ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 
​กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่โรงเรียนศรีบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขับเคลื่อนงานอาหาร โภชนาการในโรงเรียน ส่งเสริมเด็กวัยเรียนสูงดีสมส่วน มีพฤติกรรมการบริโภคที่พึงประสงค์ กินเป็น เลือกเป็น  เน้นบูรณาการกับภาคีเครือข่ายและทุกระดับที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค

เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2565  นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนงานด้านอาหารและโภชนาการในโรงเรียน ณ โรงเรียนศรีบางไทร  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า การเจริญเติบโตของเด็กวัยเรียน พร้อมเรียนรู้เต็มศักยภาพ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ    คือ อาหารและโภชนาการในโรงเรียน เพื่อส่งเสริมเด็กวัยเรียนสูงดีสมส่วน ได้รับบริการตามมาตรฐานโภชนาการ กินเป็น เลือกเป็น เพิ่มการบริโภคผัก ผลไม้ ไข่ นม ลดหวาน มัน เค็ม

พร้อมทั้งควบคุมการจำหน่ายขนม  และเครื่องดื่มที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพ ให้เด็กได้รับการคัดกรองโลหิตจาง และได้รับยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก 60 มิลลิกรัม ทุกสัปดาห์ ผู้ปกครอง ครู เจ้าหน้าที่ทางการศึกษาและสาธารณสุข มีการเฝ้าระวัง ติดตาม และแก้ไขภาวะโภชนาการร่วมกัน โดยมีเป้าหมายภาวะโภชนาการของเด็กวัยเรียนวัยรุ่น ในปี 2570 เด็กอายุ 6 – 14 ปี               สูงดีสมส่วน ร้อยละ 65 เริ่มอ้วนและอ้วน ไม่เกินร้อยละ 10 เตี้ย ไม่เกินร้อยละ 5 และผอม ไม่เกินร้อยละ 5 ส่วนสูงเฉลี่ยที่อายุ 12 ปี เด็กชาย 152 เซนติเมตร เด็กหญิง 153 เซนติเมตร และที่อายุ 19 ปี ชาย 175 เซนติเมตร หญิง 165 เซนติเมตร

“สำหรับโรงเรียนศรีบางไทร ที่ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมในครั้งนี้ ต้องขอชื่นชมการดำเนินงานส่งเสริมโภชนาการ   และสุขภาพในโรงเรียน ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เน้นการมีส่วนร่วมของเด็ก        ผู้ปกครอง และชุมชน ส่งผลให้เด็กในโรงเรียนเติบโต แข็งแรง สูงสมวัย และเด็กนักเรียนยังเป็นต้นแบบที่ดี                 ในการกินผักผลไม้ให้กับผู้ปกครองได้ด้วย ถือว่าเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการวางพื้นฐานสุขภาพที่ดีให้กับเด็ก    การขับเคลื่อนงานโภชนาการและการส่งเสริมสุขภาพเด็กวัยเรียนวัยรุ่นนั้น ต้องทำแบบบูรณาการกับภาคีเครือข่าย     ทุกระดับที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค โดยวันที่ 9 มิถุนายน 2565 นี้ กระทรวงสาธารณสุข จะลงนาม       บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 โดยเป็นการขับเคลื่อนงาน 12 กระทรวง   เพื่อสร้างทักษะชีวิต และความรอบรู้ด้านสุขภาพให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่น เข้มแข็ง เติบโตอย่างมีคุณภาพ”          รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว​

พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวว่า การส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนมีภาวะโภชนาการและสุขภาพที่ดี ต้องเริ่มจากการสนับสนุนและส่งเสริมให้ได้กินอาหารกลางวัน     ในโรงเรียนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน มีแผนการจัดเมนูหมุนเวียนที่หลากหลาย ตามมาตรฐาน     อาหารกลางวันในโรงเรียน เด็กได้รับปริมาณอาหารที่เพียงพอในสัดส่วนที่เหมาะสมกับวัยตามธงโภชนาการ และสร้างเสริมให้เด็กวัยเรียนมีการจัดการด้านสุขภาพแบบองค์รวมอย่างเหมาะสมตามประเด็น “NuPETHS”       ซึ่งประกอบไปด้วย Nu : Nutrition กินอาหารครบ 5 หมู่ หลากหลาย ปริมาณ และสัดส่วนตามคำแนะนำ 1 วัน       P : Physical activity ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 60 นาที ทุกวัน E : Environmental Health ส่งเสริมให้มีทักษะด้านความปลอดภัยและพฤติกรรมอนามัยสิ่งแวดล้อม T : Teeth แปรงฟันแบบ 2 2 2 และการเลือกอาหารว่างเพื่อป้องกันฟันผุ H : Hygiene ส่งเสริมสุขอนามัย ทักษะชีวิต และพฤติกรรมทางเพศ S : Sleeping นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลับสนิท 9 - 11 ชั่วโมงต่อวัน เข้านอนก่อน 4 ทุ่ม
 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง