มสช. - สสส. - สช. เปิดวงถก! ยกเครื่อง ‘การพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปากระดับปฐมภูมิ’ พบปัญหาตั้งแต่วัยเด็ก-สูงวัย เน้นบูรณาการพลังเครือข่าย - กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น
วันที่ ๑๐ พ.ย. ๒๕๖๕ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมจัดงานเสวนา “การพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปากระดับปฐมภูมิ” ภายใต้การดำเนินโครงการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพช่องปากประเทศไทย ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมประมาณ ๖๐ คน
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ประธานเปิดงาน กล่าวว่า ระบบบริการสุขภาพช่องปากไม่ใช่แค่เรื่องบริการทันตกรรมเท่านั้น แต่มุ่งเน้นระบบปฐมภูมิ ซึ่งเป็นเป้าหมายของระบบสุขภาพที่มีความสำคัญ เพราะมีความใกล้ชิดกับปัญหาและประชาชน แต่ยังมีข้อจำกัดและโจทย์ท้าทายมาก ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา แม้ระบบสาธารณสุขไทยจะสามารถรับมือได้ดี แต่ยังมีช่องโหว่หรือจุดอ่อน ดังนั้น หากสามารถสร้างความเข้มแข็งทั้งการจัดการเชิงรุก-รับ มีระบบส่งต่อ ระบบวิชาการ จะทำให้ระบบสุขภาพไทยแข็งแรงขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เป็นจังหวะก้าวของการถ่ายโอน รพ.สต. ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดี และต้องได้รับการหนุนช่วยจากทุกภาคส่วน ที่สำคัญต้องให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นเจ้าของ
ทพญ.สุณี วงศ์คงคาเทพ ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการสนับสนุนการประสานและพัฒนาระบบสุขภาพช่องปากสำหรับประเทศไทย ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ว่า เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สถานการณ์ ช่องว่าง และระดมความคิดเห็น/ข้อเสนอต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปากที่พึงประสงค์ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพของประชาชน โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับท้องถิ่น ประชาชน และภาคเอกชน ซึ่งปัญหาสุขภาพช่องปากของไทย พบตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้สูงอายุ โดยสาเหตุสำคัญคือ (๑) การดูแลสุขภาพช่องปากไม่ถูกต้อง (๒) การดื่มนมที่มีส่วนผสมน้ำตาลของเด็ก (๓) ปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟันไม่เพียงพอ (๔) การสูบบุหรี่
วงเสวนาเปิดฉากในหัวข้อ “การพัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ”
โดย
ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย นายกิตติพงษ์ เกิดฤทธิ์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนใต้ ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.กองสาธารณสุขท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ฉายภาพใหญ่ว่า การถ่ายโอนภารกิจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นโอกาสดีที่ชาวบ้านจะได้มีแพทย์พยาบาลดูแล ร่วมกับพลังอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยสิ่งที่ต้องการคือ (๑) ข้อมูล รพ.สต. ที่ส่งต่อโรงพยาบาลได้ (๒) การให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินผ่านสายด่วน ๑๖๖๙ กับ อบจ. และ (๓) การส่งเสริมสนับสนุน อปท. “การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นต้องเป็นไปแบบภาคีเครือข่าย และให้ความเป็นอิสระภายใต้กติกากำลังทรัพยากรบนผลประโยชน์ร่วมของประชาชนในพื้นที่ สิ่งสำคัญต้องทำให้เกิด Heath Literacy แล้ว Financial Literacy และ Digital Literacy จะตามมาอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำไปให้เกิดสุขภาวะ...สร้าง รพ.สต. รอบรู้ สู่สังคมรอบคอบ”
ขณะที่ นพ.บัญชา ค้าของ ที่ปรึกษาพิเศษนายกองค์การส่วนจังหวัดภูเก็ต ยกกรณีตัวอย่างการขับเคลื่อน Phuket Health Sandbox โดยเน้นการจัดบริการให้ครอบคลุมด้วยรูปแบบที่เหมาะสมกับศักยภาพท้องถิ่น และมองว่าการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจะสามารถตอบโจทย์การสร้างการเข้าถึงบริการสุขภาพได้ “ความท้าทายที่ต้องคิดร่วมกันคือ การดูแลตัวเองแบบองค์รวม (Self Care) และเป้าหมายการบริการทันต กรรมคืออะไร ทุกคนสามารถเข้าถึงการคัดกรองได้หรือไม่...ท้องถิ่นเล็กรับผิดชอบดูแลประชาชนในพื้นที่ ไม่เฉพาะเรื่องสุขภาพช่องปากอย่างเดียว ซึ่งเรื่องยากที่สุดของท้องถิ่นคือ ไม่ง่ายที่จะทำอย่างไรให้เขาทำ จึงต้องเข้าใจว่าท้องถิ่นมีกระบวนการทำงานอย่างไร เพื่อนำไปสู่การออกแบบพัฒนาและขับเคลื่อนงาน บวกกับเอกชนเป็นกำลังสำคัญ มีสถาบันการศึกษาเข้ามาช่วย และภาครัฐให้การสนับสนุน”
ด้าน นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่มุ่งให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง และมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ข้อเสนอสำคัญคือ (๑) ต้องบูรณาการการดำเนินงานระบบสุขภาพปฐมภูมิ ในประเด็นผู้สูงอายุ NCDs และสุขภาพจิต โดยให้หน่วยงานส่วนกลางจัดทำแนวทางดำเนินงาน เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่ดำเนินงานได้ (๒) พัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนให้มีแพทย์ปฏิบัติงานในระบบสุขภาพปฐมภูมิอย่างยั่งยืน และ (๓) พัฒนากลไกการมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ให้เข้มแข็ง เช่น การจัดทำธรรมนูญสุขภาพหรือกฎกติการ่วม ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านร่วมกันคิดและสร้างขึ้นมา “ปัจจุบัน สธ. มีการปรับตัวการดำเนินงานให้รองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งปัจจุบันและอนาคต จะวัดผลการดำเนินงานระบบปฐมภูมิอย่างไร ความสำเร็จในพื้นที่เป็นอย่างไร เป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อ...รวมไปถึงการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. เพื่อสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำก็ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทาย”
พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร นายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นเวชศาสตร์ครอบครัวที่ถือเป็นศาสตร์และกระบวนการหนึ่งของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ บนฐานการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนและครอบครัว การไม่ซ้ำซ้อน และมีความเชื่อมโยงแต่ละระดับ ซึ่งการออกแบบระบบบริการมีหลายมิติที่ต้องคำนึงถึงและเชื่อมโยงกัน ไม่เฉพาะด้านเทคนิคบริการทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว เช่น หมอครอบครัว จิตวิทยา การทำงานกับชุมชน การส่งเสริมการมีส่วนร่วม การบริหารจัดการ ระบบข้อมูลข่าวสาร การเชื่อมโยง ฯลฯ “อย่าติดกับดักกรอบเดิมๆ หลายๆ อย่าง ต้องก้าวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และต้องมองแบบเป็นกลาง พยายามให้บริการปฐมภูมิที่เป็นอิสระและเชื่อมโยงได้ รวมถึงการประเมินผลและติดตามที่ยังเป็นจุดอ่อน ส่วนด้านกำลังคน อาจต้องมีวิธีบริหารบุคลากรสาธารณสุขแบบใหม่ที่ยืดหยุ่นได้มากขึ้น”
อนึ่ง การจัดเวทีเสวนาการพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปากระดับปฐมภูมิ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๑ พ.ย. ๒๕๖๕ โดยคณะทำงานจะนำข้อมูล ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปสรุปและวิเคราะห์ผล เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอต่อการขับเคลื่อนงานต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141
- 239 views