ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา เปิดเผยว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งผลิตนักวิจัยด้านโรคอุบัติใหม่ แม้สถานการณ์การผลิตนักวิจัยด้านโรคอุบัติใหม่ในปัจจุบันจะยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ในอนาคตยังมีข้อจำกัดหลายด้านที่ต้องคำนึงถึง
“การระบาดที่จะเป็นปัญหาจริงๆ ก็คือไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะมีวงจรประมาณ 20-40 ปีครั้งหนึ่ง แล้วทุกครั้งที่มันเกิดใหม่ เราก็จะตามได้จากอาจารย์ที่อายุ 60 70 ปีขึ้นไปว่าสมัยก่อนรับมือกันอย่างไร ตั้งแต่ไข้หวัดนกมาก็เริ่มเปลี่ยนไป คือมันถี่ขึ้นเยอะ มีซาร์ส มีโรคเมอรส์ มีอีโบลา แล้วก็มาโดนจริงๆ ก็คือ Covid-19 เพราะฉะนั้น มันก็เป็นไปได้ว่า วงจรตอนนี้ขยับขึ้นมาเป็นทุก4- 5 ปี ถ้าคนของเราแน่นและแม่นก็จะไม่โกลาหลมาก หากสามารถแจ้งรัฐบาลได้เลยว่าโรคนี้กำลังมาและเรามีบุคลากรรองรับไม่ต้องห่วง เราจัดการรับมือกับความโกลาหลได้”ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ถ้ามองว่านักวิจัยทางด้านจุลชีวะเหมือนกับการทำสงคราม ก็ต้องมีเป้าหมายว่าจะรับมือกับสงครามนี้ได้กี่ครั้ง ยกตัวอย่างเช่นโควิด-19 ระบาดอยู่ฝีดาษลิงก็มา แล้วมีกำลังคนเพียงพอทำ 2 เรื่องพร้อมกันหรือไม่ ต้องตั้งเป้าว่าอย่างน้อยต้องพอรับมือ 2 เรื่อง คือมีบุคลากรชุดแรกไปทำโควิด-19 และมีคนเหลือชุดที่ 2 เผื่อไว้สำหรับทำเรื่องฝีดาษลิงในด้านต่างๆ เพราะฉะนั้นจำนวนคนน่าจะต้องมีเป็นหลักร้อยซึ่งปัจจุบันยังมีอยู่ แต่ก็มีความกังวลเท่านั้นว่า ถ้าไม่มีการวางแผนผลิตบุคบากรด้านนี้ ประกอบกับไม่มีผู้สนใจและใช้ความพยายามมากพอ จำนวนก็อาจจะค่อยๆ ลดลง
รองผู้อำนวยการสวทช.กล่าวว่า การวางแผนผลิตนักวิจัยด้านนี้ในอนาคต จำเป็นที่จะต้องดำเนินการและเตรียมการหลายด้านไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะการดึงดูดนักเรียนให้มาสนใจเรียนสาขานี้ น่าจะมีอยู่ 2-3 เรื่อง เช่นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะเป็นที่ทำงานสำหรับนักวิจัยที่เรียนจบใหม่ๆ เช่นห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 ห้องแลปสำหรับพัฒนาวัคซีน ห้องแล็บสำหรับพัฒนาชุดตรวจ พัฒนายาเป็นต้น เมื่อเกิดโรคอุบัติใหม่ก็จะมีคนทำงานที่พร้อมรับมือ เรื่องที่ 2 คือ ต้องมีกิจกรรมสนับสนุน ต้องมีเงินทุนสำหรับให้ไปทำวิจัย ในช่วงที่ผ่านมาตลอด 20 ปี สวทช.เป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนี้ แต่ละปีมีงบประมาณหลักร้อยล้าน เพื่อสนับสนุนให้อาจารย์ทำงาน ตอนนี้ สวทช.ก็เปลี่ยนบทบาท ก็ไม่ค่อยแน่ใจนักว่าต่อไปหน่วยงานที่จะมาทำเรื่องนี้เป็นใคร อันที่จริง ก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนเลยที่ประกาศตัวว่าจะเป็นผู้สนับสนุนหลักกิจการเรื่องโรคอุบัติใหม่ ทั้งที่ควรจะมีหน่วยงานที่ประกาศเจตนารมณ์ว่าเราจะสนับสนุนงานวิจัยเรื่องโรคอุบัติใหม่ต่อเนื่องไปในอนาคต อันนี้มีความจำเป็นมาก
“ความจริงเราก็เคยคุยกับกรมควบคุมโรค ผมก็จะงงๆ นิดหน่อย คือ ทุกประเทศทั่วโลก กรมควบคุมโรค เขาจะมีห้องปฏิบัติการของตัวเอง มีพนักงานที่เป็นนักจุลชีววิทยาที่ดูแลเรื่องโรคอุบัติใหม่ด้วยตัวเอง ทุกประเทศเลย รวมทั้งประเทศจีน สหรัฐอเมริกา แต่ประเทศไทยไม่มี คือตามโครงสร้าง กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยห้องปฏิบัติการต้องอยู่ในกรมวิทยาศาสตร์ คือ ได้ตัวอย่างมาต้องไปส่งแล็บกรมวิทย์ ส่วนกรมวิทย์จะทำหรือไม่ทำ กรมควบคุมโรคก็จะไปบังคับไม่ได้ กรมควบคุมโรคก็เลยต้องมาพึ่งมหาวิทยาลัย” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
- 70 views