10 ปีหลังจาก ชินยะ ยามานะกะ นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเกียวโตของญี่ปุ่นคว้ารางวัลโนเบลจากการค้นพบส่วนผสมของโปรตีนที่สามารถเปลี่ยนสภาพของเซลล์ที่โตเต็มวัยเป็นสเต็มเซลล์ ทีมนักวิจัย 2 ทีมได้ทำการทดลองต่อยอดภายใต้สมมติฐานว่าโปรตีนนั้นสามารถย้อนเวลาของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด และวันหนึ่งอาจถึงคิวของมนุษย์บ้าง โดยงานวิจัยของทั้งสองทีมเพิ่งเผยแพร่ในเดือนนี้ (มกราคม)
ทีมหนึ่งคือ Rejuvenate Bio ได้ฉีดโปรตีน 3 ชนิดที่เรียกว่า ปัจจัยยามานะกะเข้าไปในตัวหนูแก่และพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วหนูที่ได้รับโปรตีนดังกล่าวมีอายุยืนขึ้น 18 สัปดาห์ ขณะที่หนูในกลุ่มควบคุมมีอายุยืดออกไปอีก 9 สัปดาห์ โดยผลการวิจัยนี้เพิ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ bioRxiv
อีกทีมหนึ่งซึ่งนำโดย เดวิด ซินแคลร์ จากโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด ใช้วิธีคล้ายกันเพื่อย้อนการเปลี่ยแปลงที่บ่งบอกถึงความชราในหนูตี โดยผลงานของทีมตีพิมพ์ในวารสาร Cell
ผลปรากฏว่า หนูที่ชราและตามองไม่เห็นสามารถกลับมามองเห็นอีกครั้ง มีสมองที่ฉลาดขึ้นและอายุน้อยลง ทั้งยังสร้างกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อไตที่มีสุขภาพดี และในทางกลับกัน หนูที่อายุน้อยจะแก่ก่อนวัยอันควร ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเนื้อเยื่อในร่างกายของพวกมันเกือบจะทุกส่วน
การทดลองนี้แสดงให้เห็นว่า ความแก่ชราเป็นกระบวนการที่ย้อนกลับได้ ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจว่าจะย้อนไปข้างหน้าหรือจะย้อนกลับหลัง
ซินแคลร์บอกว่า ร่างกายของมนุษย์มีสำเนาสำรองของความอ่อนเยาว์ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดใหม่ได้ ซึ่งขัดกับความเชื่อทางวิทยาศาสตร์เดิมที่ว่า ความชราเป็นผลมาจากการกลายพันธุ์ของยีนที่ทำลายดีเอ็นเอของเรา ทำให้เกิดกองขยะของเซลล์เนื้อเยื่อเซลล์ที่เสียหาย ซึ่งอาจนำไปสู่การเสื่อมสภาพ โรคภัยไข้เจ็บ และความตายได้
“มันไม่ใช่ขยะ มันไม่ใช่ความเสียหายที่ทำให้เราแก่ลง พวกเราเชื่อว่ามันคือการสูญเสียข้อมูล การที่เซลล์สูญเสียความสามารถในการอ่านดีเอ็นเอดั้งเดิม มันจึงลืมว่าควรทำหน้าที่อย่างไร คล้ายๆ กับการที่คอมพิวเตอร์เก่ามีปัญหาเกี่ยวกับซอฟท์แวร์” ซินแคลร์เผยกับ CNN
พันธุศาสตร์นอกเหนือพันธุกรรมควบคุมความชรา
สถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์แห่งชาติของสหรัฐฯ อธิบายว่า ดีเอ็นเอเปรียบเสมือนฮาร์ดแวร์ของร่างกาย ส่วนพันธุศาสตร์นอกเหนือพันธุกรรม (Epigenes) คือ ซอฟท์แวร์ พันธุศาสตร์นอกเหนือพันธุกรรมคือ โปรตีนและสารเคมีที่เหมือนเป็นฝ้ากระที่นั่งอยู่บนยีนแต่ละยีน เพื่อรอบอกยีนว่าควรทำอะไร ตรงไหน และเมื่อไร
พูดง่ายๆ คือ พันธุศาสตร์นอกเหนือพันธุกรรมจะปิดและเปิดยีน โดยกระบวนการนี้จะถูกกระตุ้นด้วยมลพิษ สารพิษในสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น การสูบบุหรี่ การทานอาหารที่กระตุ้นการอักเสบ การนอนหลับไม่เพียงพอ และก็เหมือนกับคอมพิวเตอร์คือ กระบวนการของเซลล์เสื่อมโทรมลงเนื่องจากดีเอ็นเอเสียหายมากขึ้น
“เซลล์ตื่นตกใจ และโปรตีนซึ่งปกติจะควบคุมยีนก็เสียสมาธิเพราะต้องไปซ่อมแซมดีเอ็นเอ แล้วก็ไม่สามารถหาทางกลับไปยังจุดที่พวกมันเริ่มต้นได้ ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปมันก็เหมือนกับการแข่งปิงปองที่ลูกปิงปองจะตกลงพื้น” ซินแคลร์อธิบาย
แต่ข่าวดีคือ ร่างกายมนุษย์มีซอฟท์แวร์ที่ได้รับการแบ็กอัพไว้ซึ่งสามารถรีเซ็ตใหม่ได้ เรากำลังแสดงให้เห็นว่าทำไมซอฟท์แวร์นั้นถึงเสื่อมลงและเราจะรีบูตระบบด้วยการแตะไปที่ปุ่มรีเซ็ตที่ฟื้นฟูความสามารถของเซลล์ให้อ่านจีโนมได้อย่างถูกต้องอีกครั้งราวกับว่ามันยังอ่อนเยาว์
ซินแคลร์อธิบายอีกว่า ไม่สำคัญว่าอายุเราจะ 50 หรือ 75 จะสุขภาพดีหรือมีโรครุมเร้า เมื่อกระบวนการนั้นถูกกระตุ้นแล้ว ร่างกายก็จะจดจำว่าจะฟื้นฟูและกลับมาอ่อนเยาว์อีกครั้ง แต่ตอนนี้ทีมยังไม่ทราบว่าซอฟท์แวร์นั้นคืออะไร ทราบแต่เพียงว่าเราสามารถกดปุ่มนั้นได้
อย่างไรก็ดี จากการทดลองในหนูทีมของซินแคลร์พบว่า เซลล์ไม่ได้ย้อนกลับไปที่อายุ 0 วัน แต่จะย้อนกลับไประหว่าง 50-75% ของอายุเดิม แล้วก็จะหยุดและไม่อ่อนเยาว์ลงอีกแล้ว ถึงอย่างนั้นก็สามารถย้อนวัยหนูได้มากกว่า 1 ครั้ง
ขณะนี้ทีมของซินแคลร์กำลังทดลองวิธีการดังกล่าวในลิง แต่อาจต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีก่อนจะนำมาทดลองในมนุษย์
ซินแลร์เผยว่า ถึงแม้ว่าปัจจัยที่สร้างความเสียหายสามารถทำลายสิ่งที่อยู่นอกเหนือพันธุกรรมได้ แต่พฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพก็สามารถซ่อมแซมมันได้เช่นกัน ดูได้จากบุคคลที่มีไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพจะมีอายุที่แท้จริงของร่างกายน้อยกว่าคนที่มีพฤติกรรมตรงข้าม
ขณะที่เรายังต้องรอความก้าวหน้าทางเทคโนโยลีย้อนอายุกันอยู่ ซินแคลร์เผยทิปส์ความอ่อนเยาว์ว่า ควรทานอาหารที่มาจากพืช ลดความถี่ของการทาน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย 10 นาทีสัปดาห์ละ 3 ครั้งเพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อ อย่าวิตกกังวลกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และมีกลุ่มสังคมที่ดี
“ที่สำคัญคือ ทุกๆ วันมีความสำคัญ” ซินแคลร์กล่าว “การใช้ชีวิตของคุณ แม้ในวัยรุ่นและวัยเลข 2 นั้นสำคัญมากๆ หรือแม้แต่อีกหลายสิบปีต่อมา เพราะนาฬิกาของคุณเดินไปเรื่อยๆ ทุกวัน”
ภาพ: Flickr/Trocaire
https://en.wikipedia.org/wiki/Ageing#/media/File:Habibaadansalat.jpg
- 536 views