ไลน์หลุด! การเงิน รพ. แถบอีสานใต้ให้บุคลากรเบิกเงินสดค่าเสี่ยงภัยโควิด -19 ส่งคืนรพ. อ้างเก็บไว้ทำ OD “อนุทิน” ลั่นเป็นการกระทำที่ผิด เร่งตรวจสอบ มอบปลัดสธ.คนใหม่ลุยตั้งผู้ดูแล

 

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี   และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีบุคลากรสาธารณสุขถูกหักเงินค่าเสี่ยงภัย อ้างว่าเป็นการหัก หรือให้เบิกเป็นเงินสดส่งเข้าโรงพยาบาล ว่า หากเป็นเช่นนี้คือเรื่องของคนเจตนาไม่ดี ถ้าดีที่สุดคือต้องทำตามกฎระเบียบ ระเบียบราชการคำว่าเงินสดไม่มี ทุกอย่างต้องมีใบเสร็จ ทุกอย่างต้องมีใบแจ้งหนี้ มีขั้นตอนที่ถุกต้อง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะทำ ซึ่งทุกปี กระทรวงสาธารณสุขมีการตรวจสอบ และไล่ข้าราชการ หรือพนักงานที่มีการกระทำเช่นนี้ออกจากราชการ ทุกครั้งที่มีการกระทำส่อไปในทางทุจริตเกิดขึ้น ซึ่งตนเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.) แต่ละการประชุมจะมีเรื่องการลงโทษข้าราชการปฏิบัติทุจริตต่อหน้าที่เยอะมาก 

 

เมื่อถามว่าจากนี้จะมีการสั่งการให้ตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่ เนื่องจากส่วนมากที่ถูกเรียกเก็บเงินเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยไม่กล้าเปิดเผยตัว นายอนุทิน กล่าว่า เรามีการตรวจสอบตลอดเวลา ไม่ต้องห่วง ทุกวันนี้มีระบบการสื่อสารที่ทันสมัย ไม่มีใครปิดบังความผิดตัวเองได้ 

 

เมื่อถามย้ำว่าจากนี้จะมีการมอบหมายรองปลัดกระทรวงคนไหนเข้ามาตรวจสอบค่าเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงานโควิด-19 หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้แล้วแต่ท่านปลัดสธ.คนใหม่ (นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ) ซึ่งเริ่มทำงานวันที่ 3 ต.ค. 2565 นี้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ในสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ข้อความจากไลน์กรุ๊ปบุคลากรในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (อีสานใต้) ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 124 บัญชีรายชื่อ ระบุถึงปัญหาการเบิกจ่ายเงินค่าเสี่ยงภัยผู้ปฏิบัติงานโควิด-19 โดยเผยแพร่ข้อมูลว่า งานการเงินของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ได้มีการเชิญเจ้าหน้าที่ประมาณ 20 คนเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังแนวทางการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด ในวันที่ 28 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา แต่ปรากฎว่า มีเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งสอบถามในไลน์กรุ๊ปดังกล่าว เพื่อขอคำชี้แจงเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนโควิด ที่พบว่า มีการตัดเงินค่าเสี่ยงภัยของบางวิชาชีพ ซึ่งไม่เป็นธรรม โดยระบุว่า

 

“ขอคำชี้แจงเรื่องค่าตอบแทนโควิด....เนื่องจากค่าตอบแทนขั้นพื้นฐานจำนวน 8,000 บาท ทำไมต้องตัดของพยาบาลและผู้ช่วยที่ทำงานโรงพยาบาลสนาม และ Cohort Ward เมื่อเป็นค่ากลางพื้นฐาน ซึ่งทุกคนในโรงพยาบาลต้องได้เท่ากัน คือ 8,000 บาท นอกเหนือจากนั้น ใครมีงานอะไรเพิ่มเติมก็ต้องเพิ่มค่าตอบแทนตามที่ปฏิบัติงานจริง”

 

ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่าง ถ้าตัวเองไปรพ.สนาม 15 วัน เบิกให้ 15,000 บาท บวกรวมกับค่าตรวจ ARI(คลินิกทางเดินหายใจ) 6,000 บาท เทียบกับเจ้าหน้าที่ พยาบาลของเราที่เวรลอย ถัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท กับน้องอีกคนที่ไป รพ.สนาม 21 วัน เบิก 21,000 +1,000 บาท (ค่าดูแล ARI)  ซึ่งต้องเกิดการเปรียบเทียบค่าตอบแทนอยู่แล้ว ในขณะที่คนที่กลุ่มงานอื่นได้ค่าตอบแทนพื้นฐาน 8,000 บาท แต่มาตัดเงินคนในกลุ่มการพยาบาล ความยุติธรรมอยู่ที่ไหนกัน” พร้อมติดแฮชแท็ก ##เราทำงานเราก็ต้องได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับงานที่ทำ

 

แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมามีทุกครั้งที่ออกมาจะถูกหักจำนวนหนึ่งเข้ารพ. รอบแรกถูกหักไปคนละ 5,000 บาท  รู้ๆ กันแต่ทำอะไรไม่ได้ แจ้งว่าเป็นการหักเงินเพื่อเตรียมไว้สำหรับการไป OD หรือการออกไปสัมมนานอกสถานที่ ทั้งๆ ที่ผ่านมาไม่เคยมีการหักเงิน หรือเก็บเงินจากเจ้าหน้าที่รพ.ในการไป OD แต่อย่างได ซึ่งล่าสุดตามรายชื่อใหม่ที่ออกมานั้นเป็นการระบุให้เบิกเป็นเงิดสดออกมาให้รพ.

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : ปลัดสธ. สั่ง สสจ.ศรีสะเกษ ตรวจสอบปมไลน์หลุดค่าเสี่ยงภัย รพ.แถบอีสาน ด้าน นพ.สสจ. เผยข้อมูลอีกมุม