เมื่อเจอกับผู้ป่วยที่หมดสติ การกู้ชีพหรือทำ (CPR) Cardiopulmonary resuscitation เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องทำ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาฟื้นคืนสติและหายใจได้อีกครั้ง แต่การช่วยผู้ป่วยอย่างผิดวิธี นอกจากจะไม่อาจกู้ชีวิตกลับมาได้แล้ว ยังทำให้เกิดความล่าช้าในการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้น สูญเสียโอกาสในการรอดชีวิตอีกด้วย

จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์คลิปวิดีโอสาธิตการช่วยผู้ป่วยหมดสติหรือมีอาการจากโรคหัวใจ ด้วยการใช้มือซ้ายกดข้อมือขวาโดยระบุว่าเป็นตำแหน่งเยื่อหุ้มหัวใจ ขณะเดียวกันให้ใช้มือขวากุมมือซ้ายของผู้ป่วยแล้วหมุนเป็นวงกลมนั้น พญ.ชนิกานต์ คณาเดิม แพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ยืนยันกับ Hfocus ว่า วิธีนี้ไม่ช่วยทั้งคนที่เป็นลมหรือคนไข้หมดสติ การกดไม่ได้ช่วยเรื่องการไหลเวียนเลือดให้ดีขึ้นแต่อย่างใด ทางการแพทย์ไม่แนะนำให้ทำ 

พญ.ชนิกานต์ อธิบายว่า ความหมายของผู้ป่วยหมดสติ คือ ไม่รู้สึกตัวและไม่หายใจ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์จะตรวจสอบด้วยการคลำชีพจรและดูการหายใจ ถ้ายังหายใจจะเรียกว่า เป็นลม ซึ่งสามารถช่วยเหลือได้โดยหาพื้นที่ให้อากาศถ่ายเท ให้ผู้ป่วยนอนราบเอาหัวต่ำ ไม่ให้คนมามุง หากใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไปก็ช่วยปลดกระดุมหรือตะขอ เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น เมื่อคนไข้ตื่นรู้สึกตัวให้จิบน้ำหวานนิดหน่อย อาการเป็นลมจะดีขึ้นได้เอง แต่หากพบว่าเป็นผู้ป่วยหมดสติ ให้มองหาพื้นที่ปลอดภัยก่อน เช่น หากผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่มีน้ำเจิ่งนอง ไม่ควรเข้าไปทันทีเพราะอาจหมดสติจากไฟฟ้าช็อตได้ หรือผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนก็ไม่ควรเคลื่อนย้าย เพราะอาจกระดูกหักหรือมีอาการบาดเจ็บรุนแรงอยู่ ผู้พบเห็นจึงต้องประเมินสถานการณ์เสียก่อน 

หากพบผู้ป่วยหมดสติ ผู้พบเห็นต้องตั้งสติเพื่อขอความช่วยเหลือให้เร็วที่สุด พญ.ชนิกานต์ กล่าวว่า เมื่อปลุกคนไข้แล้วเรียกไม่ตื่น อันดับแรกที่ต้องทำคือ ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง และโทร.1669 ศูนย์นเรนทร โดยผู้ที่แจ้งเหตุต้องตั้งสติ อย่าตกใจ ดูลักษณะและบอกข้อมูลของผู้ป่วยหมดสติให้ครบถ้วน เช่น เพศหรือช่วงวัย บอกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมแจ้งบริเวณที่เกิดเหตุให้ละเอียดที่สุด ที่สำคัญ อย่าวางโทรศัพท์ เจ้าหน้าที่จะคอยแนะนำความช่วยเหลือเบื้องต้นจนกว่าจะเดินทางมาถึง เพราะคนไข้ที่หมดสติ หัวใจหยุดเต้นจริง ๆ จะมีเวลาแค่ 4 นาทีที่เลือดไปเลี้ยงสมอง ถ้าทำได้ถูกต้องจะเพิ่มโอกาสให้คนไข้รอดชีวิตและสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ การที่เลือดไปเลี้ยงสมองทันจึงเป็นสิ่งจำเป็น

"สำหรับขั้นตอนการกู้ชีพ CPR ในช่วงโควิด แนะนำให้ปั๊มหัวใจช่วยชีวิต ด้วยการกดบริเวณหนึ่งส่วนสามของกระดูกอกส่วนล่าง สังเกตง่ายสุดให้ลากมือจากรักแร้ เอาฝ่ามือแนบจากรักแร้แล้วลากมาตรง ๆ จนถึงกระดูกกลางอก ซึ่งจะเป็นกระดูกอกส่วนล่าง โดยใช้สันมือข้างที่ถนัดแล้ววางมืออีกข้างทับประสานกัน จากนั้นให้ปั๊มด้วยหลัก 1.Push Hard - ปั๊มลึก 5-6 เซนติเมตร 2.Push Fast - ความเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที ให้นับเป็นจังหวะหรือร้องเพลง เช่น สุขกันเถอะเราหรือคุกกี้เสี่ยงทาย 3.Fully Recoil - ปั๊มแต่ละครั้งให้คืนมือให้สุด เพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวยังค้างอยู่บนตัวคนไข้ ปั๊มไปเรื่อย ๆ หากเป็นญาติสนิทที่จะใช้การช่วยหายใจร่วมด้วยให้ปั๊ม 30 ครั้ง ช่วยหายใจ 2 ครั้ง หากคนไข้ไม่ได้หมดสติเพราะอุบัติเหตุให้กดหน้าผาก เงยหน้าขึ้น เพื่อให้ทางเดินหายใจเปิดโล่งสุด เวลาเป่าช่วยหายใจให้สังเกตหน้าอกว่ากระเพื่อมขึ้น แล้วสลับไปปั๊มต่อ 30 ครั้ง หากมีคนที่สามารถปั๊มหัวใจได้เช่นกัน ควรสลับคนปั๊มหัวใจทุก 2 นาที หรือ 5 รอบการปั๊ม ถ้าทำคนเดียวจะเหนื่อยจนรอบความเร็วตกบ่อย ๆ คนไข้โอกาสรอดชีวิตน้อยลงได้ นอกจากนี้ หากอยู่ในอาคารสูงหรือคอนโดมิเนียมมักจะมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) ให้รีบนำเครื่องมาใช้งาน เพราะผู้ใหญ่ที่หมดสติมักจะพบได้บ่อยว่า เกิดได้จากอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Ventricular Fibrillation-VF) ซึ่งเครื่องนี้จะช่วยได้ ทั้งการช็อตไฟฟ้าเวลาหัวใจหยุดเต้น และตัวเครื่องจะบอกวิธีการ CPR ที่ถูกต้องด้วย" พญ.ชนิกานต์ กล่าว

การช่วยผู้ป่วยหมดสติ หากทำด้วยความไม่รู้หรือเชื่อข้อมูลผิด ๆ จากความช่วยเหลือให้กลับมามีชีวิต อาจทำให้เกิดความล่าช้าในการช่วยชีวิตแทนได้

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org