อธิบดีสบส. เผย “กรวินคลินิก” 32 สาขาเปิดถูกกฎหมาย ขึ้นทะเบียนถูกต้อง แต่มีบางสาขาใช้ซิลิโคนเถื่อน เร่งร่วมตำรวจเดินหน้าสืบข้อมูลต่อเนื่อง หาคลินิกในเครือกระทำผิดอีกหรือไม่ ขอให้ประชาชนที่ใช้บริการแจ้งข้อมูลมาเพื่อให้มีหลักฐานเพิ่มเติม
เมื่อวันที่ 17 มกราคม นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คลินิกความงาม “กรวินคลินิก” เปิดให้บริการ 32 สาขาทั่วประเทศ แต่มีการสืบสวนพบว่ามีการสั่งทำซิลิโคนจากโรงงานเถื่อน ทำให้ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้ซิลิโคนปลอมกับประชาชนกว่า 1,600 คน ว่า สำหรับกรณีดังกล่าวมีการตรวจสอบพบว่าคลินิกได้รับการอนุญาตจาก สบส. เปิดบริการทุกสาขา ซึ่งตามปกติแล้วถ้าได้รับอนุญาต ก็หมายถึงว่า แพทย์ที่ประจำการแต่ละคลินิกเป็นแพทย์จริง ดังนั้น คลินิกไม่เถื่อน หมอไม่เถื่อน แต่ซิลิโคนเถื่อน
สำหรับการที่ สบส.จะสั่งปิดคลินิกได้ ก็จะมีหลักการดำเนินการอยู่ คือ การดำเนินการในคลินิกมีความอันตรายร้ายแรงมากที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายถึงเสียชีวิต หรือมีความเสียหายร้ายแรง เช่น การฉีดยาที่มีความอันตรายจนถึงชีวิต เราสามารถสั่งปิดได้ตามเหตุความรุนแรง แต่กรณีนี้ยังไม่ถึงเหตุความรุนแรงมาก ดังนั้น เราต้องตักเตือนให้เขาปรับปรุงไม่ให้ใช้ซิลิโคนปลอม ส่วนความผิดที่เกิดขึ้นเราก็เอากฎหมายสถานพยาบาลมาดูเพื่อเป็นบทลงโทษ ทั้งโทษอาญาและโทษปรับ
ตอนนี้ที่ตรวจสอบมี 3 ข้อ คือ 1.ไม่มีแพทย์อยู่ประจำการ ณ เวลาที่ประกาศไว้ 2.บางสาขามีการต่อเติมห้องผ่าตัดโดยไม่ได้ขออนุญาต เช่น สาขาระยอง และ 3.การโฆษณาโดยไม่ได้ขออนุญาต สบส. เนื่องจากเขาขอเปิดเป็นคลินิกเวชกรรมทั่วไป คือการตรวจรักษาโรค แต่เมื่อมีการทำเสริมความงาม ก็ต้องมาขออนุญาตก่อน
นพ.สุระ กล่าวว่า สำหรับการตรวจสอบเบื้องต้นเพียงไม่กี่สาขา พบว่ามีการใช้ซิลิโคนปลอมกับประชาชนกว่า 1,600 คน ซึ่งยังมีอีกหลายสาขาให้บริการทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่เข้าไปรับบริการในคลินิกดังกล่าว แม้ยังไม่เกิดปัญหาจากการเข้ารับบริการ ก็สามารถแจ้งเรื่องเพื่อเป็นหลักฐานไว้ก่อนได้ โดยติดต่อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของ สบส. ที่ “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” หรือสามารถแอดไลน์ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดช่องทางไว้ที่ @cppd4 รวมถึงกรณีที่ประชาชนรู้สึกได้รับความเสียหายจากการให้บริการ เช่น การจ่ายค่าบริการเสริมความงามที่ไม่เป็นธรรม การที่คลินิกใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานมาเสริมความงาม เป็นต้น
ด้าน นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีสบส. กล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) กำลังสืบข้อมูลเพื่อดูว่ามีการใช้ซิลิโคนปลอมกับคลิกนิกทั้งหมดในเครือหรือไม่ เพราะเชื่อว่าถ้าลงไปตรวจสอบภายหลังที่มีข่าวออกมาแล้ว อาจจะมีการเก็บหลักฐานต่างๆ ไปแล้ว เลยจะต้องมีการสอบสวนผ่านเส้นทางการเงิน การสืบพยานต่างๆ ต่อไป ขณะเดียวกันเราก็ขอให้ประชาชนแจ้งข้อมูลมาเพื่อให้มีหลักฐานดำเนินการกับคลินิกได้เพิ่มเติม
ทั้งนี้ การที่ประชาชนจะเข้ารับบริการจากคลินิกใดก็ตาม จะต้องตรวจสอบว่า คลินิกนั้นๆ ได้รับการอนุญาตจาก สบส. หรือไม่ วัสดุที่นำมาใช้เสริมความงาม เป็นของที่ได้รับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ประชาชนมีสิทธิเรียกดูได้ โดยที่คลินิกต้องเปิดเผยข้อมูล
“สำหรับผู้ที่เข้ารับบริการแล้วเกิดความเสียหาย ให้แจ้งมาที่ สบส. เพื่อให้เราดำเนินการตรวจสอบ ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากมาตรฐานหรือคุณภาพของสถานพยาบาลหรือไม่ ถ้าเกี่ยวข้อง สบส.ดำเนินการได้เลย แต่ถ้าเกี่ยวกับวิชาชีพ เช่น แพทย์ เราก็ส่งให้แพทยสภาพิจารณาอีกที แต่เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ เป็นแพทย์ที่ได้รับอนุญาตทำงานในคลินิกที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง ดังนั้น หากถามว่าแพทย์ใช้ซิลิโคนปลอมนั้นผิดบรรยาบรรณของแพทย์หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จริงๆ ตรวจสอบยากว่าแพทย์คนไหน ใช้ซิลิโคนจริงหรือปลอม ฉะนั้นต้องให้แพทยสภาตรวจสอบเรื่องจริยธรรมอีกครั้ง” นพ.ภานุวัฒน์ กล่าว
- 3796 views