กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดชุดตรวจกัญชา "Test Kann (เทส กัญ)" ใช้ตรวจหาสาร THC เกิน 0.2% ในสารสกัดหรือน้ำมันกัญชา ไม่สามารถใช้ตรวจอาหารผสมกัญชา เป็นเรื่องการวิจัยในอนาคต เตรียมชุดเทสกัญ 15,000 ชุดแจกฟรีผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชน ขณะที่การตรวจหา THC ในอาหารต้องทำในแล็บเท่านั้น มีราคาสูง 5 พันบาท
กลายเป็นประเด็นที่ต้องติดตามภายหลังรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เดินหน้าปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นใช้กัญชาเสรีทางการแพทย์ ไม่สนับสนุนการสันทนาการ แต่ก็เกิดประเด็นกรณีอาหารที่มีเมนูกัญชาว่า จะทราบได้อย่างไรว่ากัญชาที่ผสมในอาหารให้รับประทานนั้น มีสาร THC ในปริมาณเท่าไหร่ หรือสารสกัดกัญชาที่เราใช้มีมากกว่า 0.2% หรือไม่ เพราะหากสาร THC หรือ สารเตตราไฮโดร แคนาบินอล (Tetrahydrocannabinol) มีมากกว่า 0.2% ถือว่าเป็นยาเสพติด
ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 ที่โรงแรมริชมอนด์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวเปิดตัวชุดตรวจกัญชา "Test Kann (เทส กัญ)" ภายในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 30 เพื่อเป็นเครื่องมือในการตรวจหาสารสกัดกัญชา แต่ตรวจได้เฉพาะน้ำมันกัญชา หรือสารสกัดเท่านั้น ในอาหารยังไม่สามารถตรวจได้
นพ.ศุภกิจ กล่วอีกว่า นโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ แม้จะปลดล็อกทุกส่วนของกัญชากัญชงออกจากยาเสพติดแล้ว แต่ยังยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% การจะรู้ว่าปริมาณเกินหรือไม่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงพัฒนาการตรวจพิสูจน์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การตรวจหาปริมาณสารสำคัญกัญชาในสิ่งของหรือผลิตภัณฑ์ สามารถตรวจได้ทั้งทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) เช่น อาหาร คุกกี้ ช็อกโกแลต ว่ามีกัญชาใส่ไปมีมากน้อยแค่ไหน สามารถบอกได้เลยว่ามีกี่มิลลิกรัม แต่ต้องตรวจในห้องปฏิบัติการราคาค่อนข้างแพง ค่าตรวจ 5,000 บาท
อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยชุดทดสอบเพื่อหาสารสกัดกัญชานั้น ประกอบด้วย
1.ชุดทดสอบ THC Test Kit ซึ่งพัฒนามาจากชุดทดสอบเดิมที่เชียงใหม่ในการตรวจ THC ในกัญชง โดยนำมาพัฒนาเป็นชุดทดสอบที่ตรวจวัดพืชกัญชาและสารสกัดกัญชา ซึ่งนอกจากตรวจในน้ำมันกัญชาแล้ว ยังตรวจพวกใบได้ด้วย โดยชุดตรวจดังกล่าวได้มีการพัฒนาขึ้นสะหรับตรวจหาสารสกัดกัญชาว่ามี THC มากน้อยแค่ไหน
สำหรับชุดทดสอบดังกล่าวจะออกมาในรูปแบบชุดตรวจ 1 กระเป๋ามีราคา 4,000 บาท แต่จะได้อุปกรณ์ทั้งหมด เช่น อุปกรณ์ให้ความร้อน ชั่งน้ำหนัก น้ำยาต่างๆ สามารถตรวจได้ 20 เทสต์ เฉลี่ย 200 บาท ต่อเทสต์ แต่เมื่อใช้ตรวจหมดแล้วสามารถซื้อเป็นรีฟิลมาเติมได้ราคา 1 พันบาทต่อ 20 เทสต์ ราคาจะถูกลงมาเหลือ 50 บาทต่อเทสต์ ชุดทดสอบนี้ไม่เหมาะกับการนำมาตรวตัวอย่างเดียว เพราะไม่คุ้มค่า อาจต้องเป็นการรวมตัวกันเยอะๆ เพื่อตรวจเป็นแบบโรงงานหรือมีการตรวจบ่อยๆ และคนที่จะตรวจชุดนี้ได้จำเป็นต้องผ่านการอบรมด้วย โดยผลการตรวจจะออกมาลักษณะขึ้นแถบสีชมพูแดงให้อ่านค่า THC ซึ่งจะมีสีของระดับ 0.2% โดยหาก THC น้อยกว่า 0.2% จะเป็นสีที่จางลง และหาก THC มากสีจะเข้ม
"การอ่านค่าจะมีแอปพลิเคชันที่สามารถดาวน์โหลดมาอ่านค่าสีได้ว่า สีที่ออกมาคือปริมาณ THC เท่าไร จะดีกว่าการใช้ตาดู ซึ่งการตรวจจะช่วยให้คนทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ รู้ว่ามีปริมาณ THC มากน้อยแค่ไหน เพื่อไม่ให้เกินกำหนด" นพ.ศุภกิจกล่าว
2.ชุดทดสอบกัญชา Test Kann เป็นชุดตรวจใหม่ล่าสุด ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายกว่าแบบแรก มีลักษณะตลับเหมือนการตรวจ ATK โควิด โดยชุดตรวจดังกล่าวใช้ตรวจสาร THC ในสารสกัดกัญชาและน้ำมันกัญชา ลักษณะการตรวจเป็นชุดทดสอบเบื้องต้น ใช้เทคนิคอิมมูโนโครมาโทกราฟิ (Immunochromatography) หรือ IC ซึ่งอาศัยหลักการจับกันระหว่างแอนติบอดี้และแอนติเจนแบบแข่งขัน (Competitive immunoassay) วิธีใช้สะดวก รวดเร็ว ทราบผลภายใน 15 นาที มีประสิทธิภาพและใช้ในภาคสนามได้ มีความไวในการตรวจวัดสาร THC ที่ความเข้มข้น 2 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร(mg/ml) (0.2%) ผลการทดสอบจะต้องปรากฏแถบสีม่วงที่บริเวณตำแหน่ง C ทุกครั้ง จึงสามารถอ่านผลได้ สำหรับการแปลผล
"โดยหากผลบวก จะปรากฏแถบสีม่วงแดงเพียง 1 ขีด บริเวณตำแหน่ง C ที่ตลับชุดทดสอบ แสดงว่ามี THC ในตัวอย่างที่ทดสอบเกิน 0.2% ส่วนผลลบ จะปรากฎแถบสีม่วงแดง 2 ขีด บริเวณตำแหน่ง C และ T ที่ตลับชุดทดสอบ (โดยความเข้มสีที่ตำแหน่ง T อาจจะเข้มหรือจางกว่าตำแหน่ง C ก็ได้) แสดงว่ามี THC ในตัวอย่างที่ทดสอบไม่เกิน 0.2% อย่างไรก็ตาม หากผลการตรวจไม่ขึ้นมาเลย ถือว่าชุดทดสอบใช้ไม่ได้"
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ชุดตรวจดังกล่าวเป็นการตรวจเบื้องต้น (Screening test) เท่านั้น ไม่สามารถนำผลไปดำเนินการทางคดีได้ สำหรับราคาต้นทุนอยู่เทสละไม่เกิน 100 บาท แต่กรมวิทยาศาสตร์ฯ ไม่สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้ แต่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตให้เอกชนที่สนใจได้ เพื่อผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ และในระยะแรกนี้จะแจกจ่ายฟรีให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องที่เหมาะสม จำนวน 15,000 ชุด ส่วนจะแจกเมื่อไหร่นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณา
"ขอย้ำว่าเป็นชุดตรวจเบื้องต้น จะนำผลไปฟ้องร้องดำเนินคดีเลยไม่ได้ เหมือนการตรวจยาบ้าแม้ผลตรวจออกมาจะเป็นฉี่ม่วงก็เอาผิดไม่ได้จนกว่าจะไปตรวจเลือด ซึ่งที่มุ่งหวังคือ คนที่ทำผลิตภัณฑ์ หรือน้ำมันกัญชาจะได้นำชุดทดสอบมาตรวจของตัวเองก่อนเบื้องต้น ถ้าเกินก็จะได้ปรับปรุงให้ลงมาไม่เกินจะได้ไม่ผิดกฎหมาย เป็นการช่วยคุ้มครองผู้บริโภค" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
เมื่อถามว่าจะมีชุดตรวจจากอาหารโดยตรงหรือไม่ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า การตรวจในอาหารไม่ง่ายในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพราะมีองค์ประกอบต่างๆ ในอาหารมาก ซึ่งมีผลต่อวิธีตรวจ แต่หากต้องการตรวจอาหารก็สามารถส่งมาตรวจที่ห้องแล็บได้ แต่มีราคาสูง 5 พันบาท เพราะต้องมีขั้นตอนต่างๆ เช่น การกำจัดไขมันในอาหารออกไป ซึ่งวิธีการเหล่านี้ชาวบ้านไม่สามารถตรวจเองได้ ส่วนการจะพัฒนาชุดทดสอบที่เอาไปจุ่มในน้ำแกงหรืออาหารแล้วรู้ว่ามี THC เท่าไรก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่โดยหลักการเรียนว่ายังไม่มีบริษัทไหนในโลกทำออกมาได้ ถือว่าเป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันคิดและพัฒนาในอนาคต
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนการตรวจในแล็บเอกชนอื่นๆ นั้น เนื่องจากสารสกัดมาตรฐาน THC ยังเป็นยาเสพติด การครอบครองของห้องแล็บยังทำไม่ได้ อย.กำลังปรับกฎหมายเพื่อให้แล็บเอกชนครอบครองสารมาตรฐาน THC ในการทำแล็บได้ ซึ่งขณะนี้ทำได้แค่ CBD ที่ไม่เป็นสารเสพติด ส่วนการทำมาตรฐานการตรวจนั้น เมื่อกรมวิทย์พัฒนาวิธีการตรวจในอาหาร ยา เครื่องสำอาง ก็จะยื่นของ ISO และมาตรฐาน และจะเปิดให้แล็บเอกชนเข้ามาทำการเทียบมาตรฐาน เป็นการพัฒนาไปด้วยกัน ซึ่งหลายแล็บก็เริ่มสนใจเข้ามา
(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมวิทย์ จ่อวิจัยในมนุษย์ "ตรวจหาสารกัญชาในเลือด" เล็งร่วม รพ. ขณะที่ศูนย์วิทย์ตรวจได้ 1 ก.ค.นี้ )
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 11317 views