อธิบดีกรมสุขภาพจิต หารือร่วมสำนักงาน ก.พ. ปมตรวจสุขภาพจิตก่อนเป็นข้าราชการ ยันไม่ได้เลือกปฏิบัติ แต่ทำการตรวจคล้ายตรวจสุขภาพร่างกายทั่วไป   เพื่อพิจารณาว่ามีความสามารถ (Able) ที่จะทำได้ในตำแหน่งงานนั้นๆ หรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อผ่าน ครม.จะออกคู่มือรายละเอียดการตรวจที่ชัดเจน

 

เมื่อวันที่ 29 ม.ค. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีกฎตรวจสุขภาพจิตก่อนเข้ารับราชการ ว่า เรื่องนี้มีการหารือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมสุขภาพจิตและสำนักงาน ก.พ ไปเมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องนี้มีทางออก โดยสำนักงาน ก.พ. จะเสนอกลับไปที่ ครม.อีกครั้งหนึ่ง ยังยืนอยู่บนหลักการที่คล้ายเดิม แต่มีความเข้าอกเข้าใจสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ซึ่ง ก.พ.ย้ำว่าไม่ได้ต้องการจะสร้างการเลือกปฏิบัติ (Discriminate) ใคร เพียงแต่อยากจะให้ทุกคนคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนทุกคนให้มากที่สุด และเปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่บางทีก็ต้องมีหลักการในระดับหนึ่ง ตอนนี้ก็เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เมื่อผ่านเข้า ครม.ก็จะมีรายละเอียด คลอดออกมาอีกครั้ง

 

"ยืนยันว่ายังต้องมีการตรวจทางด้านสุขภาพจิตก่อนเข้ารับราชการ เหมือนการสุขภาพร่างกายทั่วไป เพื่อที่จะดูว่าคนๆ นั้นมีความสามารถ (Able) ที่จะทำได้ในตำแหน่งงานนั้นๆ หรือไม่ โดยหลังจากผ่าน ครม. แล้วจะมีการออกคู่มือรายละเอียดในการตรวจออกมาว่า จะต้องมีรายละเอียดในการตรวจอย่างไร ซึ่งทางแพทย์ที่ดูแลจะวางไว้เป็นบรรทัดฐาน" พญ.อัมพร กล่าว

 

เมื่อถามว่าจะไม่ได้เป็นการกีดกันผู้ที่เคยตรวจพบว่ามีปัญหาสุขภาพจิตหรือเป็นโรคจิตเวชใช่หรือไม่ พญ.อัมพรกล่าวว่า ใช้คำว่ากีดกันคงไม่ใช่ แต่จะต้องทำให้ภาคราชการได้บุคคลที่มีความเหมาะสมและเกิดคุณภาพสูงสุดในการปฏิบัติหน้าที่ การจะเลือกบุคคลคนหนึ่งไปทำหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่ง ซึ่งแต่ละหน้าที่ก็จะมีลักษณะงานที่ต้องปฏิบัติหรือต้องการคุณสมบัติที่มีความแตกต่างกัน ก็ต้องเลือกบุคคลที่สามารถปฏิบัติหน้าที่นั้นๆ ได้ หากเทียบกับสุขภาพร่างกาย เช่น งานที่ต้องใช้สายตาสังเกตตรวจจับ จะบอกว่าไปกีดกันบุคคลพิการทางสายตาไม่ให้ทำงานก็คงไม่ถูก เนื่องจากจะทำหน้าที่ในการมองได้อย่างไร หรือหากคนที่ไปทำงานตอบสายด่วน ผู้ที่พิการนั่งรถเข็นก็ทำงานนี้ได้ จึงต้องดูว่าฟังก์ชันเขาตอบโจทย์กับงานที่เขาทำหรือไม่ ด้านสุขภาพจิตก็เช่นกัน ซึ่งรายละเอียดจะออกมาอีกครั้ง

 

ถามว่ากังวลหรือไม่ว่าจะทำให้ประชาชนไม่กล้าเข้าไปพบจิตแพทย์ พญ.อัมพรกล่าวว่า ไม่เลย หากประชาชนเข้าใจหลักการนี้ การไปพบจิตแพทย์ไม่ได้มีข้อเสียอะไร และถ้าหากตรวจพบอะไรที่จะเป็นภัยหรืออันตรายต่อตัวเขา เราจะช่วยแก้ไขให้ เราไม่ได้ตรวจเพื่อลิดรอนสิทธิ์ของใคร