เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่าง “ธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน” ครั้งที่ 1 คนเกาะล้านร่วมสะท้อนข้อเสนอ-ระดมแนวทาง แก้ไขปัญหาระบบสาธารณูปโภค-สิ่งแวดล้อม-ความปลอดภัย เตรียมใช้เป็นกติการะหว่างผู้อยู่อาศัย-นักท่องเที่ยว สู่เป้าหมายการสร้างสุขบนฐานที่สมดุล
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2565 คณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นำโดย นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการฯ พร้อมด้วย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ (สำนัก 7) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างธรรมนูญสุขภาพเกาะล้าน ครั้งที่ 1 ซึ่งชาวชุมชนเกาะล้าน เมืองพัทยา ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม โดยมีชาวชุมชน ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน นักเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 100 คน
นายธนกร สุขขี ประธานคณะทำงานยกร่างธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน เปิดเผยว่า พื้นที่เกาะล้าน เมืองพัทยา ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองพัทยา ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาจำนวนมาก จึงเกิดการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ตามมาด้วยสภาพปัญหาไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้พื้นที่สาธารณะอย่างไม่เป็นระเบียบ มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างมาก
“ในอดีตเกาะล้านเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ที่มีคนอาศัยเพียง 300-400 คน มีธรรมชาติที่สวยงาม แต่ภายหลังยุคสงครามที่มีทหารอเมริกันเข้ามาเป็นนักท่องเที่ยว ก็ทำให้เกาะล้านเป็นที่รู้จักมากขึ้น เกิดการเจริญเติบโตของเมือง มีการประกอบอาชีพของชุมชนที่เปลี่ยนไป จากเกษตรกรรม ประมง ปัจจุบันล้วนกลายเป็นธุรกิจท่องเที่ยว มีที่พักกว่า 200 แห่ง รวมห้องพักกว่า 2,000 ห้อง โดยช่วงก่อนโควิดเรามีนักท่องเที่ยววันละเกือบ 1-2 หมื่นคน แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้ชุมชนเปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านที่ดีและในด้านลบ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของทุกคน” นายธนกร กล่าว
นายธนกร กล่าวว่า เมื่อแสวงหาวิธีการที่จะแก้ไขปัญหา เพื่อให้คนในชุมชนประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน และสามารถส่งต่อมรดกทางทรัพยากรไปสู่ลูกหลานได้ ทางชุมชนจึงพยายามหาเครื่องมือที่จะมาเป็นหลักยึดเพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตามร่วมกัน แต่การจะนำกฎหมายมาบังคับใช้ในพื้นที่เกาะล้าน ก็อาจส่งผลกระทบกับผู้คนทุกฝ่าย ดังนั้นจึงมองกันว่าธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ ซึ่งเป็นเครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 จะสามารถเข้ามาทำให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันสะท้อนปัญหา เสนอความคิดเห็น และนำไปสู่การแสวงหาทางออกร่วมกันได้
“พ.ร.บ.สุขภาพฯ ได้กำหนดความหมายของสุขภาพที่กว้างขึ้น คือไม่ใช่แค่การเจ็บป่วยเท่านั้น แต่เป็นทุกอย่างที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การทำมาหากิน ดังนั้นการที่ประชาชนได้มาเริ่มต้นร่วมกันพิจารณาร่างธรรมนูญสุขภาพชุมชนครั้งนี้ จึงเป็นนิมิตรหมายดีที่เราจะได้มาร่วมกันรวบรวมรายละเอียดปัญหาต่างๆ ที่มีในชุมชน รวมถึงสิ่งดีๆ ที่เกาะล้านมีอยู่ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยความสมานฉันท์ บนกระบวนการประชาธิปไตย และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน” นายธนกร กล่าว
สำหรับการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ชาวชุมชนและภาคส่วนต่างๆ ที่เข้าร่วม ได้ทำการพิจารณา (ร่าง) ธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน ซึ่งเบื้องต้นได้มีการยกร่างเนื้อหาใน 9 หมวด รวม 56 ข้อ บนจุดหมายปลายทางคือ “เกาะล้าน สร้างสุขบนฐานที่สมดุล” พร้อมได้มีการสะท้อนความเห็นและข้อเสนอต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ ประเด็นปัญหาเรื่องที่ดิน การใช้ไฟฟ้า น้ำประปา การจัดการขยะ สุนัขและแมวจรจัด การจัดระเบียบการจราจร ป้ายบอกทาง ไฟส่องสว่าง การลดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ สวัสดิการผู้สูงอายุ ไปจนถึงการส่งเสริมทักษะทางภาษาให้กับคนบนเกาะ เป็นต้น
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ร่างธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้านนี้ ยังเป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 ซึ่งจะยังคงมีการจัดเวทีอีกหลายครั้ง เพื่อให้ได้รับความเห็นอย่างทั่วถึง เพียงพอ จนกว่าจะได้รับฉันทมติที่เป็นความเห็นร่วมของคนเกาะล้าน เพื่อสร้างกติกาที่จะนำไปสู่สุขภาวะที่ดีร่วมกัน โดยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์และประกาศใช้ร่วมกันได้ภายในเดือน เม.ย. 2566
นพ.ประทีป กล่าวว่า ในส่วนของเมืองพัทยาเอง ก็กำลังอยู่ระหว่างการร่างธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา ขึ้นเป็นฉบับแรก หลังได้รับฉันทมติภายในเวทีสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2565 ให้มีขึ้นเพื่อเป็นทิศทางหรือแนวปฏิบัติในการนำไปสู่สุขภาวะของคนในเมืองพัทยา ซึ่งเกาะล้านเองก็ถือเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของพัทยา ดังนั้นการวางกฎกติกาเพื่อแก้ไขปัญหา ลดผลกระทบด้านต่างๆ จึงเป็นส่วนที่ต้องเดินหน้าทำไปด้วยกัน
“ธรรมนูญสุขภาพ เป็นกระบวนการที่ทำให้ทุกฝ่ายเกิดการพูดคุย แล้วมาช่วยกันวางแนวทางการแก้ไขปัญหา แม้ไม่ได้เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับ แต่ก็ถือเป็นภาพฝันหรือเป้าหมายร่วมกันในการเดินต่อไปข้างหน้า และนอกจากธรรมนูญของพื้นที่แล้ว ก็ยังสามารถลงไปกำหนดธรรมนูญได้ในแต่ละระดับ เช่น การวางธรรมนูญในโรงเรียน ที่จะเป็นกติการ่วมระหว่างครู นักเรียน ผู้ปกครอง เข้ามากำหนดมาตรการต่างๆ ร่วมกันต่อไป” นพ.ประทีป กล่าว
- 73 views