เมื่อโลกต้องตกอยู่ภายใต้วิกฤติ COVID-19 ที่ทำให้หลายกิจการต้องหยุดนิ่งเพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อ แม้ในที่ที่คิดว่าปลอดภัยที่สุด ก็อาจเป็นที่ที่อันตรายที่สุด ในเมื่อระบบกรองอากาศยังคงใช้เพียง "กรองฝุ่น" และ "ดักเชื้อโรค" เท่านั้น
มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ทำหน้าที่ "ปัญญาของแผ่นดิน" ขยายขอบเขตการวิจัยเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมกรองอากาศ จากเดิมที่ใช้เพื่อกรองฝุ่นในโรงงานอุตสาหกรรมจนได้ผลเป็นที่ประจักษ์ และขยายประโยชน์ออกไปในวงกว้าง จนปัจจุบันได้ยกระดับสู่แผ่นกรองเคลือบสารกำจัดเชื้อโรค เพื่อคนไทยห่างไกลจากเชื้อโรค
รองศาสตราจารย์ ดร.ประมุข โอศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล่าถึงความสำเร็จที่ผ่านมาจากการคิดค้นนวัตกรรมชุดกรองฝุ่นและระบบการทำงานของชุดกรองฝุ่น ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 12926
โดยได้ร่วมกับ นายสำเริง สาลีวัฒนพงศ์กุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ และสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ใช้เทคนิค "การดักมลสาร ด้วยมลสาร" ที่สามารถใช้กรองฝุ่นในโรงงานอุตสาหกรรมได้ แม้จะเป็นฝุ่นขนาดเล็ก โดยอาจใช้ร่วมกับถุงกรองด้วยก็ได้ และมีความยินดีหากสถานประกอบกิจการดำเนินการป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นไม้ เพื่อแรงงานไทยรอดพ้นจากโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal cancer) ที่คอยคุกคามสุขภาวะของผู้ที่ต้องทำงานอยู่กับฝุ่นโดยยากที่จะหลีกเลี่ยง
ผลงานอีกเรื่องคือ "การเคลือบแผ่นกรองด้วยซิลเวอร์ซีโอไลต์" เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ จากการพบว่าการกรองด้วยแผ่นกรองอย่างเดียวเป็นการ "ดักเชื้อโรค" ซึ่งเป็นเพียงการ "กั้นคนออกจากเชื้อโรค" แต่เพียงชั่วคราว โดยเมื่อผู้วิจัยได้ทดลองนำเอาเชื้อจุลชีพที่อยู่บนแผ่นกรองมาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ พบว่ายังคงมีชีวิต สามารถเจริญเติบโต และพร้อมแพร่กระจายได้ต่อไป
ผู้วิจัยจึงได้ร่วมกับ อาจารย์นัฐชานนท์ เขาราธ อาจารย์ประจำภาควิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คิดหาทางออกโดยนำซิลเวอร์ซีโอไลต์ ซึ่งมีฤทธิ์ในการกำจัดเชื้อโรค มาเคลือบที่แผ่นกรอง
โดยพบว่าสามารถกำจัดเชื้อโรค "สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส" (Staphylococcus aureus) ซึ่งเป็นเชื้อโรคติดต่อได้อย่างเห็นผล ช่วยตัดกังวลเรื่องการติดเชื้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลในด้านสุขอนามัยเป็นพิเศษ เช่น ตามโรงพยาบาล หรือสถานดูแลเด็กอ่อน เป็นต้น
โดยเป็นผลงานที่ได้รับทุนวิจัยและนวัตกรรมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ถึงผลการวิจัยอันเป็นที่ยอมรับแล้วในวารสารวิชาการ และได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้แล้ว รอการอนุมัติ เพื่อขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ ในฐานะผลงานนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดลที่จะสร้างชื่อ และคุณประโยชน์ได้ต่อไปในวงกว้าง
และในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.ประมุข โอศิริ กล่าวให้ความเชื่อมั่นทิ้งท้ายว่า ขอเพียงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมคำนึงถึง "แรงงานไทย" อันเป็นฟันเฟืองสำคัญของห่วงโซ่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศชาติ ให้มีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย และมีสุขภาวะที่ดี เช่นเดียวกับพี่น้องชาวไทยทุกคน ทีมวิจัยพร้อมเดินหน้าทำงานวิจัยอย่างเต็มที่
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
- 136 views