ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยเผย "ฝีดาษวานร" ไทยยังไม่พบผู้ป่วย และไม่เคยพบมากก่อน ปกติเจอในแอฟริกา ชี้ความเสี่ยงของประเทศยังไม่ถึงขั้นต้องรีบให้วัคซีนปลูกฝี เพราะระบาดยังวงจำกัด  ขณะที่วัคซีนเคยมีแต่หยุดให้ตั้งแต่ปี 2523 ย้ำ! วัคซีนป้องกันเป็นเชื้อเป็น มีความเสี่ยงมากกว่า การให้ในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้เชื้อลามทั้งตัว และเสี่ยงเสียชีวิต 

เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2565  ศ.นพ.สมศักดิ์  โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า  ฝีดาษวานรยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทยและไม่เคยพบผู้ป่วยในไทยมาก่อน ปกติจะเจอผู้ป่วยในแอฟริกา แต่ตอนนี้ที่ทุกประเภทต้องกังวลและเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง เนื่องมีการระบาดในบางประเทศยุโรปและพบผู้ป่วยในหลายประเทศ ที่บอกว่าไม่ได้มีประวัติไปแอฟริกามาก่อน แสดงว่ามีการแพร่กระจายเชื้อในประเทศนั้น 

อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ป่วยยังมีประวัติเชื่อมโยงถึงการเข้าร่วมกิจกรรมหนึ่งที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมากและจากหลากหลายประเทศ และมีกิจกรรมที่สัมผัสใกล้ชิดกันมากๆจนทำให้ติดเชื้อในหลายประเทศ แต่ก็ยังเป็นการพบการแพร่เชื้อในวงจำกัดและเฉพาะกลุ่ม ซึ่งโรคนี้การติดเชื้อโดยหลักยังเป็นการต้องสัมผัสใกล้ชิดโดนสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ และแพร่ะเชื้อระยะที่มีอาการแล้ว เช่น มีตุ่ม หรือแผล ทำให้สังเกตได้ชัดเจน 
        
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า  5 องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ออกหนังสือชี้แจงกรณีโรคฝีดาษวานร โดยระบุข้อหนึ่งว่า วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ จะป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ด้วย แต่ยังไม่มีความจำเป็นที่ประชาชนทั่วไปจะต้องเร่งรีบหาวัคซีนนี้ เนื่องจากโรคนี้ยังถือเป็นการระบาดในวงจำกัดอยู่ในต่างประเทศ และประเทศไทยไม่เคยพบการติดเชื้อนี้มาก่อน  ยังถือว่ามีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไม่มาก การให้วัคซีนฝีดาษวัวที่ป้องกันฝีดาษคนและฝีดาษวานรได้ด้วย จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบในขณะนี้ และคนที่เคยได้รับวัคซีนนี้แล้ว ก็ยังสามารถป้องกันโรคได้อยู่ มีการศึกษาพบว่าผ่านไป 80 ปีภูมิคุ้มกันก็ยังใช้ป้องกันได้   

(ข่าวเกี่ยวข้อง : 5 องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์  ประกาศแจง 9 ข้อ  "โรคฝีดาษวานร" ยังไม่จำเป็นเร่งรีบหาวัคซีน)

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า  วัคซีนนี้เป็นแบบเชื้อเป็น จึงมีความเสี่ยงมาก การให้ในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้เชื้อลามทั้งตัว และเสียชีวิตได้  โดยประเทศไทยหยุดการให้วัคซีนนี้ไปหลายสิบปีแล้ว เนื่องจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าโรคนี้หมดไปในปี 2523 คนที่ได้รับการปลูกฝีแล้วยังสามารถป้องกันโรคได้ ส่วนคนที่ยังไม่ได้รับการปลูกนั้น จากการประเมินตอนนี้ที่ไม่มีการระบาด  การให้วัคซีนจึงยังมีความเสี่ยงกว่า แต่ถ้ามีการระบาดแน่นอนว่าอาจจำเป็น  ค่อยดูอีกครั้ง แต่ตอนนี้ยังเป็นการระบาดในต่างประเทศแบบวงจำกัด ประเทศไทยจึงยังไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการระบาดมาก การให้วัคซีนจึงยังไม่มีความจำเป็น 

“ความเสี่ยงของประเทศไทยตอนนี้ ยังไม่ถึงขั้นต้องรีบให้วัคซีน เพราะตอนนี้ยังเป็นการระบาดอยู่ในวงจำกัดในต่างประเทศ ต้องติดตามว่าจะมีการระบาดมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร  ซึ่งปัจจุบันคนกลัวเรื่องโรคระบาดมาก ทำให้เมื่อพบการติดเชื้อที่ผิดปกติก็จะมีการแจ้งเตือนเร็ว ทำให้แต่ละประเทศมีการเริ่มกลไกการรับมือ เฝ้าระวังได้เร็ว การจัดการปัญหาทำได้เร็ว ปัญหาก็น้อยลง”ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าว