ปัจจุบันมีผู้ที่เกิดอาการแพ้อาหารจำนวนมาก บางรายแพ้อาหารตั้งแต่ยังเล็ก บางคนเติบโตแล้วถึงมีอาการแพ้ ประกอบกับความเชื่อเรื่องการแพ้อาหารที่หลากหลาย โดยมีความเชื่อที่ว่า แพ้อาหารชนิดไหนให้รับประทานอาหารชนิดนั้นจนร่างกายเคยชิน ในเรื่องนี้ พญ.ทัศลาภา แดงสุวรรณ นายแพทย์เชี่ยวชาญ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ให้ความเห็นกับ Hfocus ว่า ต้องกลับกัน เพราะมีโอากาสเป็นไปได้ว่า สิ่งที่แพ้ในปริมาณน้อยมาก ๆ ตามลำดับ ใช้ระยะเวลานานพอสมควร อาจเปลี่ยนแปลงกลไกของภูมิคุ้มกันในทางแพ้ไปเป็นควบคุมสมดุลให้ดีขึ้นจนหายแพ้ แต่ปริมาณเท่าไหร่ ต้องอยู่ในความควบคุมและดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด บางคนไม่เชื่อว่าแพ้จริงอาจลอง ๆ แต่ถ้ากินในปริมาณที่มากจะเสี่ยงอันตรายได้ ต้องแน่ใจว่ากินได้ขนาดไหน ทดสอบแล้วว่าปริมาณน้อยจริง ๆ ไม่เกิดอันตราย จึงเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่แนะนำให้เสี่ยงอันตราย นอกจากนี้ ในกรณีผู้ที่กินอาหารซ้ำ ๆ ในกลุ่มคนที่มีโอกาสจะแพ้อาหารนั้นอยู่แล้ว ก็ยิ่งจะไปส่งเสริมให้เกิดการแพ้มากขึ้น คนที่แพ้จึงไม่ควรบริโภคสิ่งนั้น
ส่วนการเกิดอาการแพ้ตอนโต โดยไม่เคยมีประวัติการแพ้อาหารบางชนิดมาก่อน พญ.ทัศลาภา กล่าวว่า จริง ๆ เป็นเรื่องปกติทางการแพทย์ อย่างอาหารทะเล โดยทั่วไปจะแพ้เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ในอดีตแป้งสาลีจะแพ้ก็ต่อเมื่อเป็นเด็กโตถึงวัยรุ่น แต่ในปัจจุบันสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การดำเนินโรคเปลี่ยนแปลงในทางเร็วขึ้น เพราะกลไกภูมิคุ้มกันต้องได้รับสิ่งกระตุ้นนี้ไปแล้ว เมื่อร่างกายปรับตัวทัน จะไม่เกิดอาการแพ้ แต่ในช่วงที่ไม่สบาย การย่อยผิดปกติ ท้องเสีย ภาวะที่เป็นภูมิแพ้อื่น ๆ สิ่งนี้จะทำให้ร่างกายเห็นเป็นสิ่งแปลกปลอมได้ พร้อมจัดการด้วยการกำจัดออกไป และหากร่างกายของคนนั้นมีภาวะภูมิแพ้ การดำเนินโรคก็จะส่งผลไปในทางภูมิแพ้
"สำหรับเด็กที่มีอาการแพ้อาหาร โดยทั่วไปจะมีแผ่นพับติดตัวไว้ บางครั้งจะมีจดหมายไปยังโรงเรียนว่า เด็กแพ้อาหารชนิดนี้ ตัวเด็กเองจะเลี่ยง ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ถ้าใกล้ชิดจะทราบ แต่กรณีบางคนที่ไปแกล้งโดยเจตนา ไม่ใช่สิ่งที่ดี อาการแพ้ถ้าเป็นไม่รุนแรง ก็ไม่ส่งผลถึงเสียชีวิต แต่การแพ้อาหาร เช่น แป้งสาลีหรือกุ้งทะเล จะมีโอกาสแพ้ถึงเสียชีวิตภายในระยะเวลาอันสั้น เพียงไม่กี่นาทีหรือหลักชั่วโมงได้เลย หากแกล้งให้เด็กรับประทานอาหารที่แพ้ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะการแพ้ที่รุนแรงจะเป็นอันตรายได้" พญ.ทัศลาภา ย้ำ
การรักษาผู้แพ้อาหารควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ควรลองทำตามความเชื่อด้วยตนเอง อาจเสี่ยงอันตรายได้ถึงชีวิต และที่สำคัญ ไม่ควรแกล้งหรือลองให้ผู้ที่มีอาการแพ้รับประทานอาหารที่แพ้ จะด้วยเจตนาไม่ดีหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะการแพ้นั้นอาจรุนแรงมากขึ้นได้
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 529 views