รูดม่านปิดงาน “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15” อย่างชื่นมื่น ‘ดร.เอนก’ ร่วมปาฐกถาตอกย้ำแนวคิดไทยส่งออกนวัตกรรมสู่โลก ด้าน “เจิมศักดิ์” สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงวัย เสนอระบบการออมใหม่แฝงในภาษี VAT ขณะที่ประธาน คจ.สช. แง้ม 7 ประเด็นใหม่เตรียมพัฒนาสู่ระเบียบวาระสมัชชาฯ ครั้งที่ 16
เมื่อวันที่ 21-22 ธ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ.2565 ภายใต้ประเด็นหลัก “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” โดยวันสุดท้ายของงานยังมีผู้เข้าร่วมอย่างคึกคัก และภายในงานมีการปาฐกถาโดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในหัวข้อ “นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและสังคม: โอกาสและความหวังอนาคตของประเทศไทย”
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ความคิดใหม่นั้นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรือดีกว่าความคิดเก่าเสมอไป เพราะในหลายครั้งความคิดเก่าๆ ก็ถูกนำกลับมาให้ความสำคัญมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแพทย์แผนดั้งเดิม ที่ปัจจุบันถูกนำมาวิพากษ์การแพทย์สมัยใหม่ หรือการนวดแผนไทยที่มีมาแต่โบราณ ทุกวันนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นการนวดที่ดีที่สุดในโลก คล้ายกับการเล่นโยคะของอินเดีย ที่ปัจจุบันกลายเป็นสิ่งสมัยใหม่ในโลกตะวันตก
“การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในโลกล้วนเป็นการคลุกเคล้าสิ่งเก่าเข้ากับสิ่งใหม่ บางชุดความรู้โบราณนั้นดีกว่าจริง แต่เราก็ไม่ได้จะทิ้งความเลอเลิศที่เป็นปัจจุบัน เพียงแต่ไปรับเอาความคิดดั้งเดิมมาใช้ให้เป็นประโยชน์
ซึ่งคนในแต่ละยุคมักคิดว่าตัวเองเป็นคนแห่งยุคสมัยทั้งนั้น แต่อนาคตคนในยุคนี้ก็จะกลายเป็นมนุษย์โบราณ ฉะนั้นการคิดนวัตกรรมจะต้องคิดให้ผ่านยุคสมัยด้วย และอย่าไปคิดว่าของเก่านั้นไม่ดี เพราะนวัตกรรมจำนวนมากก็ได้มาจากการศึกษาของเก่า แล้วเอากลับมาปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัย” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว
รมว.อว. กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยเองก็มีศักยภาพในการดำเนินนวัตกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ภายใน 6 ปีข้างหน้านี้เตรียมจะสร้างยานอวกาศที่สามารถโคจรรอบดวงจันทร์ การใช้เครื่องมือโทคาแมค (Tokamak) เพื่อศึกษาปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น การมีเครื่องฉายแสงซินโครตรอนเป็นประเทศเดียวในภูมิภาค เป็นต้น หรือแม้แต่เรื่องของแนวความคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ที่ไทยเป็นผู้ผลักดันจนได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งก็เป็นนวัตกรรมในแง่ของการสร้างแนวความคิดการพัฒนา
“แนวคิดเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อย่างประเทศภูฏาน ก็เป็นผู้ที่ริเริ่มแนวคิดเรื่องความสุขมวลรวม หรือ GNH ขึ้นและเป็นที่สนใจไปในทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเองก็ไม่ควรนำเข้านวัตกรรมหรือรับเอาแนวความคิดสากลเข้ามาอย่างเดียว แต่เราเองก็ต้องเป็นฝ่ายส่งออกนวัตกรรม องค์ความรู้ของเราด้วย หนึ่งในนั้นคือ BCG เป็นแนวคิดที่เราส่งออกไปแล้ว และยังมีความรู้หรือแนวคิดอื่นๆ ที่เราส่งให้กับโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือกระบวนการสมัชชาสุขภาพ เองก็ตาม” รมว.อว. กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) และอดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ปาฐกถาหัวข้อ “สู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์: โอกาสและทางออกของประเทศไทย” ระบุตอนหนึ่งว่า จากรายงาน Global Wealth Report ได้ยกให้ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยเหตุผลของความเหลื่อมล้ำที่สูงเช่นนี้ มาจากการถือครองทรัพย์สิน 67% ที่กระจุกอยู่กับประชากรร่ำรวยเพียง 1% ยังไม่นับรวมถึงความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา หรือระบบสุขภาพ ที่เรามีจำนวนแพทย์ต่อหัวประชากรในแต่ละพื้นที่ไม่เท่าเทียมกัน เป็นต้น
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ ก็จะดูแต่เฉพาะมิติทางสุขภาพอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูในทุกมิติเพราะทั้งหมดล้วนเกี่ยวพันกันทั้งหมด เป็นความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้าง ที่อาจสรุปได้ใน 3 ลักษณะ คือ 1. ความเหลื่อมล้ำในโอกาส 2. ความเหลื่อมล้ำในอำนาจ 3. ความเหลื่อมล้ำในสิทธิ และสิ่งเหล่านี้จะน่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้น เมื่อประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่หนักยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นต่อไปที่จะต้องแบกรับภาระจากปัญหาของโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง
“หลักการหรือแนวคิดที่สำคัญที่สุด คือเราจะต้องทำให้คนแก่ช้าลงที่สุด แม้ว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย จะเป็นสิ่งที่ทุกคนหนีไม่พ้น แต่สิ่งที่เราทำได้คือการวางระบบเพื่อยืดเวลานี้ออกไปให้นานที่สุด เพราะคำว่าแก่หลังจากนี้จะไม่ได้ดูที่ตัวเลขอีกต่อไป แต่ต้องตีความใหม่ ว่าแก่นั้นหมายถึงภาวะที่เราเริ่มพึ่งพาตนเองไม่ได้ ฉะนั้นตราบใดที่เรายังทำงาน ยังพึ่งพาตัวเองได้ เราก็จะยังไม่แก่ ฉะนั้นเราจึงต้องมาวางมาตรการ ออกแบบระบบเพื่อรองรับเรื่องนี้” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าว
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการออกแบบอาจคำนึงถึงใน 4 มิติ คือ 1. เศรษฐกิจ ซึ่งในอนาคตเราไม่อาจเกษียณด้วยอายุ 60 ปีได้อีกต่อไป แต่ยังต้องทำงานต่อตราบเท่าที่ยังมีกำลัง รวมถึงระบบที่สนับสนุนและเอื้อให้เกิดการออม โดยอาจมีข้อเสนอ เช่น เก็บค่าธรรมเนียมการออมเพิ่มอีก 3% จาก VAT 7% เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการออมได้ 2. สภาพแวดล้อม เช่น การออกแบบอาคารสถานที่ที่เหมาะสมกับคนทุกวัย 3. สุขภาพ ทำให้คนแข็งแรงนานที่สุดก่อนที่จะป่วยและเสียชีวิต รู้จักการส่งเสริมสุขภาพ พฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ การป้องกันโรค 4. ชุมชน ท้องถิ่น สังคม ที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพราะเป็นส่วนของการรองรับผู้สูงอายุอีกจำนวนมากในอนาคต
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ยังได้มีการประกาศประเด็นพัฒนาเป็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ.2556 ประกอบด้วย 1. การป้องกันและลดความรุนแรงในสังคมไทย สะท้อนจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ จ.หนองบัวลำภู 2. การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพภายใต้แนวคิด BCG Model 3. การบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม 4. ระบบยุติธรรมชุมชน ลดความขัดแย้ง เพิ่มสุขภาวะสังคม 5. การกระจายอำนาจสู่พื้นที่อย่างมีส่วนร่วม 6. การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7. การพัฒนาระบบสุขภาพจิต
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 15-16 พ.ศ.2565-2566 กล่าวว่า ทั้ง 7 หัวข้อดังกล่าว เป็นประเด็นที่ได้มีการหยิบยกและถูกสะท้อนออกมาผ่านเวทีสมัชชาสุขภาพฯ ในครั้งนี้ ขณะเดียวกัน คจ.สช. ก็ยังยินดีที่จะเปิดรับประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมจากภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะร่วมกันต่อไปในระยะหลังจากนี้ ผ่านเส้นทางของกระบวนการสมัชชาสุขภาพทุกระดับ ไม่ว่าจะในระดับชาติ ระดับพื้นที่ หรือในรายประเด็น
“ในส่วนของมติสมัชชาฯ ทั้ง 3 ระเบียบวาระที่มีการเคาะรับรองในครั้งนี้ ก็จะไม่ใช่การเคาะแล้วจบไป แต่จะเป็นการเคาะเพื่อเริ่มต้นกระบวนการ โดยเฉพาะในเรื่องของหลักประกันรายได้และคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ที่จะต้องร่วมกันพัฒนาแนวทางต่อไปในระยะหลังจากนี้ ควบคู่ไปกับ 7 ประเด็นใหม่ที่ถูกสะท้อนขึ้นมา” นายชาญเชาวน์ กล่าว
- 120 views