รามาธิบดี ร่วมสธ. กรมควบคุมโรค กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม สถาบันราชประชาสมาสัย โรงพยาบาลสมุทรปราการ และ โรงพยาบาลสมุทรสาคร เปิดหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตร สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและพิษวิทยา (หลักสูตรนานาชาติ)
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2565 ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ MoU เพื่อการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการด้านอาชีวเวชศาสตร์ ขึ้น ระหว่าง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมควบคุมโรค กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม สถาบันราชประชาสมาสัย โรงพยาบาลสมุทรปราการ และ โรงพยาบาลสมุทรสาคร ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของการลงนามในครั้งนี้เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการฝึกอบรมและผลิตแพทย์ทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ไปสู่การทำงานในระบบสาธารณสุขของประเทศระดับชุมชนให้มีขีดความสามารถที่ช่วยเหลือประชาชน โดยนำร่องในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดสมุทรปราการ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว จะทำให้เกิดประโยชน์ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และกรมควบคุมโรค โดยกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และสถาบันราชประชาสมาสัย ในการจัดฝึกอบรมความรู้ ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้แก่แพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ ให้มีความรู้พื้นฐานของเวชศาสตร์ป้องกันทั่วไป ความรู้พื้นฐานของเวชศาสตร์ป้องกันเฉพาะแขนง ทักษะ เจตนคติของวิชาชีพ ความรู้ด้านการบูรณาการและการทำวิจัย ซึ่งกรมควบคุมโรคมีความพร้อมที่จะสนับสนุนเป็นแหล่งฝึกประสบการณ์ภาคปฏิบัติแก่แพทย์ประจำบ้าน ตามหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ ให้มีความรู้ความสามารถในการวางแผน การให้บริการ การประเมินผลการดูแลรักษาผู้ป่วย ตลอดจนการป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมต่อไป
ศ. นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แพทย์อาชีวเวชศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการดูแลคนทำงาน ทั้งในการวินิจฉัยโรคจากงาน และร่วมวางแผนป้องกันการบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงานด้วยกลวิธีต่าง ๆ กับสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบกิจการ แต่ในปัจจุบันยังเป็นสาขาที่ยังขาดแคลนมาก และจำนวนแพทย์ที่สามารถรับเข้าฝึกอบรมได้ในแต่ละปียังไม่เพียงพอต่อความต้องการ การผลิตแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ของรามาธิบดีจึงจะช่วยเพิ่มกำลังในการผลิตแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ที่มีความสามารถออกไปทำประโยชน์ให้กับสังคมได้มากขึ้น นอกจากนี้ โรคจากการประกอบอาชีพและโรคที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานมักไม่ค่อยได้รับการวินิจฉัย (under diagnosis) ทำให้ไม่เห็นภาระโรค (burden of disease) ที่เกิดจากทำงาน ขาดโอกาสในการแก้ไขป้องกัน ดังนั้นการมีแพทย์อาชีวเวชศาสตร์มีจึงบทบาทสำคัญวินิจฉัย เมื่อมีเหตุการณ์ที่สงสัยว่าเกิดโรคจากการประกอบอาชีพ ทำให้เกิดการวินิจฉัยโรคมากขึ้น มีกลไกการเฝ้าระวัง และการจัดการ เพื่อนำไปสู่สุขภาวะของคนทำงานต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร. นพ.วิชัย เอกพลากร ประธานหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินการเปิดหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ โดยได้ผ่านการประเมินคุณภาพหลักสูตรตามมาตรฐาน WFME จากสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และได้รับการอนุมัติจากแพทยสภาให้เปิดแผนงานการฝึกอบรม เพื่อฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ให้มีสมรรถนะ 6 ด้าน ได้แก่ 1) สามารถดูแลรักษาผู้ประกอบอาชีพหรือคนทำงานได้ 2) มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และความสามารถในการนำไปใช้แก้ปัญหาของผู้ประกอบอาชีพและสังคมโดยรวม 3) สามารถเรียนรู้จากการปฏิบัติและการพัฒนาตนเอง 4) มีทักษะปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารที่ดี 5) มีความเป็นมืออาชีพ มีคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติอันดีต่อผู้ประกอบอาชีพ 6) สามารถทำเวชปฏิบัติเชิงระบบ (system-based practice) มีความรู้เกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศ มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ประกอบอาชีพและรักษาผู้ป่วย
นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวว่า การผสานความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลสมุทรสาคร ในครั้งนี้ เพื่อเปิดเป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านด้านอาชีวเวชศาสตร์ ซึ่งทั้งสองสถาบันถือเป็นสถาบันชั้นนำและมีความพร้อมในเรื่องการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน การได้ร่วมมือระหว่างกันในครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีที่จะผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแขนงอาชีวเวชศาสตร์ซึ่งยังขาดแคลนในปัจจุบันเพื่อมาช่วยเติมเต็มในเรื่อง การดูแลรักษา ป้องกันโรคที่เกิดขึ้นจากการทำงานและโรคที่เกิดจาก สิ่งแวดล้อมซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้นในปัจจุบัน
ด้าน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการ กล่าวว่า โรงพยาบาลสมุทรปราการ และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินงานด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ร่วมกันมา ทั้งการจัดทำแนวทางรักษาโรคพิษตะกั่วจากการทำงาน การทำวิจัยสำรวจระดับตะกั่วในเลือดในเด็กปฐมวัย ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รามาธิบดี ซึ่งจังหวัดสมุทรปราการเป็นจังหวัดที่มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุดในประเทศ ทั้งยังมีอัตราประสบอันตรายจากการทำงานสูง เจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงาน เช่น โรคพิษตะกั่ว โรคปอดฝุ่นฝ้าย โรคพิษสารเคมีต่าง ๆ ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้โรงพยาบาลเป็นแหล่งเรียนรู้ฝึกอบรมให้กับแพทย์ประจำบ้านอาชีวเวชศาสตร์ได้เป็นอย่างดี
ผู้ที่มีความสนใจเข้าศึกษาเพื่อแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์ ทั้งหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตร สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและพิษวิทยา (หลักสูตรนานาชาติ) สามารถดูรายละเอียด https://www.rama.mahidol.ac.th/graded/th/regisraf และ https://graduate.mahidol.ac.th/Admission/announce/announce.php?id=2230MG00&y=2565
หรือ สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02-201-1518
- 498 views