ. ดร. นพ.ศรัณย์ นันทอารี ภาควิชาศัลยศาตร์ กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้เริ่มใช้เทคโนโลยีนี้รักษาผู้ป่วยรายแรกเมื่อวันที่ 28 มกราคม หลังจากการรักษาผู้ป่วยเคสแรกสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เกิดการระบาดของโรค COVID-19 ขึ้น ทำให้ไม่สามารถดำเนินการโครงการต่อไปได้ โครงการจึงหยุดชะงักไปเป็นเวลากว่า 2 ปี จนกระทั่งเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เริ่มคลี่คลายลง โครงการจึงเริ่มดำเนินการต่ออีกครั้ง โดยความร่วมมือของแพทย์และทีมงานผู้เกี่ยวข้อง จึงมีการเริ่มกลับมาทบทวนการทำงานของเครื่องทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และเริ่มรักษาผู้ป่วยรายต่อๆไป จนปัจจุบันเรามีคนไข้ที่รักษาโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุนี้ จำนวนทั้งสิ้น 6 ราย ซึ่งวันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้พูดคุยกับผู้ป่วยรายแรก ที่เริ่มต้นรักษาด้วยเครื่อง MRI – HIFU นี้
จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี พร้อมด้วยศักยภาพของทีมรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ส่งผลให้การดูแลรักษาผู้ป่วยประสบผลสำเร็จ คณะฯ จึงมีความยินดีที่จะช่วยประชาชนชาวไทยทุกคนให้เข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยี การรักษาโรคสั่นด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงร่วมกับการถ่ายภาพเทคโนโลยี MRI guided Focused Ultrasound (MRgFUS) และระบบปัญญาประดิษฐ์ AI เพื่อการอ่านผลภาพทางการแพทย์และสร้างรายงานทางการแพทย์เพื่อใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ทรวงอก Chest X-ray เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- 1171 views