บอร์ด สปสช. เห็นชอบการจัดระบบบริการสาธารณสุข “ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี” วางระบบบริการจัดการ-เชื่อมโยงฐานข้อมูล-แบ่งปันทรัพยากรด้านสุขภาพระหว่างโรงพยาบาล ร่วมดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้อย่างเป็นระบบ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ “การจัดระบบบริการสาธารณสุขย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี” นำเสนอโดย นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ ที่ปรึกษาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
ด้วยย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลหลายแห่ง ประกอบด้วย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันพยาธิวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลสงฆ์ สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันประสาทวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลพญาไท และเครือโรงพยาบาลเปาโล ดังนั้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นการอํานวยความสะดวกให้กับสถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ใช้บริการภายในย่านนวัตกรรมโยธี จึงนำมาสู่ “การจัดระบบบริการสาธารณสุขย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี” ในครั้งนี้
ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ การเชื่อมโยงฐานข้อมูล และการแบ่งปันการใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ภายในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ทางคณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนนวัตกรรมการแพทย์โยธี จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการบริหารการแบ่งปันทรัพยากรด้านสุขภาพภายในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี มาดำเนินการ
โดยจัดทำแผนแนวทางปฏิบัติในการดูแลและส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งแบ่ง รพ.เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม รพ.ผ่าตัด เป็น รพ.ที่ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคและผ่าตัด เช่น รพ.ราชวิถี รพ.รามาธิบดี รพ.พระมงกุฎเกล้า เป็นต้น และกลุ่ม รพ.ที่รับดูแลหลังผ่าตัด เป็นโรงพยาบาลที่รับดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดจนจำหน่าย เช่น รพ.สงฆ์ รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน เป็นต้น เบื้องต้นเริ่มบริการใน 4 โรค ได้แก่ ไส้ติ่งอักเสบ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง และโรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น
นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช.สนับสนุนการจัดระบบบริการสาธารณสุขย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี โดยปรับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการเพื่อรองรับ โดย รพ.ที่ผ่าตัดจะได้รับค่าบริการผู้ป่วยนอกและตามระบบ Fee Schedule ตามการวินิจฉัยและการผ่าตัด ส่วน รพ.ที่รับดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดจะได้ค่าบริการตามระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) แม้ว่าจะเป็นการรับบริการจากโรงพยาบาล 2 แห่ง แต่ค่าบริการไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยเท่ากับการเข้ารักษาในโรงพยาบาลแห่งเดียว
“นวัตกรรมระบบบริการนี้ยังช่วยลดความแออัดในด้านจำนวนเตียง เช่น รพ.สงฆ์ และ รพ.เวชศาสตร์เขตร้อนจะมีความแออัดของเตียงน้อยกว่า รพ.ราชวิถี และ รพ.รามาธิบดี รวมไปถึง รพ.พระมงกุฎเกล้า ฉะนั้นหากมีการผ่าตัดในโรงพยาบาลที่มีแพทย์และเทคโนโลยีที่สูง แล้วนำผู้ป่วยไปดูแลต่อเนื่องในโรงพยาบาลที่มีจำนวนเตียงหนาแน่นน้อยกว่าในละแวกเดียวกัน จะทำให้สามารถผ่าตัดผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนได้มากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ดี” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ทั้งนี้ในการประชุมบอร์ด สปสช. นายอนุทิน ระบุว่า เบื้องต้นบอร์ด สปสช.เห็นชอบในหลักการ ส่วนวิธีการอาจจะยังต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นการให้บริการดูแลผู้ป่วยเพิ่มจาก 1 แห่ง เป็น 2 แห่ง แต่ไม่ได้เป็นการไปตัดค่าใช้จ่ายกัน หรือเพิ่มภาระงาน ซึ่งเรื่องนี้เป็นการจัดการและวิธีการทางธุรการ เพื่อขยายความสะดวกและเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาทหรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ทั้งนี้ สอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทอง สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
- 212 views