มูลนิธิมิตรภาพบำบัด ร่วมกับ สปสช. จัดงานรำลึก 15 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย สานต่อปณิธาน ผู้ป่วยช่วยผู้ป่วย เพื่อนช่วยเพื่อน
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2566 ที่ห้องสุวิทย์ศักดานนท์ โรงแรม ที เค พาเลซ มูลนิธิมิตรภาพบำบัด จัดงานรำลึก 15 ปี นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ โดยมี นพ.ไพจิตร ปวะบุตร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการมูลนิธิมิตรภาพบำบัด ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสปสช. พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสปสช. และ ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. ร่วมในงานด้วย
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิมิตรภาพบำบัด กล่าวว่า มูลนิธิมิตรภาพบำบัด จัดตั้งขึ้นสานต่อเจตนารมณ์ของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการผู้ก่อตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จากไปขณะมีอายุ 55 ปี เมื่อ 18 ม.ค. 2551 ด้วยโรคมะเร็งปอด โดยท่านเป็นแพทย์ผู้ผลักดันให้เกิดโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง ไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายจิตอาสามิตรภาพบำบัด "เพื่อนช่วยเพื่อน ผู้ป่วยช่วยผู้ป่วย"
ซึ่งเกิดจากประสบการณ์จริงของชีวิตในช่วงเจ็บ ป่วย สู่แนวคิดในการปฏิบัติและกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพของไทยได้มีระบบการดูแลผู้ป่วยที่ดีขึ้นจนถึงทุกวันนี้ ทั้งนี้ ในงานมีการมอบรางวัลมิตรภาพบำบัดดีเด่น ประจำปี 2565 มี5 ประเภท ให้แก่ ผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ และหน่วยงานที่มีผลงานดีเด่นในงานจิตอาสามิตรภาพบำบัด เพื่อเชิดชูเกียรติและเป็นแบบอย่างแก่สังคม
ผู้สื่อข่าวถามว่า อนาคตมองว่าระบบสุขภาพไทยควรเป็นอย่างไร? นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า เราคิดว่าขณะนี้มีการพัฒนามาถึงระดับค่อนข้างดี โดยเฉพาะในเรื่อง การรักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เราก็สามารถผลักดันให้เกิดการครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดโรคหัวใจ โรคสมอง หรือความพิการอื่นๆรวมทั้งโรคหายากที่เด็กเกิดมาแล้วมีความพิการทางด้านกรรมพันธุ์ สปสช. ได้ทยอยเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ป่วยโรคเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งในเรื่องนี้ยังต้องพัฒนาต่อ รวมทั้งการส่งเสริมป้องกันโรคที่ควรจะป้องกันได้ โดยเฉพาะ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูงและเป็นโรคที่ป้องกันได้
ทั้งนี้ ฝ่ายส่งเสริมสุขภาพไม่ว่าจะเป็น สสส. กรมอนามัย จะเข้ามามีส่วนในการที่จะลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ สุดท้ายนี้เรายังผลักดัน นโยบาย ในเรื่องหลักประกันชีวิตโดยเฉพาะในช่วงท้ายของชีวิต ถือเป็นบำนาญประชาชน ซึ่งมีหลายพรรคการเมืองได้เสนอนโยบายเรื่องนี้ และแน่นอนว่าจะต้องใช้งบประมาณพอสมควรอาจจะต้องมีการเพิ่มภาษี
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องสำคัญที่มีเป้าหมายให้ประชาชนมีสุขภาพวะสุขภาพดีตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่ใช่มีบำนาญเฉพาะข้าราชการ แต่บำนาญของประชาชนจะออกมาในรูปแบบไหนเป็นเรื่องของการศึกษาวิจัยและผลักดันให้เกิดขึ้นในลักษณะที่เหมาะสมกับสังคมไทยในภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะได้เข้ามาร่วมกันศึกษาวิจัย รวมถึงนักวิชาการของมหาวิทยาลัยควรจะเข้ามาศึกษาวิจัยหารูปแบบที่เหมาะสมในช่วงนี้ของประเทศไทยและในช่วงต่อไปด้วย
นอกจากนี้ ภายในงาน นพ.เจด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ปาฐกถาในหัวข้อ หัวข้อ แรงบันดาลใจจากนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ โดยเล่าจากประสบการณ์ทำงานที่เคยได้ร่วมงาน ได้เรียนรู้แนวทางการทำงานหลายอย่าง และคุณหมอสงวนเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ในการทำงาน เป็นผู้มองการณ์ไกล เช่น ในช่วงเริ่มต้นการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หมอสงวนเคยบอกว่า นโยบายนี้จะอยู่ยั่งยืน และเป็นนโยบายสำคัญระดับโลก ซึ่งปัจจุบันก็พิสูจน์ให้เห็นเป็นประจักษ์ //รวมไปถึงการส่งต่อแนวคิดการทำงาน ที่เน้นการขับเคลื่อนนโยบายผ่านการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน
นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนา นโยบายบำนาญแห่งชาติ โดยผู้แทนจากหลายพรรคการเมือง เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทยสร้างไทย พรรคเพื่อไทย เป็นต้น นำเสนอแนวคิด และแนวทางต่อยอดให้เกิดขึ้นได้จริงเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในช่วงใกล้การเลือกตั้งที่จะมาถึงด้วย
ในการมอบรางวัลมิตรภาพบำบัดดีเด่น ประจำปี 2565 มี5 ประเภทคือ 1. ประเภทผู้ป่วยจิตอาสา งานมิตรภาพบำบัดดีเด่น 2. ประเภท เข้าหน้าที่ผู้ให้บริการ งานมิตรภาพบำบัดดีเด่น 3.ประเภทหน่วยงาน/องค์กรและทีมงานสนับสนุน งานมิตรภาพบำบัดดีเด่น ระดับตติยภูมิ/ทุติยภูมิ 4. ประเภท หน่วยงาน/องค์กร/ทีมงานสนับสนุน งานมิตรภาพบำบัดดีเด่น ระดับชุมชน และ5 ประเภท สื่อสนับสนุน งานมิตรภาพบำบัดดีเด่น.
- 1099 views