รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชื่นชม สถาบันพระบรมราชชนก นำ “สบช.โมเดล” ส่งเสริมป้องกันโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่ประชาชน สามารถจัดการสุขภาวะของตนเอง บุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคมได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผลงานปีที่ผ่านมาพบประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ลดโรคแทรกซ้อน ลดแออัดและลดค่าใช้จ่ายได้
วันที่ 9 มกราคม 2566 ที่ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จ.ปทุมธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการสร้างชุมชนสุขภาวะด้วย สบช.โมเดล 2022 : 1 วิทยาลัย 1 ชุมชน เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (2565 – 2567) ในการประชุมวิชาการ เรื่อง “สถาบันพระบรมราชชนก : มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชนกับ 21st Century Health Profession Education”
โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผู้อำนวยการวิทยาลัยในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนกทั้ง 39 แห่งทั่วประเทศ และผู้แทนจากชุมชนพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 300 คน ร่วมประชุม
นายอนุทิน กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การเกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ รวมถึงการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ถือเป็นความท้าทายของสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตกำลังคนด้านสุขภาพในศตวรรษที่ 21 เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีสถาบันพระบรมราชชนก เป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่ผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพสาขาต่างๆ ให้กับหน่วยงานของกระทรวงมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ สาธารณสุขชุมชน, ทันตสาธารณสุข, แพทย์แผนไทย/แพทย์แผนไทยประยุกต์, และผู้ช่วยพยาบาลสำหรับ อสม.
นอกจากนี้ ยังสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านสุขภาพที่ตอบสนองความต้องการของระบบสุขภาพ รวมถึงให้ความสำคัญในการสร้างสุขภาวะชุมชนที่ดีอย่างยั่งยืน ถือเป็น “มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน” อย่างแท้จริง
“ขอชื่นชม สถาบันพระบรมราชชนก ที่นำ “สบช.โมเดล” มาใช้สร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่ประชาชน ให้มีความรู้ทางสุขภาพ มีสมรรถนะในการจัดการสุขภาวะของตนเอง บุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพในการดูแลผู้ป่วยทั้งโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ลดความแออัดและลดระยะเวลาการรอคอยรับบริการสุขภาพทั้งในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ” นายอนุทินกล่าว
ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าวว่า โครงการฯ ดังกล่าวจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี เพื่อสร้างความเข้าใจการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของประชาชน ใช้แนวทางการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วย “สบช. โมเดล” ของวิทยาลัยในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก และพัฒนาความร่วมมือการดำเนินงานกับเครือข่ายสุขภาพในพื้นที่โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อให้การบริการสุขภาพตามแผนบริการสุขภาพ (service plan) มีคุณภาพ
ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า “สบช. โมเดล” เป็นการนำแนวคิดปิงปองจราจรชีวิต 7 สี ที่ใช้สีบอกระดับอาการป่วย และจัดกลุ่มตามมาตรการ 3 อ. ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ และมาตรการ 3 ล. ได้แก่ ลดเหล้า ลดบุหรี่ และลดอ้วน ร่วมกับการใช้เครื่องมือบัตรสร้างสุขภาพ เพื่อควบคุมผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง รวมถึงจัดระบบกระจายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และรพ.สต./ศสมช. เพื่อลดความแออัดอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
โดยผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา วิทยาลัยในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนกทั้ง 39 แห่ง ได้คัดกรองสุขภาวะของประชาชนในชุมชนเป้าหมาย 45,642 คน จากประชากรเป้าหมาย 54,205 คน คิดเป็นร้อยละ 84.20 พบว่า ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และมีระดับความรุนแรงของโรคลดลง สามารถลดโรคแทรกซ้อน รวมถึงช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล และลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย
- 1485 views