ภูเก็ตระอุ! บุคลากรสาธารณสุข รวมตัวทวงถาม สสจ.  21 พ.ย.นี้ หลังปัญหาเงินเสี่ยงภัยไม่เป็นธรรม พร้อมขอ ผู้บริหารสธ.ช่วยเหลือ หลังงบเสี่ยงภัยโควิดลงจังหวัดแล้ว 140 ล้าน แต่จ่ายให้ "แพทย์-พยาบาล" ครบ 7 เดือน ส่วนบุคลากรอื่นๆ ให้แค่ 1 เดือน อ้างงบแยกส่วนเป็นนโยบายกระทรวงฯ  ด้าน ปลัด สธ. ลั่นไม่เคยมีนโยบายเช่นนี้ การจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิดต้องเป็นไปตามเกณฑ์ เร่งถามพื้นที่เคลียร์ด่วน!

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2565 น.ส.พัสวี วิมลพัฒนา บุคลากรสาธารณสุขปฏิบัติงานโควิด-19 ด่านหน้า รพ.ในจังหวัดภูเก็ต ให้ข้อมูล Hfocus ว่า ขณะนี้เกิดความไม่เป็นธรรมในการจ่ายค่าเสี่ยงภัยแก่บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานโควิดมาตลอด โดยพบว่าหลังจาก นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้ข่าวว่า เงินค่าเสี่ยงภัยมาแล้วและจะมีการดำเนินการจ่ายตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 จนมาเดือนมกราคม ไปจนถึงมิถุนายน 2565นั้น ซึ่งล่าสุดทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขจัดสรรมายังจังหวัดภูเก็ตแล้ว 140 ล้านบาท แต่ปรากฎว่า มีการประชุมหารือร่วมกันของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ภูเก็ต ร่วมกับโรงพยาบาลในจังหวัด ผลคือ จ่ายค่าเสี่ยงภัยให้แก่แพทย์ พยาบาลก่อนจนครบ 7 เดือน ส่วนที่เหลืออย่างพนักงานกระทรวงฯ ผู้ช่วย ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าต่างๆ ให้ 1 เดือนเท่านั้น

"เมื่อเราได้รับข้อมูลเช่นนี้ จึงได้สอบถามไปทางสสจ. แต่ได้คำตอบว่า เงินค่าเสี่ยงภัยของแพทย์ พยาบาล อีกส่วนหนึ่ง ส่วนเงินค่าเสี่ยงภัยของกลุ่มพวกเรา ซึ่งปฏิบัติงานโควิดเช่นกันให้แยกส่วนทำให้ไม่สามารถจ่ายได้จนครบ ต้องรอเงินจากงบประมาณต่อไป ซึ่งเราถามไปว่าคนละส่วนอย่างไร ก็ตอบว่าเป็นการเบิกจ่ายคนละส่วน และเขาบอกว่า นี่เป็นนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสร้างความท้อแท้ให้เรามาก กลายเป็นว่าพวกเราเป็นฝ่ายสนับสนุน ทั้งที่เราทำงานเผชิญหน้ากับผู้ป่วยโดยตรง" บุคลากรสาธารณสุขปฏิบัติงานโควิด กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนหรือไม่ น.ส.พัสวี กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่เมื่อถามไปทางสสจ. ภูเก็ต กลับได้คำตอบแบบนี้ว่า งบคนละส่วน ส่วนนี้ต้องให้แพทย์ พยาบาล บุคลากรที่มีใบประกอบวิชาชีพก่อน ส่วนอื่นๆต้องรอต่อไป นี่คือนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ตนจึงไม่แน่ใจว่า กระทรวงฯ จะมีนโยบายที่แยกแบบนี้เลยหรือ เพราะที่ผ่านมาทราบข่าวที่ผู้บริหาร ทั้งท่านปลัดสธ. ท่านรองปลัดสธ. ก็ไม่เคยพูดแบบนี้ ตอนนี้บุคลากรในพื้นที่ท้อแท้ หมดขวัญกำลังใจกันมาก 

"ในวันพรุ่งนี้(21 พ.ย.) พวกเราส่วนหนึ่งจะไปรวมตัวเพื่อขอข้อมูลความเป็นธรรมกับทาง สสจ.ภูเก็ต ว่า ตกลงเรื่องนี้เป็นอย่างไร เพราะพอเราถาม รพ. ทางรพ.ก็จะบอกว่าได้รับจัดสรรมาจาก สสจ. แต่เมื่อถาม สสจ.ก็ได้คำตอบว่า เป็นนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุข ตอนนี้จึงสับสนว่า เราควรต้องฟังใคร หรือใครจะให้ข้อมูลกับคนทำงานในพื้นที่อย่างชัดเจนได้บ้าง" น.ส.พัสวี กล่าว 

** ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ถึงเรื่องดังกล่าวว่า มีการสื่อสารว่ากระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้จ่ายค่าเสี่ยงภัยแก่แพทย์ พยาบาล ผู้มีใบประกอบวิชาชีพก่อนนั้น...

โดย นพ.โอภาส กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง กระทรวงสาธารณสุขไม่เคยมีนโยบายเช่นนั้น เราให้จ่ายตามเกณฑ์ใครทำก็ได้รับ และต้องจ่ายตามนั้น อย่างไรก็ตาม ตนจะสอบถามทางภูเก็ตว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าน่าจะมาจากปัญหาการสื่อสารหรือไม่ เรื่องนี้ต้องสื่อสารให้ชัดเจน เพราะค่าเสี่ยงภัยจะมีเกณฑ์อยู่แล้ว จะมาเลือกจ่ายไม่ได้    เรื่องนี้มอบนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดสธ.ดูแล ซึ่งจะมีการสอบถามข้อมูล และให้มีการสื่อสารให้ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป

(ข่าวคืบหน้าเรื่องดังกล่าว บุคลากร สธ.ภูเก็ตแชร์ข้อมูลสื่อสารทำความเข้าใจ ค่าเสี่ยงภัยโควิด)

ข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

-สธ. ได้รับจัดสรรงบเงินกู้ค่าเสี่ยงภัยโควิดและค่าฉีดวัคซีนจากสำนักงบประมาณแล้ว กำชับเร่งเบิกจ่ายให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้

-กมธ.สาธารณสุข สภาฯ ติดตาม ก.พ. ทวงถาม 3 ประเด็น ส่วนใครมีปัญหาค่าเสี่ยงภัยร้องมาได้ทันที 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org