สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ “ณ ย่านเมืองเก่า ถนนถลาง จังหวัดภูเก็ต” เยี่ยมชมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงแนวทางการจัดการตนเองของชุมชนเมืองเก่า ตลอดจนการบริหารจัดการถนนคนเดินโดยชุมชน และการลุกขึ้นมาเขียนกติกาชุมชนเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างผาสุก พร้อมผลักดันกฎระเบียบให้เป็น “ธรรมนูญชุมชน” ฉบับแรกของภูเก็ต เพื่อความยั่งยืน

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ “ ณ ย่านเมืองเก่า ถนนถลาง จังหวัดภูเก็ต ”  ร่วมเวทีเสวนาเรื่อง “เขียนกติกาชุมชน เขียนนโยบายประชาชน เขียนอนาคตของตัวเอง” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงแนวทางการจัดการตนเองของชุมชนเมืองเก่า ตลอดจนการบริหาร “จัดการย่านเมืองเก่า-ถนนคนเดินโดยชุมชน” และการลุกขึ้นมาเขียนกติกาชุมชนเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างผาสุก วัฒด้านประธานชุมชนฯ ระบุ กฎระเบียบฯ ช่วยสร้างความผาสุกในการอยู่ร่วมกัน เพื่อความยั่งยืนต้องยกระดับเป็นเทศบัญญัติ ขณะที่ผู้แทนสมัชชาสุขภาพจังหวัด ยืนยัน พร้อมผลักดันกฎระเบียบให้เป็น “ธรรมนูญชุมชน” ฉบับแรกของภูเก็ต

 

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพ เป็นหนึ่งในเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาและจัดการความขัดแย้งด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน หรือหากอธิบายโดยง่ายก็คือข้อตกลงร่วม หรือกติการ่วม ที่คนในพื้นที่นั้นๆ ช่วยกันกำหนดและร่วมกันบังคับใช้โดยไม่ละเมิด ซึ่งถือเป็นอำนาจอ่อน (Soft Power) ที่อาศัยความร่วมมือและมาตรการทางสังคมของคนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันรักษาและปฏิบัติตาม

ทั้งนี้ ธรรมนูญสุขภาพสามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ระดับใหญ่ๆ ประกอบด้วย ธรรมนูญสุขภาพระดับชาติ และธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ ซึ่งมีขั้นตอนการจัดเริ่มจาก ๑. แสวงหาคณะทำงาน ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน โดยการประชุมหารือกันในระดับชุมชน สร้างความรู้ความเข้าใจ ๒. คณะทำงานของชุมชนรวบรวมข้อมูลตามความต้องการของประชาชนทั้ง ๔ มิติ ได้แก่ กาย ใจ สังคม ปัญญา ๓. นำความต้องการเหล่านั้นมาสังเคราะห์ ๔. คืนข้อมูลผ่านเวทีประชาชน ๕. ยกร่างธรรมนูญสุขภาพ ๖. นำร่างดังกล่าวมารับฟังความคิดเห็น หาข้อตกลงร่วมอีกครั้ง และจัดทำประชาพิจารณ์รับรองก่อนประกาศใช้

“สช. จะสนับสนุนสมัชชาสุขภาพจังหวัด ซึ่งมีนโยบายสาธารณะที่แตกต่างหลากหลายตามบริบทพื้นที่ และสามารถเชื่อมโยงบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ เครือข่ายกลไกต่างๆ ในพื้นที่ ได้แสดงบทบาทการเป็นพื้นที่กลาง พัฒนาและขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างสุขภาวะในระดับจังหวัด เช่นเดียวกับประเด็นร่วมในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ผ่านเครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ หรือธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพของประเทศ” นพ.ประทีป กล่าว

 

นายดอน ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต เปิดเผยระหว่างการล้อมวงพูดคุยหัวข้อ “เขียนกติกาเมืองเก่า: ความผาสุกที่ทุกคนเป็นเจ้าของ” ตอนหนึ่งว่า โซนเมืองเก่าภูเก็ต (Phuket Old Town) ซึ่งครอบคลุมถนนถลางและพื้นที่รอบข้าง นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรราว ๓๕๐ หลังคาเรือน กว่า ๑,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้ราว ๖๐% เป็นคนท้องถิ่น ขณะที่อีกส่วนเป็นคนนอกพื้นที่เช่าอาศัยอยู่ระยะยาว

 

นายดอน กล่าวว่า เมื่อถนนถลางและชุมชนย่านเมืองเก่าได้รับความนิยม จึงมีคนจากทั่วทุกหัวระแหงเดินทางเข้ามาด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน นำมาซึ่งปัญหาที่หลากหลาย อาทิ นักท่องเที่ยวไม่เคารพสถานที่ การใช้เสียงดังรบกวนผู้เฒ่าผู้แก่ ปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม คนในชุมชนขาดความสามัคคี-ขาดเอกภาพ การขึ้นป้ายโฆษณาอย่างระเกะระกะ ไม่เป็นระเบียบ ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ทำให้ในปี ๒๕๖๑ คนในชุมชนจึงได้รวมตัวกันเพื่อกำหนดกติกาการอยู่ร่วมกัน หรือ “กฎระเบียบชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต พ.ศ.๒๕๖๑” ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการชุมชน

สำหรับเนื้อหาของกฎระเบียบชุมชนฯ ฉบับนี้ มีการกำหนดแนวทางกติกาต่างๆ อาทิ มาตรการด้านความปลอดภัย การอนุรักษ์มรดก ศิลปวัฒนธรรม เช่น ขอให้มีการแจ้งและพิจารณาร่วมกันล่วงหน้าก่อนดำเนินการก่อสร้าง ปรับปรุง ต่อเติม รื้อถอน หรือกระทำการใดๆ กับอาคารในชุมชน กติกาการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การกำหนดสถานที่และเวลาในการวางถุงขยะ การลดใช้โฟม พลาสติก เป็นต้น ตลอดจนแนวทางการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกระดับกฎระเบียบชุมชนฯ ที่เขียนไว้ในปี ๒๕๖๑ ให้กลายเป็น “ธรรมนูญย่านเมืองเก่าภูเก็ต” ซึ่งจะมีกระบวนการที่เข้มข้นขึ้น และในอนาคตก็จะผลักดันเนื้อหาหรือสาระสำคัญในธรรมนูญฯ ให้กลายเป็นเทศบัญญัติ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก

 

นายสมยศ ปาทาน ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต กล่าวว่า หนึ่งในปัญหาของย่านเมืองเก่าภูเก็ต คือปริมาณนักท่องเที่ยวที่เกินศักยภาพการรองรับของพื้นที่ ตามมาด้วยจำนวนขยะที่มากถึงประมาณวันละ ๓.๒ ตัน อย่างไรก็ตามนอกจากการวางกฎกติกาแล้ว ชุมชนก็ได้พยายามเพิ่มนวัตกรรมการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการลดบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง การนำวัสดุธรรมชาติมาใช้เป็นแพ็คเกจจิ้งเพิ่มมูลค่า หรือการใช้ถังขยะใบไม่ใหญ่ แต่เพิ่มความถี่ในการขนย้ายออกนอกพื้นที่ เพื่อให้เมืองดูสวยงามและสะอาดมากขึ้นแทน

 

“ถ้าเมืองมีการจัดการ เมืองก็จะสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง อย่างเมืองเก่าภูเก็ตเราใช้การท่องเที่ยวมาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดการของชุมชน เพื่อตอบโจทย์ทั้งปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจ การทิ้งที่อยู่อาศัย การทิ้งบ้านเรือนให้ทรุดโทรม ตัวอย่างเช่นการอนุรักษ์อาคารเก่าที่มีอยู่ มีการฟื้นฟู กำหนดการใช้สีที่ถูกต้อง พอคนอื่นเขาเห็นว่าย่านเมืองเก่ามีการจัดการ ภาคธุรกิจเอกชนที่จะเข้ามาเขาก็พยายามปรับตัวให้เหมือนกับชุมชน จัดการทำป้าย ทำอะไรตามรูปแบบที่ไม่ขัดกับบ้านเมืองของเรา” นายสมยศ กล่าว

นายสมยศ กล่าวอีกว่า ยังมีตัวอย่างกรณีที่บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ เตรียมเข้ามาตั้งสาขาร้านสะดวกซื้อภายในพื้นที่ย่านเมืองเก่า แม้จะมีการวางแผนปรับรูปแบบให้ถูกต้อง แต่ชาวชุมชนก็ได้แสดงเจตจำนงค์ในการขอให้ออกไปตั้งในพื้นที่รอบนอกแทน เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดภาพของปลาใหญ่กินปลาเล็ก ที่ร้านค้าเดียวขายทุกอย่างแทนร้านอื่นๆ บนถนนไปหมด และทำลายบริบทความเป็นเมืองเก่าที่ทุกคนร่วมกันรักษาเอาไว้ จนบริษัทเกิดความเข้าใจและยกเลิกไปในที่สุด

 

ขณะที่ นายเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว สมัชชาสุขภาพจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับสมัชชาสุขภาพจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกการสร้างพื้นที่กลางเพื่อรวมพลังภาคประชาชน รวมทั้งภาคส่วนอื่นๆ ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ได้มีการเชื่อมประสานและหนุนเสริมแนวคิดในการสร้างนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนรวม เข้าไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างเช่นในส่วนของย่านเมืองเก่าภูเก็ต ก็กำลังเตรียมที่จะมีการทบทวนกฎระเบียบชุมชนฯ เดิม เพื่อจัดทำเป็น “ธรรมนูญชุมชนฉบับแรกของจังหวัด” และเป็นตัวอย่างรูปธรรมของการร่างข้อตกลงโดยชุมชนให้กับพื้นที่อื่นๆ

 

“การใช้ธรรมนูญเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาต่างๆ จะเป็นตัวอย่างไปสู่พื้นที่อื่นๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ ต.วิชิต ที่กำลังมีการขับเคลื่อนเรื่องของการจัดการขยะหลากหลายแนวทาง ทั้งการรีไซเคิล การรับซื้อน้ำมันเก่า หรือการจัดการเศษวัสดุขยะอินทรีย์ หรืออย่างพื้นที่ ต.รัษฎา ที่ก็กำลังสนใจขับเคลื่อนเรื่องของธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ ดังนั้นธรรมนูญจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยยกระดับสุขภาพ สุขภาวะของชาวภูเก็ตให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้” นายเจริญ กล่าว

นายเจริญ กล่าวอีกว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา สมัชชาสุขภาพจังหวัดภูเก็ต ยังได้เป็นกลไกหนึ่งที่ร่วมแก้ไขปัญหาผลกระทบจากนโยบาย “Phuket Sandbox” ที่ตั้งเป้าฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศ แต่ก็ได้สร้างความสับสนปั่นป่วนเกี่ยวกับมาตรการ รวมทั้งผลกระทบต่อผู้คนในแขนงอาชีพต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมา โดยสมัชชาฯ ได้เป็นพื้นที่กลางในการสำรวจความเข้าใจ ข้อกังวลจากภาคส่วนต่างๆ และส่งข้อเสนอไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนมาตรการ จนท้ายสุดได้รับการเสนอให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในกลไกของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด