หมายเลข 1  นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล

‘ฉีดวัคซีนฟรี-ลดผู้ป่วยติดเตียง’

 

วิโรจน์นำเสนอนโยบายสำคัญ : 12 ด้าน ประกอบด้วย บริหารโปร่งใสไร้คอร์รัปชั่น, ปรับปรุงทางเท้าให้ดี, ปรับพื้นที่รกร้างเป็นสวนสาธารณะ, ลอกท่อทั่วเมืองลอกคลองทั่วกรุง, ปรับปรุงการศึกษาให้เป็นไปตามฝันของทุกคน, ปรับปรุงศูนย์เด็กเล็กให้มีคุณภาพมาตรฐาน, ขึ้นค่าเก็บขยะห้างใหญ่เอาไปปรับปรุงการเก็บขยะครัวเรือน, ปรับค่าเดินทางเพื่อลดค่าครองชีพ, ค้านต่อสัมปทานรถไฟฟ้า, สร้างที่อยู่อาศัยที่ดีมีราคาถูก 1 หมื่นยูนิต, จัดสรรงบประมาณตามเสียงของประชาชน, จัดบริการฉีดวัคซีนให้ฟรี, เพิ่มเงินสวัสดิการผู้สูงอายุ 1,000 บาท/เดือน เด็ก/คนพิการ 1,200 บาท/เดือน

สำหรับนโยบายด้านสุขภาพและสาธารณสุขที่เด่นชัดคือ นโบายวัคซีนฟรี จากภาษีของประชาชน โดยเสนอว่า วัคซีนควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ต้องจัดหาวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบให้กับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยติดเตียงเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรคปอดอักเสบ เป็นโรคที่ผู้สูงอายุป่วยมากเป็นอันดับ 3 และเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องเจาะคอและนอนติดเตียง รวมถึงควรขยายสิทธิวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออก อายุ 9-16 ปี ต้องได้รับวัคซีนไข้เลือดออกฟรี เนื่องจากปัจจุบันวัคซีนยังมีราคาแพง กลุ่มเปราะบางในชุมชนแหล่งเพาะพันธุ์ยังเข้าไม่ถึง แต่เป็นที่รู้กันว่าการป่วยไข้เลือดออกครั้งที่ 2 มีอันตรายมากกว่าเดิมและถึงแก่ชีวิตได้

 

หมายเลข  3 นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ

‘สมาร์ทคลินิก-ปรับปรุงและเพิ่มศูนย์สาธารณสุข-โรงพยาบาลกทม.เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง’

นโยบายสำคัญ 6 ด้านประกอบด้วย พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดการใช้รถส่วนตัว, พัฒนางานด้านสาธารณสุขให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น, พัฒนางานด้านการศึกษา ยกระดับคุณภาพให้มีความเท่าเทียมกัน, พัฒนางานด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ระบายน้ำ และผังเมือง, วางระบบบริหารจัดการที่มีความโปร่งใส, พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และท่องเที่ยว

สำหรับนโยบายด้านสุขภาพและสาธารณสุข สกลธีเสนอนโยบาย ปรับศูนย์สาธารณสุข 69 แห่ง ให้เป็นสมาร์ทคลินิก นำระบบเทเลเมดิซีนลดการเดินทางไม่ต้องมุ่งไปที่โรงพยาบาลอย่างเดียว เพิ่มการดูแลอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุ ผู้พิการและกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถเข้าถึงการบริการทางด้านสุขภาพได้อย่างรวดเร็วสะดวก ไม่ต้องใช้เวลามากโดยเฉพาะการ นำเทคโนโลยี มาใช้ในการตรวจสุขภาพให้กับประชาชน หากไม่สามารถเดินทางออกนอกบ้านได้ รวมถึงการให้ความรู้กับผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ป่วยสูงอายุให้มีความสามารถ ในการบริหารจัดการดูแลสุขภาพ ญาติพี่น้องอย่างถูกวิธี

พร้อมกันนี้ยังเพิ่มศูนย์สาธารณสุขให้เพียงพอ เพื่อให้เข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ส่วนโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพฯ มีทั้งหมด 11 แห่ง จะปรับให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางเพิ่มศักยภาพในการรักษา ขณะที่การดูแลกลุ่มเปราะบางในเชิงรุกมากขึ้น ที่สำคัญลดภาระให้กับคนในครอบครัวให้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงในระยะไกลได้ สามารถออกไปทำงานโดยไม่ต้องห่วง

 

หมายเลข 4 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์

‘ยกระดับศูนย์สาธารณสุขเป็นศูนย์การแพทย์’

นโยบายสำคัญ 5 ด้าน แก้ปัญหาพื้นฐาน เช่น ฝนตก น้ำท่วม รถติด ตึกถล่ม, ปรับปรุงการศึกษาให้ได้มาตรฐาน, ปรับปรุงงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพ, แก้ปัญหาด้านคุณภาพอากาศ, แก้ปัญหากรุงเทพฯ จมบาดาลจากสถานการณ์โลกร้อน

สุชัชวีร์เสนอนโยบ่ายด้านสุขภาพและสาธารณะสุขโดยยกสโลแกน “หมอมี สาธารณสุขดี ใกล้บ้าน" เป็นการยกระดับศูนย์สาธารณสุข 69 แห่งให้เป็นศูนย์การแพทย์ทันสมัย มีแพทย์เฉพาะทางอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ และสามารถฟอกไตได้ ตลอดจนมีนักกายภาพบำบัดและนักจิตบำบัด ในทุกศูนย์ ขณะเดียวกันด้านการป้องกันจะยกระดับการตรวจสุขภาพฟรีให้ดีกว่าเดิม โดยเพิ่มการตรวจโรคเกี่ยวกับ สมอง หัวใจ และหลอดเลือด พร้อมกับระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุ

นอกจากนี้จะมีระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทันสมัย พร้อมด้วยอินเทอร์เน็ตฟรี 150,000 จุด รองรับการแจ้งเหตุผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งทางโทรศัพท์ แอปพลิเคชันออนไลน์ บริการ TeleMed และกำไลแจ้งเหตุฉุกเฉิน (Smart Device) มีระบบติดตามผลการแจ้งเหตุและมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญรับแจ้งเหตุเพื่อประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือทันที

ล่าสุดหลังรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะปรับสถานการณ์โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น สุชัชวีร์ได้เสนอแนวทางสำหรับกทม.เพิ่มเติมคือ การจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติและโรคระบาดฉุกเฉินไม่ให้ล้มเหลวเหมือนที่ผ่านมา ปรับหลักสูตรและระบบการศึกษาเพื่อการเรียนแบบ Hybrid ผสมผสานการเรียน On-site, Online การเยียวยาผู้ประกอบการโดยลดภาษีและประสานเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวตามนโยบาย 12 เทศกาลใหญ่ 50 เทศกาลเขต จะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเลือก กทม. เป็นจุดหมายในการท่องเที่ยว กระตุ้นให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองท่องเที่ยว 365 วัน 24 ชั่วโมง ดูแลทุกวัน ทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งเรื่องความปลอดภัยและระบบขนส่งสาธารณะ

 

หมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ

‘โรงพยาบาลประจำเขต’

นโยบาย 8 ด้าน ประกอบด้วย ผลักดันโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมต่อเนื่อง, สร้างความสะดวกในทุกการเดินทางด้วยล้อ-ราง-เรือ, ส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับคนเมืองหลวงและระบบการรักษาที่มีคุณภาพมากขึ้น, สร้างสิ่งแวดล้อมและเมืองที่ดี จะเดินหน้าปลูกต้นไม้ ลดภาวะโลกร้อน เพิ่มพื้นที่สีเขียว, ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ, เติมเต็มความปลอดภัยในเมือง เปลี่ยนกล้อง CCTV และปรับปรุงทางม้าลาย, เชื่อมกรุงเทพฯ สู่เมืองดิจิทัล เพื่อยกระดับการบริการให้เกิดความเท่าเทียมด้วยดิจิทัล, ดูแลคนทุกกลุ่มทุกวัย ทำให้ประชาชนเข้าถึงภาครัฐ ไปโรงพยาบาลติดต่อสำนักงานเขตด้วยความกระชับรวดเร็ว

สำหรับนโยบายด้านสาธารณสุขพล.ต.อ.อัศวิน เสนอการสร้างโรงพยาบาลประจำเขต โดยการพัฒนาศูนย์สาธารณสุขของ กทม. จำนวน 69 แห่งที่มีอยู่ให้เป็นโรงพยาบาลประจำเขต คล้ายกับโรงพยาบาลประจำอำเภอ  นอกจากนี้จะหาสถานที่ก่อสร้างโรงพยาบาลย่าน 4 มุมเมืองของ กทม. เช่น โรงพยาบาลบางขุนเทียน โรงพยาบาลคลองสามวา โรงพยาบาลบางนา และฝั่งกรุงเทพเหนือ 

 

หมายเลข 7 น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ

‘อยู่กับโควิดด้วยฟ้าทะลายโจร-กัญชาเพื่อวสุขภาพทุกครัวเรือน’

นโยบายสำคัญประกอบด้วย บำนาญประชาชน 3,000 บาท, ไม่ต่อสัมปทานบีทีเอส ลดค่าตั๋วเหลือ 20 บาทตลอดสาย, อยู่กับโควิด-19 ให้ได้ด้วยฟ้าทะลายโจรและยาไทย, ไม่ทำโปรเจกต์ใหญ่, สนับสนุนขุดลอกคูคลองทั่วกรุงเทพฯ 1,600 สาย เพื่อเพิ่มการจ้างงาน เกิดการท่องเที่ยวแบบตะวันออก, ตั้งกองทุนติดโซล่าเซลล์เพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชนเดือนละ 500 บาท, ติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติมร่วมกับเอกชนกว่า 5 แสนตัวเพื่อให้มีความปลอดภัย

นโยบายด้านด้ารสาธารณสุขของรสนา นอกจากการสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรและยาแผนไทยเพื่อรักษาโควิด-19 แล้ว ยังมีนโยบาย จัดหาต้นกัญชาพันธุ์ดีเพื่อสุขภาพไว้สำหรับปลูกในทุกครัวเรือนในกรุงเทพฯ โดยรับจดแจ้งและและจัดหาโดยประสานกับวิสาหกิจชุมชนกัญชาให้พบกับผู้บริโภคเพื่อช่วยให้ทุกครัวเรือนเข้าถึงต้นกัญชาอย่างสะดวกและรวดเร็วแบบ One Stop Service

 

หมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ

‘แอพลิเคชั่นด้านสุขภาพและการแพทย์-เชื่อมโยงข้อมูลระบบสาธารณสุข’

ชัชชาติเสนอนโยบายสำคัญนโยบายสำคัญ 214 นโยบาย แยกเป็น 9 มิติ ประกอบด้วย นโยบายปลอดภัยดี, สร้างสรรค์ดี, สิ่งแวดล้อมดี,เศรษฐกิจดี,เดินทางดี,สุขภาพดี,โครงสร้างดี,เรียนดี, และบริหารจัดการดี

สำหรับนโยบายด้านสุขภาพประกอบด้วย 34 นโยบาย ที่น่าสนใจประกอบด้วย

๐ พัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area) ด้วยต้นไม้สำหรับพื้นที่เปิด ด้วยเครื่องฟอกอากาศสำหรับพื้นที่ปิด

๐ เพิ่มเวลา เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก เพิ่มการเข้าถึงสวนและพื้นที่สาธารณะ

๐ พัฒนา 1,034 ลานกีฬา กับประชาชนและเอกชนในพื้นที่

 ๐ ยกระดับศูนย์กีฬา ศูนย์สร้างสุขทุกวัย ศูนย์เยาวชนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

๐ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวที่จะมากรุงเทพฯ ผ่านศักยภาพในการตรวจ คัดกรอง และติดตามกลุ่มเสี่ยง ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจตรวจ ATK ให้กับทั้งพนักงานและลูกค้า พร้อมกับนำผลการตรวจขึ้นแสดงบนแอพพลิเคชั่นและส่งให้กับ กทม.เพื่อเก็บสถิติและควบคุมการระบาด

๐ ส่งเสริมและต่อยอดการดำเนินการของโครงการ BMA Home Ward การดูแลผู้ป่วยจากสถานพยาบาลหลักร่วมกับการดูแลติดตามโดยศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) และเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ในชุมชนกว่า 2,000 แห่ง เพื่อช่วยผู้ป่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งค่ารักษาพยาบาลและค่าเดินทาง ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ ลดปัญหาเตียงเต็มและความแออัด

๐ อบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ Care Giver (CG) ใน อสส. รวมถึงการอบรม CG ในสมาชิกครอบครัวของผู้ป่วย ผสมผสานการติดตามและดูแลการรักษาจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีดิจิทัลทันสมัย (remote monitoring) ทั้ง Telemedicine พบหมอได้จากที่บ้าน การนำหมอไปหาชุมชนและแหล่งที่อยู่อาศัยด้วย Mobile Medical Unit แอพพลิเคชันในการเก็บข้อมูลผู้ป่วยตามบ้านให้อยู่ในระบบเดียวกับศูนย์บริการสาธารณสุข แอพพลิเคชันอำนวยความสะดวกให้ อสส. สามารถประเมินและคัดกรองโรคของผู้ป่วยได้เบื้องต้น

๐ ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง เพิ่มการรักษา เพิ่มเวลา เพิ่มทรัพยากร

๐ เร่งรัดผลักดันการก่อสร้าง และศึกษาการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ให้ครอบคลุม เช่นกรุงธนฝั่งเหนือ

๐ ถอดบทเรียนโควิด-19 ไม่ผิดพลาดซ้ำสอง เช่น การรับ-ส่งผู้ป่วย การหาเตียง การจัดตั้งศูนย์พักคอยและโรงพยาบาลสนาม การจัดสรรและกระจายการฉีดวัคซีน ตลอดจนมาตรการปิดเมือง การสั่งหยุดดำเนินกิจการในสถานประกอบกิจการและธุรกิจบางประเภท รวมทั้งเพื่อเตรียมรับมือรองรับเหตุการณ์วิกฤตหรือสาธารณภัยอื่นๆ ในอนาคต

๐ ส่งเสริมกลไกภาคประชาชนสุขภาพดี ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ เช่น การป้องกันโควิด-19 การป้องกันและเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในชุมชน การประเมินและสังเกตอาการในกลุ่มผู้สูงอายุ โรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมในกลุ่มผู้หญิง

๐ การรักษาและส่งตัวผู้ป่วยไร้รอยต่อ ด้วยการบูรณาการข้อมูล - นำร่องจากการบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างสถานพยาบาลหลักภายใต้สังกัด กทม. และเชื่อมต่อข้อมูลร่วมกับสถานพยาบาลปฐมภูมิประเภทศูนย์บริการสาธารณสุขทั่วกรุงเทพฯ

 

หมายเลข 11 นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย

‘เมืองสุขภาพ-มีโรงพยาบาลทุกเขต-เพิ่มสวนสาธารณะที่ออกกำลังกาย-ส่งเสริมรถ EV ลดมลพิษ’

นโยบายสำคัญ สร้างเมืองหลวงด้วยนโยบาย 3P ได้แก่ People การสร้างเมืองแห่งโอกาสให้ชาวกรุงเทพ, Profit สร้างงาน สร้างรายได้ ให้โอกาสในการทำมาค้าขายแก่ประชาชน, และ Planet การสร้างคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพอย่างยั่งยืน

สร้างกรุงเทพเป็นเมืองสุขภาพ รองรับประชาชนยามเจ็บป่วย โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงทางสุขภาพ หลายพื้นที่ไปถึงโรงพยาบาลไม่ทันตามเวลา โดยทุกเขตต้องมีโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 โรงพยาบาล แต่ปัจจุบันกทม.มีเพียง 11 โรงพยาบาลเท่านั้น

การป้องกันและรักษาสุขภาพ โดยเพิ่มสวนสาธารณะ และเพิ่มเวลาบริการ รวมถึงสนามกีฬาและสถานที่ออกกําลังกาย

สร้างกรุงเทพ เป็นเมืองสะอาดปลอดภัย มีระเบียบ สร้างกรุงเทพ เป็นเมืองสะอาดปลอดภัย มีระเบียบ โดยเริ่มจาก Bangkok eyes กล้องวงจนปิดแบบ AI และเพิ่มแสงสว่างในทุกพื้นที่เพื่อป้องกัน อาชญากรรมและสร้งความสบายใจให้พี่น้องประชาชน , ลดฝุ่นพิษ PM2.5 โดยการควบคุมรถควันดํา และผลักดันสนับสนุนส่งเสริมการใช้รถ EV ตลอดจนปรับปรุงคุณภาพทางเท้า