เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา อธิบายถึงความแตกต่างของใบรับรองแพทย์และใบความเห็นแพทย์กับ Hfocus ว่า หลักฐานสำคัญทางการแพทย์ทั้ง 2 ประเภทนี้แตกต่างกัน ใบรับรองแพทย์ เป็นการรับรองสุขภาพว่าปกติดี ใช้สำหรับใบขับขี่ สมัครงานหรือสมัครเรียน ส่วนใบความเห็นแพทย์เป็นการให้ความเห็นว่า ผิดปกติ ซึ่งจะเป็นความเห็นในเวลานั้นจากการตรวจรักษาต่าง ๆ ตามหลักฐานและข้อมูลที่ปรากฏ ใบความเห็นแพทย์จึงเชื่อมโยงกับการรักษาพยาบาล เวชระเบียน และกระบวนการรักษาในโรงพยาบาล ระบุว่า ผู้ป่วยเป็นโรคอะไร ต้องรักษาอย่างไร พักฟื้นกี่วัน มีการผ่าตัดหรือไม่ โดยเป็นความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษา หรือหากมีแพทย์ทำการรักษาหลายคน จะเป็นการออกความเห็นโดยแพทย์คนใดคนหนึ่งก็ได้ เนื่องจากระบบเวชระเบียนมีความเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว หากแพทย์ที่รักษาไม่สามารถออกใบความเห็นให้ได้ แพทย์คนอื่นก็สามารถออกความเห็นได้เพื่อประโยชน์ของคนไข้เป็นหลัก ยึดตามข้อมูลจริงที่ปรากฏในเวชระเบียนหรือหลักฐานทางการแพทย์เท่านั้น เป็นความเห็นจากอาการเวลานั้น ใบความเห็นแพทย์จะขึ้นอยู่กับสถานะของคนไข้ในวันเวลาที่เขียน เพราะการรักษาโรคจะมีการเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนเวลา พอพ้นเวลาความเห็นแพทย์ก็ต้องเปลี่ยนไป ทั้งนี้ ใบความเห็นแพทย์ก็มีหลายระดับ ทั้งความเห็นแพทย์ทั่วไป เพื่อใช้ในการเบิกค่ารักษาและยา หรือเบิกประกัน ซึ่งจะโยงกับสิทธิต่าง ๆ ของผู้ป่วย และสามารถตรวจสอบได้

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวต่อว่า หากเป็นคดีความจะใช้ใบความเห็นแพทย์เท่านั้น ทางการแพทย์จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นแพทย์นิติเวชที่รู้เรื่องกฎหมาย ช่วยให้ความเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีอาญา คดีที่ถึงแก่ชีวิต คดีความทางเพศ หรือมีการละเมิดต่าง ๆ จะมีสถาบันนิติเวชวิทยาช่วยดูแล หากต้องใช้รับรองทางคดีและใช้ในชั้นศาลจะต้องมีสถาบันเฉพาะขึ้นมารับรอง กรณีที่ต้องการความเห็นเป็นพิเศษ โดยการออกความเห็นแพทย์ของแพทย์นิติเวชจะต้องออกตามหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ 

"กรณีที่เป็นคดีความก็ต้องตรวจพิสูจน์ทราบตามกฎหมายอื่น ๆ ร่วมด้วย หากศาลต้องการข้อมูลเพิ่มเติมจะมีกระบวนการตรวจสอบ สอบสวนหาสาเหตุอื่นด้วย ส่วนการตรวจสอบใบความเห็นแพทย์ สามารถทำได้โดยผู้เสียหาย ตำรวจ อัยการ หรือผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมาย ส่งหลักฐานมา กระบวนการแพทยสภาสามารถตรวจสอบความถูกต้องและจริยธรรมได้ ขอย้ำว่า ไม่ต้องกังวล เพราะทุกกรณีที่ยื่นใบความเห็นแพทย์เบื้องต้น มีการตรวจสอบได้ ทั้งนี้ หากเป็นคดี ในทางกฎหมายหรือศาลจะขอพยานทางการแพทย์ ซึ่งจะมาจากหน่วยงานภายใต้แพทยสภา คือ ราชวิทยาลัยทั้งหมด 15 แห่ง เช่น อายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ ซึ่งแพทยสภาจะส่งผู้เชี่ยวชาญโรคต่าง ๆ ไปให้ความเห็นเมื่อผู้มีอำนาจทางกฎหมายขอความเห็นมาทางแพทยสภา" พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม กรณีแพทย์ออกความเห็นด้วยตนเอง ต้องรับผิดชอบต่อความเห็นดังกล่าว และต้องสามารถตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง ทางวิชาการได้ ส่วนหน่วยงานที่รับใบความเห็นแพทย์สามารถขอตรวจสอบ ข้อเท็จจริงและสำเนาได้จากสถานพยาบาล ที่ออกเอกสาร ในการตรวจสอบความเห็นของใบความเห็นแพทย์ ต้องตรวจสอบ ตั้งแต่โรงพยาบาล ถูกต้องหรือไม่ เป็นแพทย์จริงหรือไม่ แพทย์เป็นผู้ลงความเห็น และลงนามเองหรือไม่ ข้อมูลความเห็นตรงกับสำเนาที่เก็บไว้ที่โรงพยาบาลหรือไม่ และตรงกับข้อมูลในเวชระเบียนหรือไม่ มีการถูกแก้ไขหรือไม่ ซึ่งจะตรวจสอบได้กับสถานพยาบาล ที่เป็นผู้ออกใบความเห็นแพทย์ นอกจากนี้ การแก้ไขหรือปลอมแปลงใบความเห็นแพทย์ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย หากสงสัยความสุจริตของใบรับรอง หรือ ใบความเห็นแพทย์ ผู้ได้รับผลกระทบ /ผู้เสียหาย สามารถกล่าวหา/กล่าวโทษแพทย์ ให้แพทยสภาตรวจสอบมาตรฐานการออกความเห็นทางจริยธรรมได้ ตามข้อบังคับจริยธรรมแพทยสภา

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org