โทษของบุหรี่ใช่แค่เพียงผลต่อสุขภาพร่างกายเท่านั้น แต่ข้อมูลจากหลายฝ่ายทำให้พบว่ากระบวนการที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ในทุกขั้นตอนยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นั่นหมายความว่า ไม่เพียงแต่ผู้สูบบุหรี่เท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่คนรอบข้าง สังคมโดยรวมก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย
เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคมของทุกปี ในปีนี้อนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากยาสูบ ซึ่งมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้จัดสัมมนาภาคีเครือข่ายและแถลงข่าวเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 2565 “บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากยาสูบ ด้วยการสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากวงจรการปลูก การผลิต การจัดจำหน่ายยาสูบ ของเสีย และขยะที่เกิดจากการสูบบุหรี่
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่โลก กล่าวว่า ปีนี้พิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นรณรงค์เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากยาสูบขึ้นมารณรงค์ เมื่อที่ผ่านมาจะเน้นหนักไปทางสุขภาพต่อตัวผู้สูบและคนรอบข้าง รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในความเป็นจริงๆ แล้วยาสูบสร้างความเสียหายมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะขยะก้นบุหรี่และถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่หลายหน่วยงามเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ที่มีการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่บนพื้นที่ชายหาด หลังจากในต่างประเทศได้มีการห้ามมานานแล้ว เช่น ประเทศอเมริกาที่มีห้ามกว่าครึ่งและในเดือนกรกฎาคมนี้ สเปนจะเป็นประเทศแรกในยุโรปที่มีการห้ามสูบบุหรี่ที่ชายหาดทั่วประเทศ
แพทย์หญิง โอลิเวีย นีเวอราส ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวถึงเหตุผลในการขับเคลื่อนของปีนี้ว่า เนื่องจากบุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูกต้นยาสูบ การผลิต จัดจำหน่าย การสูบ และขยะจากบุหรี่ ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งแก่สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ โดยมีการประมาณการว่าความสูญเสียทางสุขภาพและเศรษฐกิจที่เกิดจากการสูบบุหรี่นั้น มีมูลค่าสูงถึง 3.5 แสนล้านบาทต่อปี เทียบเท่ากับ ร้อยละ 2.1 ของ GPD
ทั้งนี้ ก้นบุหรี่ที่มีส่วนผสมของพลาสติกที่ย่อยสลายยากแล้ว ยังมีสารเคมีกว่า 4,000 ชนิดปกเปื้อนลงสู่ดิน โดย 70 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง โดยในแต่ละปีบุหรี่ประมาณ 4.5 ล้านล้านมวนถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม จัดเป็นขยะที่ถูกทิ้งมากที่สุดและเป็นขยะที่พบบ่อยที่สุดบนชายหาด และในแต่ละปีพื้นที่ประมาณ 1.25 ล้านไร่ทั่วโลกถูกแผ้วถางเพื่อการเพาะปลูกและบ่มใบยาสูบ ดังนั้น มาตรการควบคุมการสูบบุหรี่จึงดีต่อทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เสริมว่า ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจากยาสูบนั้น ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ดิน น้ำ และอากาศเสื่อมโทรม ยาสูบผลิตขยะพลาสติกและขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากตัวกรอง บรรจุภัณฑ์ รวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขยะเหล่านี้มีส่วนทำให้นกทะเล 1 ล้านตัวและสัตว์ทะเล 100,000 ตัว ตายจากมลพิษพลาสติกทุกปี
“อยากเรียกร้องไม่ให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายในประเทศไทย เพราะจากการสำรวจแค่ไฮสคูลที่เดียวก็พบว่าสร้างขยะเกลื่อนกลาด จากการสำรวจพฤติกรรมการทิ้งขยะยังพบว่า ประมาณร้อยละ 65 ของผู้สูบบุหรี่ทิ้งก้นบุหรี่อย่างไม่เหมาะสม (เช่น บนทางเท้า ชายหาด ฯลฯ) ก้นบุหรี่ซึ่งเป็นเศษของตัวกรองบุหรี่พลาสติกเป็นรูปแบบของขยะยาสูบที่มีสารก่อมลพิษและเป็นพิษอันดับต้น ๆ ที่พบในแหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการย่อยสลาย โดยขยะจากก้นบุหรี่ประมาณ 2.5 พันล้านชิ้นต่อปีถูกพบในประเทศไทย ในขั้นตอนการเพาะปลูกยาสูบเพียงอย่างเดียว ต้องใช้น้ำในปริมาณเท่ากับคนหนึ่งคนใช้น้ำตลอดทั้งปี วัฏจักรทั้งหมดของบุหรี่หนึ่งมวนนับตั้งแต่การปลูก การผลิต การกระจายผลิตภัณฑ์ การใช้และการกำจัดนั้น จะต้องใช้น้ำประมาณ 3.7 ลิตร ดังนั้น หากผู้สูบบุหรี่ปกติทั่วไปเลิกสูบบุหรี่จะสามารถประหยัดน้ำได้มากถึง 74 ลิตรต่อวัน” ดร.เนาวรัตน์ กล่าว
นอกจากนี้การผลิตยาสูบยังทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เกือบ 84 ล้านเมตริกตันในแต่ละปี เทียบเท่ากับการปล่อยจรวด 280,000 ลำสู่อวกาศ ควันบุหรี่มีส่วนทำให้ระดับมลพิษทางอากาศสูงขึ้น และประกอบไปด้วยก๊าซเรือนกระจก 3 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ ซึ่งสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภายในอาคารและกลางแจ้ง ยิ่งไปกว่านั้น ยาสูบยังทำลายสุขภาพของเกษตรกรที่ทำไร่ยาสูบ โดยอาจพบระดับความเข้มข้นของอะลูมิเนียมและสารหนู ในเลือดสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการสัมผัสยากำจัดศัตรูพืช ซึ่งการได้รับสารกำจัดศัตรูพืชบางชนิดสะสมเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายประการ รวมทั้งความพิการแต่กำเนิด เนื้องอกที่ไม่ร้ายแรงและร้ายแรง การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือด ความผิดปกติทางระบบประสาท และการทำงานผิดปกติของต่อมไร้ท่อ ยาสูบทำลายสุขภาพของเด็ก โดยปกติแรงงานเด็กในไร่ยาสูบเป็นกลุ่มเปราะบางและมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ เนื่องจากน้ำหนักตัวเด็กสัมพันธ์กับสัดส่วนของนิโคตินที่ดูดซึมผ่านผิวหนังจากการสัมผัสกับใบยาสูบ ยุวเกษตรกรเหล่านี้อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 1 เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการผันตัวเองมาเป็นผู้สูบบุหรี่ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ในขณะที่สตรี จะได้รับผลกระทบ ทางสุขภาพจากอันตรายของการทำไร่ยาสูบในสัดส่วนที่แตกต่างกัน โดยส่งผลให้เกิดความเสี่ยงสูงขึ้นของภาวะการมีบุตรยากและปัญหาด้านการเจริญพันธุ์
ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร.นิภาพรรณ กังสกุลนิติ ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า จากการทำวิจัยโครงการศึกษาการได้รับสัมผัสควันบุหรี่มือสองของผู้ที่พักผ่อนในบริเวณชายหาด 2 แห่ง ที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย ในปี 2558 พบว่ามีปริมาณฝุ่นขนาดเล็กสูงกว่ามาตรฐานกำหนดหลายเท่า หรือสูงถึงประมาณ 27 เท่า ดังนั้น คุณภาพอากาศในบริเวณดังกล่าวจึงไม่เหมาะสมกับการเป็นชายหาดมีชื่อเสียงซึ่งผู้คนมาพักผ่อน และที่สำคัญเป็นการแสดงถึงการได้รับสัมผัสควันบุหรี่มือสองอย่างมาก
“จากการวิจัยภาคสนามพบเด็กจำนวนมากอยู่ในบริเวณนั้นด้วย จึงเห็นด้วยกับมาตรการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกกฏหมายห้ามสูบบุหรี่บนชายหาด หรือชายหาดปลอดบุหรี่ เพื่อไม่ให้มีควันบุหรี่มาทำลายสุขภาพ เพราะนอกจากควันบุหรี่มือสอง มือสาม จะเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเแล้ว ตัวก้นบุหรี่ที่เหลือทิ้งเป็นเศษขยะและตัวก้นกรองที่ประกอบด้วยไมโครพลาสติก ก็เป็นอันตรายอย่างยิ่งในสิ่งแวดล้อม นก ปลา เต่า และสัตว์ทะเลต่าง ๆ คิดว่าเป็นอาหารแล้วกินเข้าไปตาย หรือ เข้าไปสะสมในห่วงโซ่อาหารและไปสู่มนุษย์ในที่สุด แต่แม้จะมีคำสั่งห้ามก็ยังเจอคนฝ่าฝืนและพบขยะก้นบุหรี่บนชายหาดอยู่มาก จึงควรทำให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ด้วย”
สำหรับนโยบายควบคุมยาสูบเพื่อสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่นั้น นายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ยาสูบ และเล็งเห็นถึงความสำคัญในการให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมและขับเคลื่อนการดำเนินการ โดยที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2565 มีมติเห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายของการรณรงค์วันงดสูบบุหรี่ปีนี้ให้เป็นภาคปฏิบัติได้ในส่วนแรกดังนี้
1 สร้างความตระหนักถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์ยาสูบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการผลิต หีบห่อ หรือการบริโภคที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งจำเป็นให้ทุกภาคส่วนสร้างการรับรู้และตระหนัก เพื่อให้ประชาชนทราบถึงผลกระทบไม่ใช่มีผลกระทบตัวเองแต่จะกระทบกับทุกคนบนโลกใบนี้
2.ผลักดันให้ท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและดำเนินงานในพื้นที่ โดยอาจจะผ่านกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3. การท่องเที่ยวแบบวิถีใหม่ปลอดบุหรี่ เป็นสิ่งสำคัญประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยว เจ้าของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในการควบคุม
4.ปรับปรุงและยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย เช่น คำสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นตัวอย่างได้ดี แต่ต้องมีเรื่องการบังคับใช้กฎหมายให้ดีด้วย หรือต้องทำให้เข้าใจเรื่องฟอกเขียวที่เขาพยายามจะสร้างภาพลักษณ์แต่จริงๆ มีผลกระทบในทุกกระบวนการ
5.สนับสนุนให้เกษรตรกรผู้ปลูกยาสูบเปลี่ยนไปปลูกพืช
6.ประสานความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชนต้องร่วมมือกันขับเคลื่อน เพื่อร่วมกันสร้างสังคมไทยให้ปลอดควันบุหรี่
ขณะที่นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการสำรวจพบว่าชายหาดแต่ละแห่งมีก้นกรองบุหรี่ตกค้างมากกว่า 1 แสนชิ้น ซึ่งภารกิจหลักของกรมทรัพย์ฯ คือการสงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟู เพื่อการใช้อย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของโครงการชายหาดปลอดบุหรี่โดยนำร่อง 24 ชายหาด 15 จังหวัดชายฝั่งทะเล ที่มีชื่อเสียง เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น หาดบางแสน จังหวัดชลบุรี หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต และหาดหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเอาผิดกับผู้ที่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่และทิ้งก้นกรองบุหรี่ไม่เป็นที่เป็นทาง โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ขยะจากก้นกรองบุหรี่ จะประกอบด้วยสารเคมี เช่น ท็อกซิน นิโคติน สารหนู ยาฆ่าแมลง สารก่อมะเร็ง สามารถทำให้น้ำทะเลและน้ำสะอาดมีพิษ และยังเป็นพิษต่อจุลินทรีย์และสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ส่วนสัตว์ขนาดใหญ่มักได้รับผลกระทบจากการกินขยะประเภทนี้จนเกิดการอุดตันของทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร นอกจากนี้ วัสดุที่ใช้ในการผลิต ก้นกรองบุหรี่ยังมีพลาสติกที่ใช้เวลาในการย่อยสลายมากกว่า 2-12 ปี ปัจจุบันหลายประเทศตระหนักถึงปัญหาขยะจากก้นบุหรี่และรณรงค์ลดขยะด้วยวิธีต่าง ๆ ซึ่งเราก็พร้อมจะขยายผลการดำเนินโครงการชายหาดปลอดบุหรี่ในโอกาสต่อไป เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลับมาจากภาพลักษณ์ในเรื่องความสวยงาม สิ่งที่ตามมาก็ภาพลักษณ์ของประเทศ และผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมก็จะลดน้อยลง”
- 8701 views