ความจริง! การกำหนดระยะเวลาการกิน หรือ IF ทำได้ทุกคนหรือไม่ มีข้อควรระวังอะไรบ้าง
ในปัจจุบันมีเคล็ดลับและข้อมูลมากมายเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก หนึ่งในวิธียอดนิยมคือการทำ Intermittent Fasting หรือไอเอฟ (IF) การกำหนดระยะเวลาการกิน แบ่งเป็นช่วงเวลาที่รับประทานอาหารได้กับช่วงเวลาที่ไม่รับประทานอาหาร โดยช่วงเวลาที่นิยมทำ เช่น ทานอาหาร 8 ชั่วโมง อดอาหาร 16 ชั่วโมง ทานอาหาร 6 ชั่วโมง อดอาหาร 18 ชั่วโมง ทานอาหาร 5 ชั่วโมง อดอาหาร 19 ชั่วโมง หรือเพิ่มช่วงเวลามากกว่านั้น ซึ่งการทำ IF นั้นมีคำแนะนำมากมายว่าดีอย่างไร แต่ไม่ใช่ว่าวิธีนี้จะทำได้ทุกคน หากหักโหมเกินไปจะเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่นที่มีข่าวเด็กสาวอายุ 14 ปี ลดน้ำหนัก โดยรับประทานอาหารเพียง 1 ชั่วโมงต่อวัน ประกอบกับเลือกกินแป้ง คาร์โบไฮเดรตต่ำ ส่งผลต่อการทำงานของร่ายกาย
ข้อมูลจากกรมอนามัย แนะนำให้ผู้ที่ต้องการทำ IF เลือกช่วงเวลาให้เหมาะสมในช่วงที่ร่างกายยังไม่ต้องการสารอาหาร อีกทั้งประเมินสภาพร่างกายด้านโรคประจำตัว ส่วนกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยง ประกอบด้วย 1.เด็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี เพราะการอดอาหารนานเกินไปจะยับยั้งฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตและการยืดยาวของกระดูก 2.หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เพราะการอดอาหารจะส่งผลต่อแม่และเด็กในครรภ์อาจขาดสารอาหารได้ โดยเฉพาะสารอาหารสำคัญอย่างโฟเลทและธาตุเหล็ก ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ส่วนหญิงให้นมบุตร น้ำนมแม่อาจขาดสารอาหารที่สำคัญ เช่น วิตามิน และแร่ธาตุ ส่งผลต่อการเติบโตของลูกได้ 3.คนที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคกระเพาะอาหาร เพราะการอดอาหารเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้กรดในกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น ส่วนผู้เป็นโรคเบาหวานต้องระวังเรื่องอาหาร หากอดอาหารนานระดับน้ำตาลในเลือดต่ำมาก (Hypoglycemia) อาจเป็นอันตราย รวมถึงผู้ที่มีภาวะเครียดสะสมหรือผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมการกินอาหารผิดปกติ เพราะพฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติสัมพันธ์กับสภาวะจิตใจ นอกจากนี้ บุคคลที่มีรูปแบบการทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวันไม่แน่นอน ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่อาจส่งผลต่อรอบเดือน
ผศ.(พิเศษ) นพ.สยาม ศิรินธรปัญญา หัวหน้างานโรคทางเดินอาหาร กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวกับ Hfocus ว่า กลุ่มคนที่ต้องระมัดระวังในการทำ IF คือ ผู้ที่ตรวจพบแผลในกระเพาะอาหาร เพราะร่างกายจะหลั่งกรดในกระเพาะอาหารตามระยะเวลาของมื้ออาหาร หากมีแผลหรือเลือดออกในกระเพาะอาหาร จะไม่แนะนำ เพราะถ้าเป็นแผลในกระเพาะอาหารแล้วไม่ได้กินอาหารเป็นเวลานาน ๆ อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวและต้องการทำ IF ขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนจะดีกว่า
ต่อกรณี เรื่องการทำ IF ช่วยแก้ปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกตินั้น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน โดยชี้แจงว่า การขาดประจำเดือนเกิดจากหลายสาเหตุ กรณีอยู่ในวัยเจริญพันธุ์และมีเพศสัมพันธ์ควรพิจารณาตรวจการตั้งครรภ์ ถ้าไม่ได้มีการตั้งครรภ์ การขาดประจำเดือนอาจเกิดจากภาวะไข่ไม่ตก ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น มีการทำงานและการสร้างฮอร์โมนของต่อมใต้สมองผิดปกติ, ฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ, ฮอร์โมนเพศผิดปกติ, ความเครียด, การออกกำลังกายหนัก, การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเร็วหรือการลดน้ำหนักลงอย่างรวดเร็ว, ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเกิดได้จากอีกหลายสาเหตุ เช่น รังไข่เสื่อมหรือหยุดการทำงานก่อนวัย, การมีพังผืดในโพรงมดลูก ทั้งนี้ การทำ intermittent fasting (IF) เพื่อการลดน้ำหนัก ถ้าสาเหตุของการขาดประจำเดือนเกิดจากภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังที่มีสาเหตุหลักมาจากภาวะน้ำหนักเกินร่วมกับมวลไขมันในร่างกายสูง เมื่อลดน้ำหนักได้ตามเป้าหมายอาจทำให้ไข่กลับมาตกและประจำเดือนมาเป็นปกติได้จริง แต่ถ้ามีสาเหตุอื่นร่วมอาจจะไม่สามารถทำให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติได้ ดังนั้น ในสตรีที่มีภาวะขาดประจำเดือน หรือประจำเดือนมาผิดปกติ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อซักประวัติโดยละเอียด ตรวจร่างกาย และพิจารณาตรวจภายใน เจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และอัลตราซาวด์เพื่อประเมินมดลูกรังไข่ตามข้อบ่งชี้เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
สำหรับกลุ่มที่ไม่มีปัญหาสุขภาพที่ต้องการเริ่มใช้วิธี IF กรมอนามัย แนะนำว่า ควรปฏิบัติและมีข้อระมัดระวัง ดังนี้ 1.ผู้ที่เริ่มต้นให้อดอาหาร 12 ชั่วโมง โดยเลื่อนการกินมื้อแรกให้ครบ 12 ชั่วโมงจากมื้อสุดท้ายของวันก่อนหน้าแล้วค่อย ๆ เลื่อนออกไปทีละชั่วโมงในสัปดาห์ถัดไป 2.ควรเริ่มจากงดอาหารเช้า เพราะหากงดอาหารเย็น ตื่นขึ้นมาอาจจะมีอาการหิวได้ง่ายกว่า 3.สามารถออกกำลังกายในช่วงการทำ IF ได้ตามปกติ 4.ควรจัดสรรเวลาการอดอาหารให้เหมาะสมกับกิจกรรมประจำวัน โดยคำนึงถึงเวลาการทำงานเป็นหลัก 5.เมื่อเราเกิดความชำนาญมากขึ้นสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำ Fasting ได้ตามความเหมาะสม 6.ต้องบริโภคอาหารเพื่อให้ได้พลังงานและสารอาหารเพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ 7.ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ 8.หากไม่ไหว อย่าฝืน เพราะหากร่างกาย ยังไม่พร้อมก็อาจก่อให้เกิดผลเสียกับสุขภาพตามมาได้ และ 9.สภาพร่างกายของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ควรศึกษาข้อมูล อย่างละเอียดหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งตรวจร่างกายก่อนเสมอ
ด้านสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า การทำ IF ในบางรายอาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสม ควรเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น ของมัน ของทอด ของหวาน ขนมกรุบกรอบ ลดเค็มหรือโซเดียมให้น้อยลง ลดหวานโดยเฉพาะน้ำตาล เลือกอาหารที่มีแคลอรีต่ำ โปรตีนสูง เช่น ข้าวไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื่องจากมีไขมันน้อยและย่อยได้ง่าย หันมาเลือกเมนู ต้ม นึ่ง ย่าง และเพิ่มผัก ผลไม้เข้าไปในทุกมื้อจะช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามิน แร่ธาตุ ออกกำลังกายเป็นประจำ และดื่มน้ำเปล่าสะอาด รวมถึงพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อให้การดูแลสุขภาพเป็นพฤติกรรมสุขภาพที่ยั่งยืน
การทำ IF อดอาหารเพื่อลดน้ำหนักนั้น เป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพ แต่ควรศึกษาอย่างละเอียด เลือกหนทางที่เหมาะสมกับร่างกายของแต่ละบุคคล และไม่ฝืนจนเกินไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์สุขภาพดีอย่างยั่งยืน
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 3367 views