คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เผยผลงานวิจัยโมเลกุลมณีแดง กับคุณสมบัติย้อนวัยดีเอ็นเอ ความหวังชะลอวัย ทดสอบแล้วในหนู หมู และลิง รอลุ้นผลอนาคต

กลายเป็นประเด็นทันทีหลังจากเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จัดงานแถลงข่าวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด พัฒนางานวิจัย “โมเลกุลมณีแดง : นวัตกรรมต้านเซลล์ชรา เตรียมพร้อมทดสอบในมนุษย์” ที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ เพื่อแถลงความคืบหน้าล่าสุดของการพัฒนาและวิจัยโมเลกุลมณีแดง หรือ RED–GEMs ที่พร้อมทดสอบในมนุษย์และการเตรียมความพร้อมในกระบวนการผลิตโมเลกุลมณีแดงสู่สังคม

ทั้งนี้ ภายในงานมีพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการวิจัยและการผลิตนวัตกรรม ‘มณีแดง’ ระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งดำเนินงานโดยคณะแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ดำเนินรายการโดย พญ.กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี

ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้วิจัยพัฒนาโมเลกุลมณีแดง  เปิดเผยว่า นับเป็น “ครั้งแรกของโลก” จากการที่ได้ค้นพบกลไกต้นน้ำของความชราสู่การพัฒนา “โมเลกุลมณีแดง” หรือ RED-GEMs (REjuvenating DNA by GEnomic Stability Molecules) โดยทั่วไปในดีเอ็นเอจะมีรอยแยก (youth-DNA-gap) อยู่บริเวณที่มีดีเอ็นเอแมดทิเลชัน (DNA methylation) ซึ่งเป็นที่มาของโมเลกุลมณีแดงที่มีบทบาทในการช่วยปกป้องดีเอ็นเอและป้องกันความแก่ชราในดีเอ็นเอ เมื่อมนุษย์อายุมากขึ้น รอยแยกดีเอ็นเอจะลดลง ทำให้เกิดแรงตึงทั่วสายของดีเอ็นเอ ทำให้ดีเอ็นเอไม่สามารถหมุนตัวได้อย่างปกติและถูกทำลายได้ง่าย 

เราจึงพบรอยโรคในดีเอ็นเอของเซลล์ที่แก่ชราแล้วเพิ่มขึ้น ซึ่งรอยโรคดีเอ็นเอนี้จะส่งสัญญาณให้เซลล์หยุดการแบ่งตัวตามปกติและเข้าสู่ความแก่ชรา รวมถึงอาจนำไปสู่การกลายพันธุ์และมะเร็งได้ โมเลกุลมณีแดงคือยีนที่มีหน้าที่เป็นกรรไกรเพื่อสร้างรอยแยกดีเอ็นเอ เซลล์ที่ได้รับมณีแดงจะมีดีเอ็นเอที่แข็งแรงขึ้น และทำให้เซลล์ที่เสื่อมลงแล้วกลับมาดีขึ้น

“จากการค้นพบนำไปสู่การวิจัยและพัฒนา จนเข้าสู่การทดสอบในสัตว์คือ หนู หมู และลิงโดยได้ทดสอบกับหนูวัยชราที่มีแผลเบาหวาน แผลไฟไหม้ พบว่าหนูวัยชรากลับเป็นหนูที่มีความแข็งแรงและกระตือรือร้นขึ้น ทั้งการทำงานของ สมอง ตับ และไต ในส่วนของไขมันในช่องท้องและพังผืดในตับได้ลดหายไปด้วย ด้านแผลเบาหวาน แผลไฟไหม้หายดี ไม่มีผลข้างเคียง” ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ กล่าว

ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ทดสอบในหมูแรกเกิดและทดสอบคุณภาพเนื้อเมื่อมีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม พบว่ามีเนื้อสัมผัสที่นุ่มขึ้น แน่นขึ้น ปัจจุบันโครงการได้ทดสอบในลิงแสมและหนูที่เป็นโรคสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน และปอดเป็นพังผืด ขณะนี้ได้ทดสอบมณีแดงกับลิงแสมแล้ว 3 เข็มในระยะเวลา 3 สัปดาห์ จากที่วางแผนไว้ 8 เข็ม  ในระยะเวลา 8 สัปดาห์ โดยลิงแสมทุกตัวปลอดภัยดี และไม่มีผลข้างเคียงใดๆ

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กล่าวว่า มณีแดงถือได้ว่าเป็นการค้นพบที่น่าสนใจ สามารถต่อยอดในการฟื้นฟูและป้องกันที่มีการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านชีววิทยาโดยเฉพาะพันธุศาสตร์ สนับสนุนยุทธศาสตร์ของประเทศที่ต้องการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจรและพัฒนาอุตสาหกรรมการสร้างเสริมสุขภาพให้สมบูรณ์อย่างยั่งยืน หรือ Wellness 

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพจากhttps://www.chula.ac.th/news/78590/