มีการจัดอันระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลกหลายสำนัก เช่น ดัชนีการดูแลสุขภาพของนิตยสาร CEOWorld มีมาตรฐานการวัดเอาไว้ว่า "(ดัชนีนี้) คือการวิเคราะห์ทางสถิติของคุณภาพโดยรวมของระบบการดูแลสุขภาพ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ (แพทย์ เจ้าหน้าที่พยาบาล และผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพอื่นๆ) ค่าใช้จ่าย (USD ต่อปีต่อหัว) คุณภาพ ความพร้อมของยาและความพร้อมของรัฐบาล”(1) ในการจัดอันดับของ CEOWorld พบว่าประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลกคือ เกาหลีใต้
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกาหลีใต้ติดอันดับระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลก ในปี พ.ศ. 2558 เกาหลีใต้ติดอันดับที่หนึ่งในกลุ่มประเทศ OECD (กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว) ด้านการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ และนอกจากนี้ ในด้านความพึงพอใจด้านการรักษาพยาบาลอยู่ในกลุ่มที่สูงที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเกาหลีใต้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นระบบการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเป็นอันดับ 2 โดยสำนักข่าว Bloomberg เมื่อปี พ.ศ. 2559
ทำไมเกาหลีใต้ถึงดีแบบนี้? เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปดูเส้นทางของระบบสาธารณสุขเกาหลีใต้กันก่อน
หลังสงครามเกาหลีสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2496 โครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์และระบบการดูแลสุขภาพของเกาหลีใต้จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษทั้งจากรัฐบาลเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของเกาหลีใต้ เพื่อช่วยให้เกาหลีกลับมายืนได้อีกครั้ง มหาวิทยาลัยมินนิโซตาของสหรัฐอเมริกาและมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลจึงได้เปิดตัว "โครงการมินนิโซตา" ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2498 ถึง พ.ศ. 2504 โครงการนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพชาวเกาหลีใต้คุ้นเคยกับระเบียบวิธีทางการแพทย์และปลูกฝังคลื่นลูกใหม่ของผู้นำด้านสุขภาพ นอกจากนี้ยังเพิ่มความรู้สาธารณะเกี่ยวกับสุขอนามัยที่เหมาะสมและการจัดโรงพยาบาลโดยแผนก เนื่องจากความสำเร็จที่ได้รับ โครงการมินนิโซตาได้รับการรับรองด้วยการผลักดันอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพของเกาหลีให้กลายเป็นระบบอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่ระบบประกันสุขภาพที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง มันเริ่มในเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2506 เกาหลีใต้ได้ใช้กฎหมายประกันสุขภาพฉบับแรก ทำให้บริษัทสามารถให้การประกันสุขภาพโดยสมัครใจแก่พนักงานได้ จากนั้นในปี พ.ศ. 2520 ได้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการประกันสุขภาพ ประธานาธิบดี พักจองฮี ยังได้ออกคำสั่งให้ประกันสุขภาพพนักงานในบริษัทที่มีพนักงานตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป และแนะนำโครงการ Medical Aid Program ซึ่งให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้มีรายได้น้อย จากนั้นจึงดำเนินการประกันให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐในปี พ.ศ. 2522 และบุคคลที่ประกอบอาชีพอิสระในปี พ.ศ. 2524 ความคุ้มครองจะยังคงขยายตัวต่อไป และในเวลาเพียง 12 ปี ในปี พ.ศ. 2532 การประกันสุขภาพแห่งชาติ (NHI) ได้ขยายไปทั่วประเทศ ทำให้มีการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับพลเมืองทุกคน
ในปี พ.ศ. 2543 บริการประกันสุขภาพแห่งชาติ (NHIS/Gukmin Geongang Boheom) ก่อตั้งขึ้นเพื่อรวมการประกันสุขภาพทั้งหมดเข้าเป็นบริษัทประกันสุขภาพแห่งชาติแห่งเดียวในปี พ.ศ. 2549 ประมาณ 96.3% ของประชากรทั้งหมดของเกาหลีใต้อยู่ภายใต้โครงการประกันสุขภาพแห่งชาติ (พนักงานบริษัทมีอัตราการประกัน 57.7%, ผู้ประกันตนเอง 38.6%) ในขณะที่ส่วนที่เหลือ 3.7% ของประชากรได้รับการคุ้มครองโดยโครงการช่วยเหลือทางการแพทย์ ( Medical Aid Program) (2)
ระบบประกันสุขภาพของเกาหลีใต้ทำงานอย่างไรและได้เงินทุนมาจากไหน?
ระบบประกันได้รับทุนจากการลงเงินประกันโดยผู้ประกันตน เงินอุดหนุนจากรัฐบาล และภาษีสรรพสามิตยาสูบ โดยบรรษัทประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นสถาบันกำกับดูแลหลัก ณ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 อัตราเบี้ยประกันที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประกันการดูแลระยะยาวจะอยู่ที่ประมาณ 7.65% ของค่าจ้างรายเดือน (ปัจจุบันจำกัดจำนวนเงินสมทบรายเดือนรวม 7,047,900 วอน อาจมีการเปลี่ยนแปลงในปี พ.ศ. 2565) แบ่งระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเท่าๆ กัน ประมาณ 3.825% ต่อคน เงินสมทบของพนักงานในโครงการ NHI สามารถนำไปหักลดหย่อนในการคำนวณรายได้ที่ต้องเสียภาษีได้ ส่วนรัฐบาลแห่งชาติให้เงินสนับสนุน 14% และภาษีสรรพสามิตยาสูบคิดเป็น 6% ของเงินทุน ค่าใช้จ่ายรวมในการประกันสุขภาพเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 4.0% ในปี 2543 เป็น 7.1% ในปี 2557 (3)
บรรษัทประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหาบริการสุขภาพผ่านบริการประกันสุขภาพแห่งชาติ ชาวเกาหลีใต้ต้องมีส่วนร่วมใน NHIS ผ่านภาษีเงินเดือนเพื่อประกันตัวเองและผู้พึ่งพาตน (เช่น บุตร) เงินเดือนเฉลี่ย 5% จะถูกหักออกจากรายได้ต่อเดือนของพนักงาน โดยแบ่งระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ผู้ประกอบอาชีพอิสระต้องจ่ายเงินสมทบผ่านภาษีตามระดับรายได้ของพวกเขา ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยไม่สามารถจ่ายเงินสมทบประกันสุขภาพแห่งชาติได้ รับการประกันสุขภาพผ่านโครงการ Medical Aid Program ได้รับทุนสนับสนุนร่วมกันจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น โดยที่รัฐบาลท้องถิ่นจะคัดเลือกผู้รับผลประโยชน์
เทียบกับที่อื่นๆ แล้วเกาหลีใต้ดีกว่าอย่างไร?
เอาแค่จำนวนเงินก่อน ในปี พ.ศ. 2557 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดต่อหัวอยู่ที่ 2,531 ดอลลาร์ เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 1,058 ดอลลาร์ และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของรัฐบาลต่อหัวอยู่ที่ 1,368 ดอลลาร์ นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังมีจำนวนเตียงในโรงพยาบาลที่ใหญ่เป็นอันดับสองของกลุ่มประเทศ OECD ต่อ 1,000 คนที่ 9.56 เตียง ซึ่งมากกว่าสามเท่าของของสวีเดน ที่ 2.71 เตียง ส่วนแคนาดามีอัตราส่วน 2.75 เตียง สหราชอาณาจักร 2.95 เตียง หรือสหรัฐอเมริกาที่ 3.05 เตียง (4) ซึ่งน่าสังเกว่า หลังสงครามเกาหลี สหรัฐอเมริกาได้มาช่วยวางรากฐานระบบสาธารณสุขให้เกาหลีใต้ แต่ตอนนี้ ระบบสาธารณสุขของเกาหลีใต้ดีกว่าของสหรัฐอเมริกาแล้ว โดยที่สหรัฐอเมริกามักจะติดอันดับรั้่งท้ายระบบสาธารณสุขที่แย่ที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะระบบประกันสุขภาพที่มีช่องโหว่และไม่เป็นธรรมและมีราคาแพงมาก
ทั้งนี้ เกาหลีใต้มีอัตราการรอดชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักสูงสุดของ OECD ที่ 72.8% แซงหน้าเดนมาร์ก 55.5% หรือ 54.5% ของสหราชอาณาจักรอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีอัตราการรอดชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับสองที่ 76.8% แซงหน้าเยอรมนี 64.5% หรือสหรัฐฯ ที่ 62.2% อย่างมีนัยสำคัญ (4)
นอกจากนี้ การเสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดสมองแตกในโรงพยาบาลในระยะ 30 วันต่อการปล่อยตัวคนไข้จากโรงพยาบาล 100 รายนั้นต่ำที่สุดเป็นอันดับสามของกลุ่ม OECD โดยมีอัตราผู้เสียชีวิต 13.7 ราย ซึ่งเป็นอัตราแค่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ อยู่ที่ 22.3 รายหรือฝรั่งเศสเสียชีวิต 24 ราย สำหรับโรคหลอดเลือดสมองตีบ มีผู้เสียชีวิตเป็นอันดับสองของกลุ่ม OECD ที่มีตัวเลขน้อยที่สุด ที่ 3.4 ราย ซึ่งน้อยเกือบหนึ่งในสามเทียบกับผู้เสียชีวิต 9.4 รายในออสเตรเลียหรือ 9.7 รายในแคนาดา
ตัวเลขเหล่านี้พอจะได้บอกได้ว่าเกาหลีใต้มีประสิทธิภาพมากแค่ไหนในแง่ระบบสาธารณสุข เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่มเดียวกัน หรือเรียกได้ว่าดีกว่าประเทศตะวันตกเสียอีก
อ้างอิง
1. Sophie Ireland. (April 27, 2021). "Revealed: Countries With The Best Health Care Systems, 2021". CEOWorld.
2. Song, Young Joo (2009). "The South Korean Health Care System" (PDF). International Medical Community. JMAJ 52(3): 206–209.
3. OECD. "Health Status". stats.oecd.org. Retrieved 2016-12-03.
4. "Health at a Glance 2015 | READ online". OECD iLibrary.
ภาพ Ken Eckert / .wikipedia
- 4723 views