ความน่ากลัวของโควิด-19 ในปัจจุบันอาจไม่มีอัตราการเสียชีวิตสูงเหมือนกับในช่วงแรกหรือซีซั่นก่อนหน้านี้ แต่สิ่งที่ยังน่ากังวลคืออาการที่หลงเหลือหลังได้รับเชื้อซึ่งเรียกกันว่าอาการ Post Covid หรือ Long Covid พบได้ตั้งแต่อาการไอ มีเสมหะ อ่อนล้า ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยหอบ หายใจไม่สะดวก ไปจนถึงมีผลต่อความจำ สติปัญหา สภาพจิตใจ อารมณ์และความรู้สึก หากป่วยเป็นระยะเวลานาน

ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะการแพทย์แผนไทยร่วมกับสถานประกอบการเครือโรงแรม La Vela เขาหลัก จังหวัดพังงา และสมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอันดามันและอ่าวไทย จึงได้ทดลองโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ที่มีอาการ Post Covid Syndrome แบบองค์รวม ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยโควิด-19 และเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ตามยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพตามยุทธศาสตร์ของประเทศที่มีการพูดถึงมาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา

“ในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. ที่ผ่านมานั้นพบว่าโปรแกรมนี้สามารถช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ที่มีอาการ Post Covid Syndrome ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  มหาวิทยาลัย ฯ จึงมีแนวคิดถ่ายทอดโปรแกรมดังกล่าวสู่สถานประกอบการอื่น ๆ ที่สนใจ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มีอาการ Post Covid Syndrome จากทั่วโลก” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าว

เมื่อไม่นานมานี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดตัวโครงการดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมเตรียมโปรโมทไปทั่วโลกเพื่อเป้าหมายสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยมีจังหวัดพังงาเป็นจุดเริ่มต้นในการออกสตาร์ต

 

** โปรแกรมฟื้นฟูผู้ป่วย Post Covid Syndrome คืออะไร

อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่าความกังวลของโควิด-19 ในปัจจุบันคืออาการ Post Covid และนี่คือศาสตร์หนึ่งที่ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) พยายามรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับความรู้ทางการแพทย์แผนไทยและทางตะวันตกที่อาศัยองค์ความรู้ทั้งการแพทย์ กายภาพบำบัด พยาบาล รวมไปถึงเรื่องการดูแลแบบองค์รวมในเรื่องของอาหาร อาหารสุขภาพ อาหารสมุนไพรเข้ามาใช้ในการดูแลผู้ป่วย Post Covid

ดร.จุฬาลักษณ์ โชคไพศาล คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า โปรแกรมนี้เริ่มต้นจากการอาศัยองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทยเป็นแกนกลางเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านการรักษา การนวดไทย การนวดกดจุด การสุมยา-อบสมุนไพร โดยมีศาสตร์อื่นๆ จากคณะพยาบาลศาสตร์และสถาบันฮาลาลของม.อ. เข้ามาเสริม เช่น การฝึกการหายใจแบบ SKT ของคณะพยาบาลศาสตร์ และการนวดลังกาสุกะของสถาบันฮาลาล กลายเป็นองค์ความรู้และศาสตร์ใหม่ที่ผสมผสานกัน

ทั้งนี้ตามคัมภีร์การแพทย์แผนไทยที่ชื่อว่า “คัมภีร์ตักศิลา” โควิด-19 จัดอยู่ในกลุ่มไข้พิษไข้กาฬ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดกับมนุษย์มานานตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาล สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากตวกิมิชาติ (การติดเชื้อไวรัส)

 

** 8 แนวทางการรักษาผสมผสาน

หลังจากตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการความรุนแรงโดยแพทย์แผนไทยแล้ว จะมีการประชุมหารือาภยในทีมเพื่อวางแผนการรักษา ซึ่งมีหลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน ประกอบด้วย

ตำรับยา การใช้ยาครอบไข้ตักศิลาและยาแก้ไข้ (เบญจโลกวิเชียร เบญจโลกสิกะ เบญจผลธาตุ ฯลฯ)  เพื่อแก้ปัญหาเสมหะค้างในปอดจากความร้อนที่เพิ่มขึ้น

อาหารสมุนไพร การบำบัดด้วยอาหารและเครื่องดื่มสมุนไพร เน้นที่บำรุงกำลัง เช่น ขิง ตะไคร้ มะตูม ฯลฯ เพื่อปรับสมดุลตามธาตุเจ้าเรือนและอายุช่วยในการแก้ไขภาวะเบื่ออาหาร

สุมยา-อบสมุนไพร ให้หัตถการสุมยา วันละ 1-2 ครั้งหรืออบไอน้ำสมุนไพรวันละ 1 เพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดศรีษะและการรับรู้กลิ่นผิดปกติ

นวดผ่อนคลาย  การนวดลังกาสุกะ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่รวบรวมมาจากหมอตำแยของลักกาสุกะ เมืองรุ่งเรืองในสมัยก่อนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยมีจุดเด่นเรื่องสมุนไพร โดยใช้ร่วมกับน้ำมันสมุนไพร เพื่อช่วยคลายความปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อ

นวดกระตุ้นการย่อยอาหาร การนวดกดจุดเพื่อช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร จุกเสียด แน่นท้อง

นวดกระตุ้นทางเดินหายใจ การนวดบำบัดแบบประยุกต์ เพื่อช่วยกระตุ้นการขับเสมหะออกจากปอดและกระตุ้นการทำงานของปอด

แช่ยาสมุนไพร ประยุกต์จากตำรับยา ประสะผิวภายนอกและยาพ่นภายนอก เพื่อช่วยปรับการไหลเวียนของเลือด

การทำสมาธิและกายภาพบำบัด สมาธิบำบัดและการฝึกหายใจแบบ SKT และกายภาพบำบัดลดอาการหอบเหนื่อยและกระตุ้นการขับระบายเสมหะ

ผศ.ดร.ทิพมาส ชิณวงศ์ อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ. เผยถึงการทำสมาธิและการหายใจบำบัดว่า เป็นเทคนิคการดูแลสุขภาพแบบกายผสานจิตหรือ Mind-Body Medicine ด้วยการนั่งสงบผ่อนคลายกำหนดลมหายใจช้าๆ ที่เรียกว่า สมาธิบำบัด SKT ซึ่งผู้ป่วยที่ทำได้สักระยะหนึ่งจะมีฟีดแบ็คชัดเจนว่าไม่เคยหายใจได้ลึกและยาวขนาดนี้มานานแล้วตั้งแต่ติดโควิด ดังนั้นเทคนิคตรงนี้จะเข้ามาเสริมให้หายใจสะดวกขึ้นและรู้สึกผ่อนคลาย

“เราเชื่อว่าการดูแลสุขภาพในคนๆ หนึ่งไม่ใช่แค่ร่างกายอย่างเดียว การดูแลแบบองค์รวมหรือ Holistic จะเป็นเรื่องของ กาย จิต สังคม และจิตวิญญาณร่วมด้วย เพราะทุกอย่างมีส่วนที่ผสานกัน เราจะเห็นว่าโควิด ไม่ได้มีปัญหาแค่สุขภาพกาย แต่มีผลกระทบต่อจิตใจ จากจิตใจที่วิตกกังวล  มีความเครียด จะหลั่งสารต่างๆ ทำให้กลไกของร่างกายแปรเปลี่ยนไป โดยต้องเริ่มจากการทำสมาธิ ก่อนจะเป็นสมาธิ SKT เราจะใช้การเรียกสติให้มีสติก่อน เป็นการทำให้ใจเย็นลง นิ่ง และลดความเครียด พร้อมจะเรียนรู้และรับสิ่งต่างๆ” ศิริมาศ ภูมิไชยา อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ.เสริม

จากผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 9 ราย ส่วนใหญ่มาด้วยอาการหอบเหนื่อย อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ บางรายมีการอาการไอมาก มีเสมหะในลำคอตลอดเวลา จากการรักษาหลังผ่านไป 3 วันจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของคนไข้ ถ้าจะให้ชัดเจนวันที่ 5 อาการต่างๆ ไม่ว่าการหอบเหนื่อย ไอ การเบื่ออาหาร เพลีย ปวดกล้ามเนื้อจะดีขึ้น เมื่อครบ 7 วันจะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน อาการส่วนใหญ่จะหายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

 

** ยกระดับแพทย์แผนไทยสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ผศ.ดร.นิวัติ กล่าวว่าช่วงแรกม.อ.จะใช้คำว่า Post Covid กับอาการผู้ป่วยที่หลงเหลืออยู่ แต่ระยะหลังมีการใช้คำว่า Long Covid กันมากขึ้นและพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเดลต้ามีอาการ Long Covid มากถึง 40-50 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อเป็นเชื้อโอมิครอน ลดเหลือ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เวลาในการเยียวยาแล้วแต่สมรรถภาพของร่างกายแต่ละคน ขณะที่ผู้ติดเชื้อทั่วโลกเกือบ 600 ล้านคน หากสามารถดึงดูดผู้ป่วยที่มีอาการหลงเหลืออยู่สัก 5 เปอร์เซ็นต์เดินทางมาฟื้นฟูที่ประเทศไทยได้ จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจำนวนมากและสอดคล้องกับทิศทางการท่องเที่ยวฝั่งอันดามันที่กำลังผลักดันเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

“โปรแกรมนี้น่าจะดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวที่สนใจเรื่อง wellness และต้องการฟื้นฟูสมรรถภาพให้กลับมาท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ และถ้าได้ผลดีก็สามารถขยายต่อไปยังฝั่งอ่าวไทย ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคอีสานต่อไป ดังนั้นนอกจากโปรแกรมนี้จะช่วยผู้ป่วยหรือคนที่ติดเชื้อโควิดให้ฟื้นฟูสภาพร่างกายกลับมาปกติแล้ว ยังจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย”

นอกจากการให้บริการที่ม.อ.หาดใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งในด้านบุคลากรและสถานที่อยู่แล้ว โครงการนี้ได้ประเดิมที่แรกในสถานประกอบการโรงแรมที่ลา ฟลอร่า คลินิก การแพทย์แผนไทย โรงแรมลา ฟลอร่า เขาหลัก จ.พังงา ซึ่งเป็นสถานที่เปิดตัวโครงการเมื่อไม่นานมานี้

ทั้งนี้คณะแพทย์แผนไทย ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์และสถาบันฮาลาล ม.อ. ได้พัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตและเสริมทักษะให้กับบุคลลากรด้วยการฝึกอบรมระยะสั้น ตั้งแต่ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ในสถานประกอบการ รวมทั้งแพทย์แผนไทยให้การดูแลกลุ่มผู้ป่วยลองโควิด โดยแบ่งเป็นแพ็คเกจ A สำหรับผู้ประกอบการที่มีสปา หรือเจ้าของธุรกิจสปา แพ็คเกจ B สำหรับผู้ประกอบที่มีคลินิกหรือเจ้าของคลินิก และแพ็คเกจ C แพทย์แผนไทย (พท.) หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ (พท.ป.)

“นี่เป็นโอกาสสำคัญของประเทศและสร้างชื่อเสียง ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่ามีพื้นที่ที่ได้รับการดูแลอย่างดีด้วยมืออาชีพ เพราะฉะนั้นการผลิตบุคลากร การสร้างมาตรฐาน ความประทับใจทั้งฝีมือ ความรู้ อัธยาศัยการบริการ และระบบข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ มีระบบเชื่อมต่อให้ได้กับรพ. ตอนนี้มีระบบ telemedicine กับรพ.วชิระ และ มอ.หาดใหญ่ เพื่อให้คำปรึกษาโดยตรง ตอนนี้พยายามทำให้เป็นพื้นฐานให้กับภาคใต้ไม่ใช่พังงาอย่างเดียว เพราะความรู้พวกนี้ทำให้คนมาเที่ยวภาคใต้ ซึ่งมีเกาะมากมาย หากเกิดเหตุขึ้นมามีระบบรองรับที่มั่นใจ” อธิการบดี ม.อ. กล่าว

 

** รมว.ท่องเที่ยวตั้งเป้าสร้างรายได้ 1.5 ล้านล้าน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มองว่าโปรแกรมนี้จะเป็นการเผยโฉมมิติใหม่ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดพังงา ด้วยการชูจุดขายการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพชั้นนำของโลกโดยผสมผสานศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ที่มีอาการPost Covid Syndrome ซึ่งถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพใหม่ที่กำลังถูกจับตามองจากทั่วโลก สอดรับกับแนวคิดการพัฒนาตามนโยบาย เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาล เพราะเป็นการผลิตสินค้าและบริการใหม่โดยใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชน ชุมชน จนถึงผู้ประกอบการต่าง ๆ สูงขึ้นและนำไปสู่การฟื้นประเทศด้วยท่องเที่ยวในที่สุด

“หลังจากที่มีการพูดถึง Medical and Wellness Tourism กันมาตลอดในช่วงที่ผ่านมาแต่ยังไม่มีจุดสตาร์ตที่ชัดเจน เมื่อมีโปรดักต์นี้ออกมาถือโอกาสเอาพังงาเป็น Wellness Sandbox ซึ่งจะนำไปประชาสัมพันธ์และเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีปัญหา Post Covid Syndrome เพื่อเพิ่มคุณค่าและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งการบำบัดผู้ป่วย Post Covid คือการมาถูกเวลาถูกจังหวะที่สุด เพราะกำลังเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกต้องการในตอนนี้ โดยเฉพาะการบำบัดแบบธรรมชาติเหมือนโปรแกรมนี้และจะช่วยให้ไปถึงเป้าหมายการทำรายได้ 1.5 ล้านล้านบาทที่ตั้งเป้าไว้ในปีนี้ เพราะเชื่อว่าจะเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวขึ้นอีก 40 เปอร์เซ็นต์” รมว.พิพัฒน์ กล่าวพร้อมเผยทางมอ.เตรียมจะนำเสนอผลการวิจัยไปให้ทางกระทรวงสาธารณสุขในเร็วๆ นี้ เพื่อดำเนินการต่อไป

สำหรับค่าใช้จ่ายของโปรแกรมฟื้นฟูจะขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน บางคนอาจใช้เวลา 2-3 วัน บางคน 5-7 วัน โดยจากการทดลองกว่า 30 เคสผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์หลังผ่านวันที่ 5

** เอกชนเชื่อช่วยกระตุ้นยอดจองปลายปีนี้เพิ่ม 30%

ด้วยกระแสเรื่อง wellness กำลังมาแรง ทำให้ทั่วโลกต่างก็หันมาทำเรื่องนี้กันแทบทั้งสิ้น แต่คุณสมพงษ์ ดาวพิเศษ เจ้าของโรงแรมในเครือลา ฟลอร่า กรุ๊ปและนายกสมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอันดามัน-อ่าวไทย เชื่อว่า โปรแกรมฟื้นสมรรถภาพผู้มีอาการ Post Covid Syndrome นี้จะสร้างความแตกต่าง โดยเฉพาะเมื่อมีการรักษาที่ประจักษ์ชัดเจน มีใบรับรองอย่างถูกต้อง

“ผมคิดว่าเราจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้อีกมาก โดยอาสัยททท.เป็นองค์ประกอบในการทำพีอาร์ ซึ่งจะเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อวันมากขึ้น ขึ้นอยู่กับอาการจะเป็นอย่างไร ซึ่งหากภายใน 3 เดือนนี้หากสถานประกอบเข้าอบรมหลักสูตรและความพร้อมเรื่องสถานบริการได้ ททท.สามารถทำพีอาร์ได้ ผมเชื่อว่าปลายปีนี้ยอดบุ๊คกิ้งจะเพิ่มขึ้นอีก 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเงินมหาศาล ขอแค่ 5 เปอร์เซ็นต์จากผู้ติดเชื้อเดินทางมาบำบัดก็รับแทบไม่ไหวแล้ว”

เจ้าของโรงแรมดังเขาหลัก ซึ่งเปิดคลินิกแพทย์แผนไทยเรียบร้อยแล้ว กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการต่อจากนี้คือการผลิตบุคลากรให้เพียงพอ ซึ่งยังมีเวลาอีก 3 เดือนก่อนเข้าหน้าไฮซีซั่นในการอบรมระยะสั้น รวมทั้งการรับรองและบันทึกข้อมูลอย่างเป็นทางการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวภายใต้มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ

** ททท.เตรียมผลักดันเต็มที่

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. กล่าวว่า นี่เป็นโครงการที่ดีมากๆ ซึ่งททท.มีหน้าที่ในการผลักดันเรื่อง health & wellness อยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องการฟื้นฟูสมรรถภาพ ก่อนหน้านี้ประเทศเคยเป็นศูนย์กลางการบำบัดยาเสพติด และการบำโรคซึมเศร้าของนักท่องเที่ยว แต่วันนี้เมื่อโลกทั้งใบให้ความสำคัญกับเรื่อง Post Covid ก็ถือเป็นอีกมิติหนึ่งในการส่งเสริมการขายด้านการท่องเที่ยว

“การเปิดตัว Wellness Samdbox โดยชูโปรแกรมฟื้นฟูผู้ป่วย Post Covid Syndrome เป็นตัวไฮไลท์ น่าจะเป็นจุดขายใหม่ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวและรายได้มากขึ้น ถ้าเราทำได้ดีจะกลายเป็นจุดหมายปลายทางของการฟื้นฟูอาการ Post Covid ที่สำคัญ สิ่งที่ผู้ประกอบการตั้งเป้าไว้ว่าจะมียอดจองเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ในปลายปีนั้นมีความเป็นไปได้เลย รวมถึงเรื่องรายได้ของจังหวัดพังงาที่ทางผู้ประกอบการตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มจากเดิม 6 หมื่นล้านบาทเป็น 8 หมื่นล้านบาทนั้น อาจมีความเป็นไปได้จะเพิ่มถึง 1 แสนล้านบาทเลยก็ได้”