กรมสุขภาพจิต เร่งสนับสนุนการดูแลสุขภาพใจบุคลากรทางการแพทย์ : Health Workers, We care ผ่าน Mental Health Check In หลังพบว่าบุคลากรทางการแพทย์มีภาวะหมดไฟ (Burn-out) เพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ค่าเฉลี่ยร้อยละ 2.7 ปี พ.ศ. 2564 ค่าเฉลี่ยร้อยละ 4.7 และพุ่งสูงถึงร้อยละ 12.2 ในปี 2565 นี้
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยาวนานกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บุคลาการทางการแพทย์ซึ่งต่างมีความมุ่งมั่นทำงานช่วยเหลือดูแลสุขภาพประชาชนอย่างไม่หยุดหย่อนมาโดยตลอด มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะมีภาวะหมดไฟ (Burn-out) ดังปรากฎผลการประเมินสุขภาพจิตด้วย Mental Health Check In เพิ่มสูงขึ้น ในปีพ.ศ. 2565 ค่าเฉลี่ย 3 ไตรมาส อยู่ที่ร้อยละ 12.2 มีสาเหตุมาจากภาระความรับผิดชอบในภาวะวิกฤตของผู้ป่วยและจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน
สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความเหนื่อยล้าของจิตใจในการดูแลตนเองให้สามารถควบคุมอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรมที่เหมาะสม ในทุกสถานการณ์อย่างภาวะปกติได้ จึงอาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการสื่อสารและศักยภาพการทำงานที่อาจจะลดลง ดังนั้น หน่วยงานสาธารณสุขควรตระหนักและให้ความสำคัญ เรื่องการดูแลสุขภาพใจบุคลากรทางการแพทย์ โดยต้องช่วยกันสอดส่องดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน คัดกรองสุขภาพใจอย่างสม่ำเสมอด้วย (MHCI) จัดให้มีเวลาและสถานที่ผ่อนคลายให้กับตนเองและมีเวลาให้ครอบครัว
พร้อมปรับสภาพแวดล้อมให้สะอาดน่าอยู่น่าทำงาน เปิดโอกาสให้มีการแสดงออกและทำสิ่งที่สนใจเป็นพิเศษนอกเหนือจากการทำงานปกติ ให้อิสระและเคารพการตัดสินใจในการรับงานที่ไม่ขัดต่อมาตรฐานในการรักษา* รวมทั้งสร้างสมดุลชีวิตและการทำงาน (Work-life balance) เพื่อสุขภาพกายและจิตที่ดีขึ้น ซึ่งหากพบบุคลากรทางการแพทย์ที่มีภาวะเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตควรให้ได้รับการดูแลรักษา
ด้าน นพ.ศุภเสก วิโรจนาภา หัวหน้าสถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสุขภาพจิตชุมชน กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูล (MHCI) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา พบว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่สุด หรือประมาณ 1 ใน 8 คน ที่มีภาวะหมดไฟ (Burn-out) สอดคล้องจากการศึกษาของต่างประเทศ พบว่า อาชีพ ที่มีภาวะหมดไฟสูงที่สุด คือ อาชีพแพทย์ * ทั้งนี้ ยังพบว่าในบางพื้นที่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มีสถานการณ์ภาวะหมดไฟ (Burn-out) เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่องเป็นพิเศษ เช่น ในสามเดือนแรก (เดือน มกราคม - มีนาคม) มีภาวะหมดไฟ (Burn-out) ร้อยละ 9.1 และเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน เมษายน – มิถุนายน เป็น ร้อยละ 14.4
** และล่าสุด ช่วงเดือน กรกฎาคม – กันยายน ยังสูงต่อเนื่องถึงร้อยละ 18.4 และจากสถานการณ์ทั่วประเทศ พบบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาครัฐ เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ทั้งสิ้นจำนวนไม่ต่ำกว่า 910 ราย ได้รับการดูแลติดตามต่อเนื่องในระบบสาธารณสุขแล้ว จำนวน 896 ราย คิดเป็นร้อยละ 98 ของผู้มีความเสี่ยง
กรมสุขภาพจิตขอให้สังคมเข้าใจและส่งกำลังใจให้บุคลากรสาธารณสุข ดูแลสุขภาพใจ และร่วม “วัดใจ เติมพลัง สังคมมีสุข” ด้วยการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตทางคิวอาร์โคด MHCI ผ่านไลน์แอพลิเคชั่นพร้อมรับทราบผลและคำแนะนำเบื้องต้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มใจและอารมณ์ด้วยตนเอง และยังสร้างวัคซีนใจให้สังคมมีสุข ป้องกันภาวะหมดไฟ ให้ชาวสาธารณสุข ร่วมเติมพลังและส่งกำลังใจ เพื่อดูแลสุขภาพคนไทยไปด้วยกันHealth Workers, We care
(*) ที่มา https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7604257/ Burnout in Healthcare Workers: Prevalence, Impact and Preventative Strategies ค้นพบวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565
- 2502 views