ผู้แทน บุคลากร รพ.สต. ศรีสะเกษ ร้อง "พล.อ.ประยุทธ์" ทบทวนมติใหม่ หลังครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 15 มี.ค.65 อนุมัติถ่ายโอนภาพรวม 3 พันกว่าแห่งได้เพียง 512 แห่ง ส่วนจ.ศรีสะเกษได้เพียง 13 แห่งจาก 117 แห่ง ด้าน ประธานชมรม รพ.สต.ฯ ศรีสะเกษ เปิดใจให้ข้อมูลสาเหตุออกมาเรียกร้อง พร้อมขอครม.ทบทวนใหม่ใน 29 มี.ค. เพื่อให้ถ่ายโอนได้ทันปีงบประมาณ 2566 ลั่นถ่ายโอนแล้วมาตรฐานบริการไม่เปลี่ยน มีทุนให้แพทย์เรียนปฐมภูมิ
จากกรณีผู้แทนชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) จ.ศรีสะเกษ แต่งชุดดำพร้อมถือป้ายสนับสนุนการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาทบทวนมติที่ได้เห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 ซึ่งอนุมัติงบฯการถ่ายโอนไม่เต็มจำนวนที่ยื่นความประสงค์ถ่ายโอนนั้น
เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2565 นายเกียรติคุณ ทวี ผู้อำนวยการสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินีภูมิซรอล ในฐานะประธานชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) จ.ศรีสะเกษ ให้สัมภาษณ์กับทาง " Hfocus" ว่า ประเด็นการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.ไปท้องถิ่นเป็นไปตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 แต่ที่ผ่านมากลับไม่สามารถถ่ายโอนไปได้อย่างต่อเนื่อง
ขอบคุณภาพจาก ชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) จ.ศรีสะเกษ
นายเกียรติคุณ กล่าวอีกว่า กระทั่งมีประกาศของคณะกรรมการการกระจายอำนาจ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี รพ.สต.ไปยัง อบจ. ซึ่งปรากฎว่า มีสถานีอนามัยฯ และรพ.สต. ต้องการถ่ายโอน 3,384 แห่ง ซึ่งล้วนสมัครใจไปทั้งสิ้น และเป็นในส่วนของจ.ศรีสะเกษ 117 แห่ง แต่ปรากฎว่า ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 กลับอนุมัติให้เพียง 512 แห่งจากกว่า 3 พันแห่ง และในส่วนของศรีสะเกษมีเพียง 13 แห่งเท่านั้น ส่วนบุคลากรรพ.สต.ของจ.ศรีสะเกษที่ต้องการถ่ายโอนกลับอนุมัติเพียง 66 คน จาก 786 คน ซึ่งเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายถ่ายโอน
ประธานชมรมรพ.สต.ฯ จ.ศรีสะเกษ กล่าวอีกว่า การดำเนินการถ่ายโอนทำถูกต้องตามขั้นตอนทั้งหมด จึงไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรจึงมีการปรับลดเช่นนี้ หรืออาจเป็นเพราะกระทรวงสาธารณสุข ไม่สนับสนุนให้เกิดการถ่ายโอนหรือไม่ ทั้งๆที่การถ่ายโอนรพ.สต.ไปท้องถิ่น มีข้อดีและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้รับบริการโดยตรง เนื่องจากการทำงานในบริบทท้องถิ่น ก็ควรให้ท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข(สธ.) บริหารในรูปของส่วนกลาง ทำภาพรวมทั้งประเทศ ออกตัวชี้วัดภาพรวมให้หน่วยบริการในสังกัดดำเนินการ แต่ปัญหาคือ พื้นที่แต่ละแห่งไม่เหมือนกัน จะทำเหมือนกันไม่ได้ รวมไปถึงเวลามีปัญหา ขาดแคลนอะไร หรือมีอุปสรรคอะไรจะเสนอเข้าไปได้แค่ปีละครั้ง บางครั้งได้รับการตอบสนอง บางครั้งไม่ได้ ประเด็นใหญ่คือ การสนองตอบพื้นที่ล่าช้ามาก แต่หากเป็นท้องถิ่นทำงานกันเองจะสามารถแก้ไขได้เร็ว
ขอบคุณภาพจาก ชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) จ.ศรีสะเกษ
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อกังวลว่า หากถ่ายโอนไปแล้วจะเกิดปัญหารอยต่อระหว่างรพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และอาจกระทบต่อการบริการประชาชนในพื้นที่ นายเกียรติคุณ กล่าวว่า ไม่มีปัญหา เพราะเราทำงานเป็นเครือข่ายอยู่แล้ว เราคำนึงถึงประชาชน และอบจ.ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสาธารณสุข มาช่วยเหลือตลอด ขณะเดียวกันเรื่องงบประมาณ ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) มีการจัดสรรแบ่งชัดเจน ทั้งงบของรพ.สต. งบของรพ.แต่ละระดับ แยกไว้หมด มีขอบเขต แม้ถ่ายโอนแล้วก็ไม่มีปัญหาส่วนนี้ เพราะก่อนจะถ่ายโอนได้มีการเตรียมขั้นตอนเหล่านี้แล้ว
"เรื่องมาตรฐานการรักษาไม่ต้องกังวล ผมได้มีการหารือกับทางอบจ. กับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น มีการเตรียมระบบไว้แล้ว จะมีการให้ทุนแพทย์เรียนระดับปฐมภูมิ เพื่อให้มาทำงานในพื้นที่ ซึ่งการแพทย์ปฐมภูมินั้น กฎหมายที่ออกมาจากกระทรวงสาธารณสุขที่จะผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว สำหรับระดับปฐมภูมิ จนบัดนี้ยังไม่ได้มาก ยังต้องเวียนแพทย์อยู่เลย ที่สำคัญกฎหมายปฐมภูมิในต่างประเทศ ก็เป็นท้องถิ่นดำเนินการด้วยซ้ำ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหาก รพ.สต.ไหนสมัครใจไปก็ควรให้ไปทั้งหมด ไม่ใช่จาก 3 พันกว่าแห่งเหลือแค่ 512 แห่ง และของศรีสะเกษจาก 117 แห่งกลับให้เพียง 13 แห่ง ซึ่งไม่ถูกต้อง ขัดหลักกฎหมาย" นายเกียรติคุณ กล่าว
เมื่อถามถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นมองว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่สนับสนุนให้ไปหรือไม่ นายเกียรติคุณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขอาจกังวลว่า จะเสียกำลังคน แต่ที่ผ่านมาพวกเราก็ทำงานเหมือนมดงาน ไม่มีความก้าวหน้า ทำงานอย่างเดียว ระดับซีอะไรก็ยากมาก ตั้งกฎเกณฑ์มาดี แต่ไม่ได้สักอย่าง อย่างการจะขึ้นเป็นชำนาญพิเศษ มีรพ.สต. 254 แห่ง ผอ.รพ.สต.ซี 8 ที่เป็นชำนาญการได้เพียง 1 คน ขณะที่ในพื้นที่ในท้องถิ่นที่ทำงานร่วมกันต่างกระทรวงได้ความก้าวหน้าไปหมด
สำหรับหนังสือร้องถึงนายกฯ รายละเอียดตามเอกสาร ดังนี้
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
-รวมข่าวถ่ายโอน รพ.สต.ไปท้องถิ่น
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 341 views