สธ.ทราบปัญหา “ภาระงานหมอ” เสนอผู้บริหารกรณีประกาศแพทยสภากำหนดชั่วโมงการทำงานแพทย์ ขณะเดียวกันเร่งพิจารณาเติมกำลังคนเข้าระบบ  รองปลัดฯ ชี้มีข้อจำกัดรับหมอจบใหม่ได้ปีละ 1,800 คน เหตุต้องแบ่งจัดสรร รพ.สังกัดอื่น ล่าสุดปีนี้เข้าระบบ 1,600 คน ขาดอีก 200 คน รอทยอยจบออกมา เบื้องต้น ก.ค.-ส.ค.อีก 40 คน หากไม่พอจ่อจ้างหมอเอกชนบรรจุขรก.สธ. 

 

ตามที่สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงานภาครัฐ ยื่นหนังสือเรียกร้องคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา ร้องขอการกำหนดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ ให้ออกเป็นกฎหมายบังคับ เนื่องจากที่ผ่านมาแม้แพทยสภาจะออกประกาศแนวทางการทำงาน ไม่ให้แพทย์ทำงานล่วงเวลาเกิน 40 ชม./สัปดาห์   แต่ปรากฎว่า ความเป็นจริงไม่สามารถปฏิบัติได้จริง

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2565 นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงเรื่องนี้ ว่า     กรณีข้อเสนอการกำหนดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำงานร่วมกับแพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด ซึ่งล่าสุดแพทยสภา ได้ออกประกาศเรื่อง แนวทางการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ ซึ่งก็จะมีคำแนะนำว่า แพทย์ควรทำงานการอยู่เวรไม่เกินกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในระบบและทำงานภายในกระทรวงฯ มี 18,280 คน จำนวน 906 โรงพยาบาลทั่วประเทศ และยังมีแพทย์ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี อยู่ประมาณ 890 คน เมื่อเทียบกับจำนวนแพทย์ทั้งหมดมีประมาณ 5% ซึ่งแพทย์อายุมากกว่า 55 ปี ทางแพทยสภาออกแนวทางว่า ควรได้รับสิทธิ์งดอยู่เวรนอกเวลาราชการ

ทั้งนี้ เมื่อเทียบสัดส่วนแพทย์กับประชากรเมื่อปี 2563  แบ่งออกเป็นหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ที่ แพทย์ 1 คนต่อสัดส่วนประชากร 1,794  คนส่วนสัดส่วนของประชากรต่อแพทย์ 1 คนในหน่วยงานภาครัฐ 2,358 คน และสัดส่วนของประชากรต่อแพทย์ 1 คนในหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอยู่ที่ 3,377 คน   

 

นพ.สุระ กล่าวอีกว่า กรณีการอยู่เวรของแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) จะมีการจัดแพทย์ในแผนก ไม่น้อยกว่า 4-5 แผนก อายุรกรรมต้องมีแพทย์ 24 ชั่วโมง กุมารแพทย์ หมอสูติฯ หมอศัลย์ หมอกระดูก ต้องมีแพทย์ 24 ชั่วโมงในโรงพยาบาล แต่จำนวนแพทย์ที่มีอยู่เป็นปัญหาว่าจะจัดอย่างไรให้พอดี เพราะเวลาเช้า 1 เวร และบ่ายดึกต้องมีอีก ยกตัวอย่าง แผนกอายุรกรรม ต้องมีแพทย์ 1 คนอยู่ไอซียูต้องอยู่ตลอด และหอผู้ป่วยใน ถ้าเตียงเยอะต้องมีแพทย์ขึ้นเวร และหากมีให้คำแนะนำข้ามแผนกอีก  รวมทั้งยังมีกรณีผ่าตัดอีก คือ ภาระงานเยอะ จึงเป็นข้อเท็จจริง เมื่อเทียบกับบุลากรที่มีอยู่ไม่เพียงพอ 

"เมื่อแพทยสภาให้ข้อแนะนำมา เราก็เตรียมเสนอผู้บริหารว่าจะปรับตามข้อแนะนำได้หรือไม่ จะช่วยอย่างไร ปรับเวรอย่างไร ไม่ให้แพทย์มีชั่วโมงงานมากเกินไป" นพ.สุระ กล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง :  แพทยสภาแจงประกาศกำหนดเวลาทำงานแพทย์ไม่ควรเกิน 40 ชม./สัปดาห์ เน้นหมอเพิ่มพูนทักษะ เพราะอะไร... )

ผู้สื่อข่าวถามกรณีข้อเรียกร้องของสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงานว่า ทางออกที่ดีคือต้องเพิ่มอัตรากำลังแพทย์เข้ามาในระบบให้เหมาะสม นพ.สุระ กล่าวว่า ถูกต้อง นี่คือสิ่งที่เราน่าจะเพิ่มตำแหน่งแพทย์เข้าไปในระบบของกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม เวลาการรับแพทย์จบใหม่ในแต่ละปีนั้น อย่างไรก็ตาม แพทย์ที่มีทั้งหมดประมาณ 22,919 คน แต่มีส่วนในการออกไปศึกษาเชี่ยวชาญเพิ่มเติม ทำให้อยู่ในระบบประมาณ 18,250 คน  อีกประมาณ 4,000 คนไปเรียนต่อเรียนเฉพาะทาง หลังจากนั้นยังมีการต่อผู้เชี่ยวชาญเฉพาะอีก ซึ่งคิดว่าจำเป็นต้องเติมแพทย์ลงไปในระบบ

ด้วยกรอบอัตรากำลังของกระทรวงสาธารณสุข เรามีแพทย์อยู่ระดับหนึ่งที่กระทรวงการคลังเห็นชอบให้มีจำนวนแพทย์ได้ ดังนั้น จะขอขยายจำนวนแพทย์เพิ่มขึ้น ซึ่งแต่ละปีเราสามารถบรรจุแพทย์ได้ประมาณ 1,800 คน เพราะการผลิตแพทย์ออกมาปีละ 2,500-2,600 คนต่อปี เราต้องแบ่งแพทย์จบใหม่ไปยังสถาบันอื่นๆ ทั้งโรงเรียนแพทย์ กระทรวงอื่นๆ ด้วย เรามากกว่านี้ไม่ได้ 

เมื่อถามว่าการขอตำแหน่งแพทย์เพิ่มต้องเพิ่มจำนวนเท่าไหร่ นพ.สุระ กล่าวว่า  เมื่อพิจารณาสัดส่วนต้องให้ได้ 1 ต่อ 2,200 คนอย่างภาพรวมทั้งประเทศ ต้องใช้แพทย์เป็นหมื่นคน จะทำได้ต้องประมาณ 5-6 ปี อย่างมีคนเข้ามาในระบบใหม่ 1 พันคน มีไปเรียนด้วย บางส่วนกลับมา บางส่วนไปอยู่ที่อื่น อย่างไรก็ตาม ปีนี้สัดส่วนแพทย์ที่ต้องเข้าระบบจริงๆต้องประมาณ 1,800 คน แต่กระทรวงสาธารณสุขได้จริงอยู่ที่ 1,600 คน ซึ่งยังขาดอีก 200 คนที่ยังไม่มา ต้องรอให้ทยอยจบออกมา ซึ่งคาดว่าเดือนก.ค.-ส.ค. น่าจะจบออกมาอีกประมาณ 40 คน เป็นกลุ่มน้องๆที่คาดว่าจะจบ แต่หากไม่พอก็อาจจะใช้วิธีจ้างแพทย์เอกชนมาบรรจุข้าราชการของกระทรวงฯ โดยตำแหน่งส่วนนี้น่าจะต้องขอเป็นหลักร้อยคน

"ที่เป็นปัญหาช่วงเปลี่ยนผ่าน คือ อย่างปีนี้เราเติมน้องๆหมอจบใหม่ 1,600 คน ลงพื้นที่ปฏิบัติงานวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา  เมื่อมาถึงเดือน มิ.ย. จะมีหมอประมาณ 1,000 คนลาไปศึกษาในช่วงเดือน ก.ค. แต่ขณะเดียวกันคนที่เราส่งไปเรียนต่อประมาณปีละ 1,000 คนก็จะกลับเข้ามาในระบบช่วง ก.ค.เช่นกัน น่าจะทำให้ดีขึ้นด้วยตัวเอง ซึ่งลักษณะนี้จะคล้ายกันทุกปี แต่หากคนในระบบเราเพิ่มขึ้นปัญหาก็จะน้อยลง" รองปลัด สธ. กล่าว

เมื่อถามว่า หากกระทรวงสาธารณสุขขออัตรากำลังแพทย์เพิ่มเป็น 2,000 คนได้หรือไม่ นพ.สุระ กล่าวว่า แม้จะขออัตรากำลังไป 2,000 กว่าคน แต่คนที่จะเข้ามาในระบบเราไม่ได้ตามนี้อยู่ดี เพราะตามสัดส่วนของ สธ. ต้องได้ 1,800 คน เพราะต้องแบ่งให้โรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ ทั้งมหาวิทยาลัย ทหาร ตำรวจ เพราะนี่เป็นข้อตกลงภาพใหญ่ทั้งประเทศ  

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า กรณีสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงานร้องขอแรงจูงใจมากขึ้น เช่น ค่าอยู่เวร  นพ.สุระ กล่าวว่า เป็นไปตามระเบียบราชการ ส่วนการจ่ายช้าจ่ายเร็วก็ขึ้นกับสถานการณ์โรงพยาบาล สถานการณ์เงินบำรุง  

 

ข่าวเกี่ยวข้อง: 

กลุ่มหมอขอสิทธิ์ "ชั่วโมงการทำงานแพทย์"  ออกเป็นกฎหมายควบคุม แก้ปัญหาภาระงานวนลูปหลายสิบปี

- "หมอเมธี" ชี้รัฐแก้ปัญหาภาระงานแพทย์ไม่ตรงจุด ต้องกระจายแพทย์ สร้างแรงจูงใจ ไม่ใช่เน้นผลิตเพิ่ม!!

 

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org