"อนุทิน" เสนอ ครม. เห็นชอบแล้ว! ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด และฉีดวัคซีนนอกสถานที่รวมกว่า 3.3 พันล้าน รวมทั้งกรณีค้างจ่ายยาค่ารักษาผู้ป่วยไร้สิทธิ์ ค่ายาฟาวิพิราเวียร์ และเรมเดซิเวียร์ รวมถึงงบจัดซื้อยาแพกซ์โลวิด รวมทั้งหมดกว่า 8.4 พันล้านบาท 

จากกรณี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนงานบริการสุขภาพ ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข  เผยถึงความคืบหน้ากรณีเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยปฏิบัติงานโควิดว่า จะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเรื่องนี้ภายในวันที่ 22 มี.ค.2565  โดยจะมีเงินค่าเสี่ยงภัยให้แก่บุคลากรตั้งแต่เดือน ต.ค. พ.ย. และธ.ค. 2564  นั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2565  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาและได้เห็นชอบเรื่องดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า นายอนุทิน เป็นผู้ผลักดันงบกลาง เข้าครม. วาระเพื่อพิจารณาจร วันนี้ ซึ่งเดิมไม่ได้รับการบรรจุในการประชุม ครม. ครั้งนี้ รวมงบประมาณจำนวน 8,458,385,141 บาท เป็นในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมอนามัย ประกอบด้วย 

- ค้างจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยและฉีดวัคซีนนอกสถานที่รวมงบประมาณมากกว่า  3,373 ล้านบาท
- ค้างจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยไร้สิทธิ์งบประมาณมากกว่า 2,785 ล้านบาท 
- ค้างจ่าย ค่ายาฟาวิพิราเวียร์ และเรมเดซิเวียร์ งบประมาณกว่า 1,778 ล้านบาท
- งบจัดซื้อยาแพกซ์โลวิดอีก  500 ล้านบาท 
 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับค่าตอบแทนเสี่ยงภัยบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานโควิด แบ่งตามกลุ่ม ดังนี้ แพทย์ และสัตวแพทย์ที่ปฏิบัติงานโควิดได้ 1,500 บาท และพยาบาล รวมทั้งกลุ่มอื่นๆที่กำหนดได้ 1,000 บาท โดยกรณีนี้จะกำหนดการจ่ายไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง   โดยทั้งหมดต้องมีหนังสือสั่งการบุคลากรให้ดำเนินการอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งกรณีค่าฉีดวัคซีนโควิดนอกสถานที่ด้วย

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพลพีร์ สุวรรณฉวี  รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง) ประจำนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี  ซึ่งนายอนุทิน ได้ผลักดันงบประมาณเต็มที่ เพื่อดูแลบุคลากรทางการแพทย์ เพราะต้องทุ่มเทเสียละ เผชิญภาวะความเสี่ยงในการทำงาน ทั้งที่เรื่องนี้ ไม่มีการบรรจุในวาระการประชุม ครม. 

“ท่านรัฐมนตรี เห็นว่าจะรอช้าไม่ได้จึงเร่งผลักดัน เพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรมอย่างเร็วที่สุด โควิด -19 ยังระบาด คนทำงาน ต้องการกำลังใจ เราจะทอดทิ้งกันไม่ได้ สิทธิประโยชน์คนทำงาน ภาครัฐ ต้องปกป้องอย่างเต็มที่ ขณะที่ประชาชนต้องได้รับการรักษาที่ดี เท่ากับรัฐ ต้องมีตัวเลือกด้านการรักษา ที่สอดคล้องกับประชาชนให้มากที่สุด การมียาจำนวนมากยังไม่พอ แต่ต้องต้องสอดคล้องกับประชาชนด้วย การจัดหา และสำรองยาจึงเป็นเรื่องสำคัญ” 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ข่าวดี! ชง ครม. จ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิด - เงินฉีดวัคซีนนอก รพ.  ให้บุคลากรย้อนหลัง ต.ค.- ธ.ค.  64 )

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org