ถือเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ด้านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิดด้วยการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่รัฐบาลและภาคเอกชนหมายหมั้นปั้นมืออย่างมาก สำหรับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 ภายใต้ชื่องาน Expo 2028 – Phuket, Thailand เพื่อผลักดันบทบาทของประเทศไทยและจังหวัดภูเก็ตเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Medical hub) และเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก

การเสนอตัวครั้งนี้ประเทศไทยใช้ธีม Future of Life : Living in Harmony, Sharing Prosperity ชีวิตแห่งอนาคต-แบ่งปันความรุ่งเรือง อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่ง ด้วยงบประมาณ 4,180 ล้านบาท ระยะเวลาจัดงาน 3 เดือน (ระหว่างวันที่ 20 มี.ค.-17 มิ.ย.2571) โดยต้องแข่งกับอีก 4 ชาติประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สเปน เซอร์เบียและอาร์เจนตินา

ถึงตอนนี้เข้าสู่เฟสที่ 2 ของการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพแล้ว โดยขั้นตอนต่อไปคือการเตรียมนำเสนอความพร้อมของประเทศ (Country Presentation) ต่อคณะกรรมการ Bureau International des Expositions (BIE) ในวันที่ 20-21 มิ.ย.นี้ที่ฝรั่งเศส ก่อนที่ทาง BIE จะส่งคณะมาลงพื้นที่ประเมินความพร้อมสำรวจพื้นที่เชิงลึก (Enquiry Mission) วันที่ 25-29 ก.ค. ซึ่งถือเป็นขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญมาก

Hfocus มีโอกาสได้คุยกับ นพ.วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ในฐานะแม่งานเกี่ยวกับความพร้อม ความหวังและความคุ้มค่าในการลงทุนหากไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ

นพ.วีระศักดิ์ มองว่าการท่องเที่ยวหลังโควิดจะเปลี่ยนไปจากรูปแบบการเดินทางเพื่อพักผ่อนเฉยๆ ก็อาจแฝงด้วยเรื่องของการกินดีอยู่ดี ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีหรือที่เรียกกันว่า wellness ซึ่งในภาพรวมของประเทศหวังจะใช้งานสเปเชียลไลส์ เอ็กซ์โป จุดพลุเพื่อให้เห็นถึงศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางความรู้ สร้างภาพลักษณ์การเป็นเวิลด์คลาส เดสติเนชั่นในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตหลังโรคระบาดทำให้การท่องเที่ยวต้องหยุดชะงัก

“Pain Point ของภูเก็ต คือเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักอย่างที่ผู้ว่าฯ (ณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต) ชอบใช้คำว่าเศรษฐกิจศาลพระภูมิคือมีเสาการท่องเที่ยวเสาเดียว เมื่อเจอโควิดทำให้ทรุดหนักกว่าจังหวัดอื่นๆ ที่ยังมีภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอื่นรองรับอยู่ จึงต้องมีเสาอื่นเพิ่มขึ้น เช่น สุขภาพ ไมซ์ กีฬา การศึกษา เป็นเช่น”

ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical and Wellness Tourism ถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

(นพ.วีระศักดิ์ หล่อทองคำ)

 

** เมดิคัล พลาซ่า บ้านหลังใหญ่งานเอ็กซ์โป 2028

บนพื้นที่กว่า 141 ไร่ใกล้กับสะพานสารสิน ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งจะใช้เป็นพื้นที่จัดงาน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนของโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก โดยมีจัดสร้างศูนย์บริการทางการแพทย์ครบวงจร ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และส่วนของงานเอ็กซ์โป ที่มีแผนจะสร้างศูนย์ประชุมขนาด 5,000 ที่นั่งเพิ่มเติม

“เดิมทีโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้เสนอโครงการเมดิคัล พลาซ่าก่อนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ภายหลังเมื่อมีการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงานเอ็กซ์โปโดยชูเรื่องเมดิคัลแอนด์เวลเนสส์ จึงผนวกเข้าด้วยกันและแชร์พื้นที่แปลงเดียวกัน โดยให้เมดิคัล พลาซ่าเป็นส่วนสำคัญในงานด้วยแต่แยกงบประมาณคนละก้อน” คุณหมอวีระศักดิ์ ระบุ

สำหรับศูนย์บริการทางการแพทย์ครบวงจร ได้รับอนุมัติงบประมาณ 1,411.70 ล้านบาท ประกอบด้วย ศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร (International Health/Medical Plaza) ศูนย์อภิบาลสุขภาพผู้สูงอายุนานาชาติ (Premium Long Term Care) ศูนย์ใจรักษ์ (Hospice Home) หรือศูนย์การดูแลแบบประคับประคองในระยะสุดท้ายของชีวิต และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครบวงจร (Rehabilitation Center)

ไม่ว่าประเทศไทยจะได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปหรือไม่ ตามแผนเมดิคัล พลาซ่า จะเริ่มดำเนินการในปีหน้าและใช้ระยะเวลา 4 ปีจะแล้วเสร็จในปี 2569 โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการและหาข้อสรุปภายใน 6 เดือน

คอนเซปต์จะเหมือนห้างสรรพสินค้าแต่เกี่ยวกับสุขภาพและออกแบบอิงธรรมชาติ มีทั้งโรงพยาบาลเอกชน คลินิก หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องมาใช้พื้นที่ร่วมกัน เป็นศูนย์รวมวิทยาการทางการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพที่ดี เชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวระดับนานาชาติ โดยเป็นด่านหน้าในการเจอกับลูกค้าทั้งคนไทยและต่างประเทศ ส่วนศูนย์อื่นๆ เป็นอาคารแยกออกไปเป็นโซนสงบต่างหาก

ขณะที่ศูนย์ประชุมและศูนย์วิจัยทางการแพทย์ของโครงการงานเอ็กซ์โปนั้น จะเกิดขึ้นหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผลการประมูลสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพ โดยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงบประมาณก้อนโตที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการจัดงาน การสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนา การอำนวยความสะดวกภายในจังหวัด การประชาสัมพันธ์และค่าดำเนินการประมูลสิทธิ์

(ภาพร่างแบบสถานที่ก่อสร้าง Medical Plaza และสานที่จัดงาน Expo)

 

** เจ้าบ้านพร้อมแค่ไหน...ก่อนชี้ชะตาปีหน้า

อีก 12 เดือนนับจากนี้ภูเก็ตจะต้องสร้างความเชื่อมั่นและแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพก่อนจะมีการลงคะแนนลับในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่ BIE ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 ซึ่งผอ.โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ยืนยันว่าทุกภาคส่วนพยายามทำงานร่วมกันท่ามกลางบรรยากาศที่ดีมาก เพราะมี Pain Point ที่ต้องหาทางออกร่วมกัน และเป็นโปรเจ็กต์สำคัญต่อทั้งประเทศและจังหวัดภูเก็ต เมื่อไม่นานมานี้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อม โดยมีทั้งส่วนราชการภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนเข้าร่วมเพื่อระดมความคิดเห็นในการเตรียมความพร้อม เน้นการสร้างการรับรู้การมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี

“ถามว่าพร้อมมั้ย มันค่อยๆ พัฒนาเหมือนวิ่งไปทุกวัน”

ทั้งนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พ.ค.มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการเตรียมความพร้อมในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษจากการเสนอของงบประมาณดำเนินโครงการ EXPO 2028 - Phuket, Thailand 93.31 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการเตรียมความพร้อมรองรับกิจกรรมสำรวจพื้นที่เชิงลึก (Enquiry Mission) ของคณะกรรมการ BIE ณ จังหวัดภูเก็ต 60 ล้านบาท และการดำเนินงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ 30 ล้านบาท

เพราะในการลงมาสำรวจพื้นที่เชิงลึกนี้ คณะกรรมการ BIE ไม่ใช่แค่มาดูเฉพาะแปลงที่ใช้จัดงานเท่านั้น แต่ยังดูสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ดูจังหวัดข้างเคียงเพื่อสำรวจการเดินทางและความเป็นไปได้ในการเข้าถึง

"เราต้องทำให้เขาเห็นว่าจังหวัดเอาจริง แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็ยังต้องการจัดให้ได้และมีความร่วมมือในจังหวัดในทุกด้าน เช่น ระบบขนมวลชนต้องพร้อมรองรับคนที่จะเข้ามา 4-5 ล้านคน ที่ผ่านมาจังหวัดภูเก็ตคุยเรื่องรถไฟรางเบากันมาหลายปีแล้วแต่ก็ไม่สำเร็จ ครั้งนี้ถือเป็นแรงกดดันที่จะต้องทำให้สำเร็จก่อนปี 2571”

 

** การมีส่วนร่วมคือตัวแปรสำคัญ

นอกจากความพร้อมทางกายภาพแล้ว  นพ.วีระศักดิ์ บอกว่าสิ่งที่คณะกรรมการ BIE ให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือความตื่นตัวและการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน หรือแม้กระทั่งนักเรียนในพื้นที่ตำบลไม้ขาว

“ชาวบ้านเห็นด้วยมั้ย โรงเรียน-นักเรียนคิดเห็นอย่างไร ได้รับผลกระทบหรือไม่ รวมทั้งคนในเมืองมีการรับรู้มากน้อยแค่ไหน เขาจะดูทุกองค์ประกอบเพื่อการมีส่วนร่วมของคนทั้งเมือง”

“เบื้องต้นที่ได้คุยกับทางอบต.และผู้นำทางถิ่นทราบว่าชาวบ้านเห็นด้วย เพราะจะสร้างความคึกคักให้กับตำบลไม้ขาว ซึ่งยังค่อนข้างเงียบเมื่อเทียบกับโซนอื่นของภูเก็ต ทำให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้มากขึ้นทั้งในช่วงจัดงานและหลังจากนั้น”

 

** กระตุ้นเศรษฐกิจ ขยายการลงทุนด้านสุขภาพ

หากประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษนี้ มีการประเมินว่าจะมีผู้ชมเข้าร่วมงานประมาณ 4.9 ล้านคน เพิ่มมีเม็ดเงินสะพัด 49,000 ล้านบาท เพิ่มมูลค่า GDP 39,000 ล้านบาท มีรายได้จากการจัดเก็บภาษี 9,500 ล้านบาทและเกิดการจ้างงานในพื้นที่ถึง 113,000 อัตรา ซึ่งคุณหมอเชื่อว่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าโดยเฉพาะในแง่ของเศรษฐกิจ

“นี่น่าจะเป็นโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ที่จะสร้างความเชื่อมั่นและนำไปสู่การลงทุนทั้งในโครงการเมดิคัล พลาซ่า และเป็นต้นแบบของการขยายตัวธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในพื้นที่กลุ่มอันดามันและพื้นที่อื่นๆ” คุณหมอเผยถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ

นอกจากนี้หลังจบงานจะมีการรื้อถอนเฉพาะบางส่วนที่เป็นนิทรรศการ แต่ในส่วนของอาคารที่มีการสร้างเพิ่มเติม เช่น ศูนย์ประชุมพร้อมจะใช้งานต่อเป็นศูนย์ประชุมนานาชาติอีกแห่งหนึ่งของภูเก็ต เพิ่มศักยภาพของการเป็นไมซ์ ซิตี้อีกทางนอกเหนือจากการเมดิคัล พลาซ่า

 

** 10 ปีข้างหน้าคนภูเก็ตจะอายุยืนขึ้น

ขณะที่ในด้านสาธารณสุข นี่จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์เชิงการแพทย์ระดับโลก เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมและการพัฒนารูปแบบการให้บริการสาธารณสุขในอนาคต รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในบริบทหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเป็นเวทีในการสร้างความร่วมมือในทุกมิติ เพื่อเตรียมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ

“หลังโควิดปรัชญาของคำว่า wellness เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพที่ดีมากขึ้น ซึ่งมีหลายเส้นทาง บางคนถนัดออกกำลังกาย บางคนเน้นเรื่องอาหารการกิน บางคนทำได้ด้วยตัวเอง บางคนต้องการคนดูแลแนะนำ เส้นทางที่เหมาะสมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมใช้คำว่า way of life เส้นทางหรือวิถีชีวิตของคนที่จะมีสุขภาพดี นี่จะเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ ทั้งศาสตร์ของไทยและต่างประเทศที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้”

โดยเฉพาะกลุ่ม 6 จังหวัดอันดามันที่มีโครงการ Andaman Wellness Economic Corridor (AWC) การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ขณะที่ด้านสังคมก็สามารถปักหมดภูเก็ตบนแผนที่โลกในการเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และกระตุ้นให้คนในพื้นที่สนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น

“จบงานนี้ภูเก็ตตั้งเป้าในอีก 10 ปีข้างหน้าผู้คนต้องมีอายุยืนมากขึ้นและต้องมีสุขภาพดีด้วย เหมือนที่กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงตรัสว่าให้ “เกษียณอย่างมีคุณภาพ” คือ 60 ไม่แก่แต่เป็นวัยต้นๆ ที่จะดูแลสุขภาพให้ยาวขึ้น เราตั้งเป้าว่าโรคเบาหวาน ความดัน มะเร็งในคนภูเก็ตจะลดลง จากการใช้ศาสตร์เวลเนสส์ ตามธีมของงาน”

นอกจากนี้ยังเกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ รวมไปถึงการพัฒนาระบบการจัดการขยะที่ได้มาตรฐานจากการเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพ

 

** คู่แข่งสายแข็ง โอกาส 50-50

สำหรับความหวังในการได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพนั้น นพ.วีระศักดิ์ เผยว่าไม่เกินความเป็นไปได้แต่ก็ไม่ง่ายเลย ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงการเดินทางมาสำรวจพื้นที่เชิงลึกของคณะกรรมการ BIE ในอีก 2 เดือนข้างหน้า

“ตอนนี้สเปนตั้งทูตงานเอ็กซ์โปเพื่อจะขอเสียงสนับสนุนโดยเฉพาะ เขาเอาจริงมากเพราะมีผลต่อเศรษฐกิจ ทุกคนรู้ว่างานนี้เกิดเศรษฐกิจของประเทศขยับ  ขณะที่อาร์เจนตินาเคยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพไปแล้ว แต่เจอโควิดเลยไม่ได้จัดต้องมาบิดใหม่ ถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมาก ส่วนอเมริกาก็วิ่งเต็มสูบ มีงบประมาณและพลังล็อบบี้ยิสต์มหาศาล สายแข็งทั้งนั้น จึงไม่ง่ายเลย”

ทั้งนี้หลังจากการขั้นตอนการนำเสนอความพร้อมของประเทศและการลงสำรวจพื้นที่เชิงลึกแล้ว จะมีการนำเสนอข้อมูลอีกครั้งในช่วงปลายปี ก่อนจะโหวตในขั้นตอนสุดท้ายกลางปีหน้าด้วยหลักการหนึ่งประเทศหนึ่งโหวต