จากเป้าหมายการปลดล็อคกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ส่งเสริมสุขภาพ ในการรักษาโรค และเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งมีการออกประกาศกระทรวงสาธาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.2565 ให้พืชกัญชา กัญชง ไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีส่วนผสมจากสารสกัดกัญชากัญชงออกมา จนหลายฝ่ายเกิดข้อห่วงใยเรื่องผลกระทบต่าง ๆ
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพมหานคร ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) จึงร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโปรแกรมฝึกอบรมพัฒนานักวิจัยด้านสารเสพติดมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดเสวนาวิชาการด้านยาเสพติด กรณีผลกระทบจากการใช้กัญชา
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการ ศศก. กล่าวว่า หลังวันที่ 9 มิถุนายน เป็นต้นมา มีข้อห่วงใยเรื่องกัญชาจากหลายภาคส่วน ทั้งเรื่องรายงานผลกระทบจากการใช้ การเกิดอาการเป็นพิษจากการใช้กัญชาทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ และรายงานการเกิดอาการทางจิต ตัวเลขจาก ศศก. พบเยาวชนสูบกัญชาสูงขึ้นราวสองเท่า และผลเบื้องต้นพบการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับสารเสพติดทั้งหมดยกเว้นสุราและบุหรี่ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 29.56% ในแบบผู้ป่วยนอก และ 44.33% ในรูปแบบผู้ป่วยใน ในช่วงปี 2020-2021 เทียบกับตอนก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายกัญชา สวนทางกับจำนวนผู้รับการบำบัดยาเสพติดโดยตรงทุกชนิดที่ลดลง จึงต้องเกาะติดสถานการณ์ นอกจากกล่าวถึงประโยชน์แล้ว ต้องบอกเรื่องผลกระทบด้วย เพื่อให้การใช้กัญชาทางการแพทย์เป็นไปอย่างปลอดภัย
ด้านศ.นพ.สิริชัย ชยสิริโสภณ นักประสาทวิทยาและนักวิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา บรรยายถึงอันตรายจากการสูบกัญชาว่า การสูบกัญชาเป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูบกัญชาเป็นประจำและยาวนานหลายปี จะทำให้ไอคิวต่ำลง ความจำเสื่อม การเรียนรู้เชื่องช้า เกิดอาการเฉี่อยชา ไม่กระตือรือร้น ตัดสินใจผิดพลาด เกิดอาการทางจิตได้ แม้แต่คนที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ที่สูบกัญชาก็ยังได้รับสารเข้าไปในร่างกายได้ด้วย มีการวิจัยตรวจปริมาณ THC ในเลือดของคนที่อยู่ร่วมกัน 3 ชั่วโมง พบว่ามีปริมาณ THC สูงในเลือด และบางคนที่อยู่กับกลุ่มคนที่สูบกัญชาซึ่งมีสาร THC ร้อยละ 11.3 เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ก็ตรวจพบสาร THC ในปัสสาวะ
"การใช้น้ำมันกัญชาที่ THC มากกว่า 0.3% หยอด กินหรือดื่มเป็นประจำ จะมีผลกระทบแบบเดียวกับการสูบกัญชาเป็นประจำหรือไม่ ยังไม่มีการวิจัยที่แน่นอน แต่ในแง่ของการเปรียบเทียบ น่าจะคล้ายคลึงกันคือ ขึ้นไปในสมองเช่นกัน จึงอยากเตือนว่า การใช้น้ำมันกัญชานั้นไม่เหมือนกับการใช้น้ำมันสาร CBD ที่ปลอดภัยกว่า" ศ.นพ.สิริชัย กล่าว
ขณะที่ ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกัญชากับสาเหตุการเสียชีวิต ว่า สาร THC ในกัญชาเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตหลัก ๆ 3 กรณีคือ 1.สาเหตุโดยตรงจากการกินกัญชาเกินขนาด แม้จะเจอได้น้อย แต่มักพบได้ในเด็กที่เผลอกินอาหารหรือขนมใส่กัญชา 2.กัญชาไปกระตุ้นให้เกิดอาการบางอย่างจนเสียชีวิต กระตุ้นหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะผู้ที่สูบกัญชา แม้สูบเพียงครั้งเดียวก็มีโอกาสเกิดโรคหัวใจที่ต้องสวนหัวใจ มีโอกาสถึง 5 เท่า เทียบกับคนไม่สูบกัญชา และ 3.ผลข้างเคียงจากการใช้กัญชา ทำให้เกิดโรคจิตเวช หูแว่วประสาทหลอน หรือการใช้กัญชาทำให้มึนเมาก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ จึงต้องควบคุมให้เข้มข้นกว่านี้ เช่น กำหนดปริมาณการปลูกในครัวเรือน ทำมิดชิด กำหนดปริมาณครอบครองในที่สาธารณะ ห้ามสูบในที่สาธารณะ ทั้งนี้ ขอสนับสนุนแถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการ ในช่วงสุญญากาศให้คืนสถานะกัญชาเป็นยาเสพติด และทำกฎหมายให้เข้มข้น มีการทำประชามติ
สำหรับ นพ.อภิศักดิ์ วิทยานุกูลลักษณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ในปี 2561 พบคนเข้ารับบำบัดกัญชา 5.57% ปี 2562 คิดเป็น 6.89% ส่วนปี 2563 ที่ถูกกระทบจากโควิดลดเหลือ 4.8 % ปี 2564 เหลือ 4.2% ส่วนปี 2565 จนถึงตอนนี้พบ 4% โดยคนที่เข้ารับการบำบัดกัญชานั้นมาเมื่อเกิดปัญหาจริง เสียหน้าที่การทำงาน เสียการเรียน ส่วนที่เสพแล้วยังไม่เกิดปัญหา หรือถูกรับรู้น่าจะพอสมควร ซึ่งช่วงเวลานี้ ทุกฝ่ายต้องให้ข้อมูลทั้งด้านดี ด้านร้ายของกัญชา อย่างจริงใจ แสดงถึงความห่วงใย ให้แก่กลุ่มเปราะบางได้ทราบและตัดสินใจ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งตอนนี้พบว่ามีคุณครูจากโรงเรียนทางภาคเหนือติดต่อมาขอให้ไปให้ความรู้กับเด็ก ๆ จำนวนมาก เพราะพบเด็กครอบครองกัญชาในรูปแบบการสูบเพิ่มขึ้น
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 360 views