ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2565 ได้รับทราบรายงานการประเมินผลโครงการหรือแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยในด้านโครงการมีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 ระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2565 จำนวน 26 โครงการ กรอบวงเงินรวม 55,086.52 ล้านบาท มีผลเบิกจ่ายรวม 51,046.76 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92.66 ของกรอบวงเงิน มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก และผลการประเมินตามหลักเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย ความสอดคล้องและความเชื่อมโยง ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลกระทบ และความยั่งยืน อยู่ในระดับดี
รายงานประเมินผลดังกล่าว สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ได้ว่าจ้าง บริษัท ทริส คอร์ปอเรชัน จำกัด และมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังเป็นที่ปรึกษา โดยในด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโควิด-19 ในชุมชน และโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับบริการประชาชนในประเทศไทยเพิ่มเติม 35 ล้านโดส ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จำนวน 63,559.74 ล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐจากการเก็บภาษี จำนวน 12,267.03 ล้านบาท และส่งผลกระทบทางสังคม เช่น เพิ่มความสามารถในการรองรับผู้ป่วยและผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการดูแลสุขภาพมากขึ้น และลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงและประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-1 9
สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่พบ เช่น (1) ฐานข้อมูลของ อสม. และระบบสารสนเทศงานสุขภาพประชาชนไม่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถโอนเงินค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของ อสม. (2) การส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 มีความซ้ำซ้อนและล่าช้า และ (3) ประชาชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของโครงการ
ด้านข้อเสนอแนะ เช่น (1) ควรตรวจสอบและปรับปรุงฐานข้อมูลของ อสม. ให้มีความถี่มากขึ้น (2) จัดทำระบบฐานข้อมูลกลางด้านสาธารณสุขของประเทศที่สามารถสนับสนุนการรักษาและส่งต่อผู้ป่วยเพื่อลดความซ้ำซ้อนและความล่าช้าในการส่งต่อผู้ป่วย (3) ควรมีการบูรณาการระหว่างสถานพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้สามารถตัดสินใจสั่งการและใช้ทรัพยากรร่วมกันได้เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน และ (4) ควรกำหนดมาตรการการบริหารสื่อประชาสัมพันธ์และข้อมูลข่าวสารในภาวะฉุกเฉินเพื่อให้การสื่อสารถึงประชาชนเป็นไปในทิศทางเดียวกันรวมถึงกำหนดมาตรการลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้ที่ให้ข้อมูล ข่าวสาร หรือความเห็นที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด
- 89 views