ประชุมคณะกรรมการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หารือเตรียมระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูล ศธ.- พม. -สาธารณสุข ติดตามแม่วัยรุ่นป้องกันปัญหาตั้งครรภ์ซ้ำ! รับกระบวนการค่อนข้างยาก ต้องเตรียมระบบหลายอย่าง เหตุมีประเด็นข้อมูลส่วนบุคคล ทุกอย่างต้องทำตามกฎหมาย
เมื่อเร็วๆนี้ นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ว่า อัตราการคลอดของวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยปี 2562 อยู่ที่ 31.3 ต่อพันประชากร ปี 2563 ลดลงเหลือ 28.7 ต่อพันประชากร เช่นเดียวกับวัยรุ่นอายุ 10-14 ปีก็ลดลงจากปี 2562 อยู่ที่ 1.1 ต่อพันประชากร ปี 2563 ลดลงเหลือ 0.9 ต่อพันประชากร ทั้งนี้ จากการดูอาชีพของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์พบว่า กลุ่มนักเรียนนักศึกษาในระบบโรงเรียนจากเดิมที่สถานการณ์เคยลดลงจากปี 2562 อยู่ที่ 39.5% ปี 2563 ลดเหลือ 28% แต่ปี 2564 กลับสูงขึ้นเป็น 47.5%
อย่างไรก็ตาม จากการขับเคลื่อนร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ทำให้นักเรียนนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ได้เรียนต่อในสถานศึกษาเดิมมีแนวโน้มสูงขึ้น จากเดิมปี 2559 ได้เรียนต่อที่เดิม 13.7% ให้ออก หยุดเรียน หรือลาออกเกินครึ่ง 53.5% แต่ล่าสุด ปี 2564 ได้เรียนต่อที่เดิมเพิ่มเป็น 33.8% โดนให้ออก หยุดเรียน หรือลาออกลดลงเหลือ 36.1% แต่กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่คลอดแล้วในปี 2564 พบว่า ส่วนใหญ่ 52.6% อยู่บ้านเลี้ยงลูก
สำหรับปัญหาการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี อัตราลดลงต่อเนื่องเช่นกัน จากปี 2559 อยู่ที่ 12.2% ล่าสุดปี 2563 ลดลงเหลือ 8.1% ซึ่งในการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ซ้ำนั้น เมื่อวัยรุ่นตั้งครรภ์และมาคลอดในระบบสาธารณสุขเราพยายามให้เขาคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร คือ ยาฝังคุมกำเนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพดีที่สุด โอกาสพลาดน้อยที่สุด แต่มีบางส่วนอาจจะฝังแล้วมีผลข้างเคียงบ้างจึงเปลี่ยนวิธีไป หรือบางคนยืนยันว่าจะเลือกวิธีอื่น ซึ่งประสิทธิภาพก็ลดลงไป ทำให้มีโอกาสพลาด
เมื่อถามว่าต้องมีการติดตามวัยรุ่นหลังคลอดในระยะยาวด้วยหรือไม่ เพื่อป้องกันการใช้ชีวิตที่ทำให้เสี่ยงตั้งครรภ์ซ้ำ นพ.บุญฤทธิ์กล่าวว่า เรามีข้อมูล Teen Pregnancy Surveillance สำนักอนามัยเจริญพันธุ์ที่ถามกลุ่มวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และมาคลอดว่ามีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร มีการเรียนก่อนตั้งครรภ์หรือไม่ ตั้งครรภ์แล้วโดนไล่ออกหรือไม่ หลังคลอดแล้วจะกลับไปเรียนหรือเลี้ยงลูก แต่ยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถติดตามระยะยาวว่าหลังออกจากหน่วยบริการสาธารณสุขในระยะยาวเป็นอย่างไร ยังตามไม่ได้ขนาดนั้น เราตามได้นานสุดคือประมาณ 6 สัปดาห์หลังคลอด
** ถามต่อว่า ต้องให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือกระทรวงการพัฒฯาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ช่วยติดตามในระยะยาวด้วยหรือไม่...
นพ.บุญฤทธิ์กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ก็มีการพยายามหารือเรื่องการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของแต่ละกระทรวงเข้าด้วยกัน ถ้าเชื่อมโยงข้อมูลกันได้จริงก็จะตามได้ว่าแต่ละคนคลอดแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ก็จะมีกระบวนการพอสมควรทั้งเรื่อง ข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ต้องดำเนินการตามกฎหมาย จึงต้องใช้ระยะเวลาสักระยะหนึ่งกว่าจะรวมข้อมูลได้
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีข้อมูลหรือไม่ว่า การตั้งครรภ์ไม่พร้อมของวัยรุ่นก็เกิดจากการที่แม่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมเหมือนกัน นพ.บุญฤทธิ์ กล่าวว่า ความพร้อมหรือไม่พร้อมอธิบายยาก เพราะการรับรู้ว่าพร้อมหรือไม่พร้อมของแต่ละคนนั้นต่างกัน ข้อมูลของสาธารณสุขเองเราจะถามว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ พอจะบอกได้ระดับหนึ่ง แต่พร้อมหรือไม่พร้อม จากประสบการณ์บางคนแม้จะมีหน้าที่การงานดี เงินเดือนสูง ครอบครัวดูดีแต่ยังไม่พร้อม แต่เราถามในวัยรุ่นอายุ 16-17 ปี เรียนยังไม่จบ รายได้ตัวเองยังไม่มี ถามว่าพร้อมไหมหนูพร้อม จึงอาจแปลผลเรื่องพร้อมไม่พร้อมของแต่ละคนยาก แต่จากการสอบถามวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ มาฝากท้องแล้วคลอด ก่อนท้องตั้งใจจะท้องหรือไม่ พบว่า ครึ่งๆ คือครึ่งหนึ่งบอกว่าตั้งใจ อีกครึ่งบอกไม่ตั้งใจ ส่วนเหตุผลอะไรที่ทำให้มีความตั้งใจจะท้องนั้น อาจจะต้องเก็บข้อมูลตรงนี้เพิ่ม สำหรับแม่วัยรุ่นที่อายุน้อยสุด เราเคยพบอายุประมาณ 11-12 ปี แต่นานๆ ถึงจะพบ
ถามว่าทารกจากแม่ที่อายุน้อยสุขภาพเป็นอย่างไร นพ.บุญฤทธิ์กล่าวว่า เรื่องสุขภาพกายไม่ค่อยมีปัญหาถ้าคลอดมาได้ แต่ช่วงคลอดถ้าแม่อายุน้อยมากอาจจะคลอดยาก และช่วงฝากครรภ์หากรับสารอาหารไม่ดี ทารกจะตัวเล็ก แต่ทั่วไปถ้าคลอดได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน สุขภาพของทารกจะไม่ต่างจากที่คลอดจากแม่วัยอื่น
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 2221 views