สธ.เสนอ ศบค. แนวทางขับเคลื่อนโควิดหลังระบาดใหญ่ 4 มาตรการสาธารณสุข การแพทย์ กฎหมายสังคม และการสื่อสาร ย้ำ! ประชาชนสวมหน้ากาก-ฉีดวัคซีนกระตุ้น ป้องกันไม่ให้ระบาดเวฟสูงขึ้น ชี้การติดเชื้อรายใหม่อาจเพิ่มได้ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป และสูงสุดช่วง ก.ย. ขณะที่ พ.ย.น่าจะเป็นแนวระนาบลง
เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 แถลงข่าวภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เสนอแนวทางขับเคลื่อนโควิด 19 หลังการระบาดใหญ่ ซึ่งไม่ใช่โรคประจำถิ่น มียุทธศาสตร์ที่ต้องวางแผนไว้ โดยเสนอแผนให้มีมาตรการทางเศรษฐกิจ มาตรการทางสังคมและองค์กร และมาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุขร่วมกัน มี 4 มาตรการสาธารณสุข การแพทย์ กฎหมายสังคม และการสื่อสารประชาสัมพันธ์
การคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตหลังการระบาดใหญ่ ระลอกเม.ย. - ส.ค. 2564 เป็นยอดระลอกหนึ่ง และมีระลอก ม.ค. 65 ขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง ก็คาดว่าหลังจากนี้จะมีการเกิดยอดภูเขาเล็กๆ ขึ้นมาได้ ทั้งผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต ขึ้นกับเหตุปัจจัย คือ ภูมิคุ้มกัน การสวมหน้ากาก และการรวมกลุ่มกันทำกิจการกิจกรรม และลักษณะของเชื้อคือ BA.4/BA.5 เราเรียนรู้มา 2 ปีกว่า
ขอเน้นย้ำประชาชนว่า เรื่องหน้ากาก ภูมิคุ้มกัน และการรวมกลุ่มแม้จะผ่อนคลายได้ ขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชนช่วยกันดูแลภาพรวมด้วยกัน จะได้ไม่เจอเวฟที่สูงกว่านี้ รายใหม่อาจเพิ่มขึ้นได้ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป จะไปสูงช่วง ก.ย. และ พ.ย.น่าจะมีแนวระนาบลงมา หากพวกเราช่วยกันฉากทัศน์นี้ก็อาจจะกดให้ต่ำกว่าการคาดการณ์ได้ การเสียชีวิตก็จะเพิ่มช่วง ก.ย.เช่นกัน
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ศบค.ขอพื้นที่ 23 จังหวัดช่วยลดตัวเลขติดเชื้อ หลังพบระบาดแบบเวฟเล็กๆ)
"กิจกรรม 4 กิจกรรมที่ สธ.เสนอขึ้นมาเพื่อ ศบค.อนุมัติ และหน่วยงานเกี่ยวข้องไปดำเนินการ คือ 1.การประเมินสถานการณ์และความเสี่ยง ผู้ป่วยรับการรักษาใน รพ.ไม่เกิน 4 พันรายต่อวัน ป่วยตายน้อยกว่า 0.1% เสียชีวิตไม่เกิน 40 รายต่อวัน ครองเตียงหนัก-วิกฤตไม่เกิน 25% กลุ่ม 608 รับวัคซีนเข็มสองมากกว่า 80% 2.การเตรียมบริหารจัดการโควิด 19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังแทนโรคติดต่ออันตราย 3.มาตรการดำเนินการเมื่อโรคโควิดเป็นติดต่อต้องเฝ้าระวัง เช่น การแนะนำประชาชน การดำเนินการด้านการแพทย์ และ 4.การประเมินผล" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า การพิจารณาเกณฑ์ความรุนแรง ปัจจุบันเราอยู่ในช่องสีเขียวมีรักษาตัวนอนใน รพ.ประมาณ 2 พันรายต่อวัน เราอยากลงไปสู่ช่องสีขาว คือ ต่ำกว่า 2 พันราย แต่หากมีสมอลเวฟอาจเป็นสีเหลือง คือ รุนแรงน้อย 4-6 พันรายต่อวัน ต้องสร้างความตระหนักประชาชน ส่วนสีส้ม คือ รุนแรงปานกลาง มีผู้ป่วย 6-8 พันรายต่อวัน และสีแดง คือ รุนแรงมาก 8 พัน - 1 หมื่นรายต่อวัน ตรงนี้จะโยงเรื่องการจัดซื้อยา วัคซีน การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย การเบิกจ่ายรักษาพยาบาล ที่ผ่านมาภาครัฐส่งงบประมาณเต็มที่เพื่อดูประชาชน แต่อาจจะต้องเปลี่ยนผ่านการเบิกจ่ายค่ารักษาต่างๆ รพ.เอกชนก็มีความพร้อมช่วย สิ่งสำคัญคือ สปสช.หรือคนดูแลการเบิกจ่ายต้องปรับตัว เพื่อนำไปสู่การใช้สิทธิฉุกเฉิน UCEP ให้ช่วยการเปลี่ยนผ่านลื่นไหลไปด้วยดี การเปิดกิจการกิจกรรมต้องขอความร่วมมือ เพราะเราให้เปิดกันแล้ว เพื่อให้ตัวเลขไม่พุ่งมากไปกว่านี้
"ตอนนี้เรามีการกำหนดเป็นโรคต้องห้ามสำหรับต่างด้าวเอาเข้ามาในราชอาณาจักร ก็ต้องหาทางยกเลิกกำพหนดโรค กรมควบคุมโรคต้องทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการนี้และให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนดกราอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคตามมาตรา 14 (1) พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนมารับวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 จัดระบบเข้าถึงยาต้านไวรัสที่สะดวกเข้าถึงง่าย มอบกรมประชาสัมพันธ์กระตุ้นประชาชนเห้นความสำคัญสวมหน้ากาก รับวัคซีน ให้กระทรวงมหาดไทยศึกษากฎหมายเรื่องของการตัดออกจากดรคต้องห้ามเข้าราชอาณาจักร" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 776 views