น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 มี.ค. 2565 ได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาสพแห่งชาติ( สปสช.) ประมาณการค่าบริการสาธารณสุขในช่วงเดือนมีนาคม - กันยายน 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ UCEP Plus และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมทั้งตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการให้สอดคล้องกับการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจริง และเร่งประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ UCEP Plus ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจ ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 16 มีนาคมนี้
นอกจากนี้ ครม.ได้อนุมัติโครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2565 รอบที่ 2 วงเงิน 34,528 ล้านบาท ของสปสช. เพื่อเป็นค่าบริการสาธารณสุขโรคโควิด-19 และบริการอื่นที่เกี่ยวข้องของหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่ให้บริการแล้วระหว่างเดือนธันวาคม 2564 - กุมภาพันธ์ 2565 โดยใช้งบประมาณจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 ซึ่งโครงการนี้มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในไทย หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่จัดบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนและผู้ให้บริการสาธารณสุขทั่วประเทศ
ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.ได้อนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการจัดหาเวชภัณฑ์ยาและขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะการระบาดระลอกเมษายน 2564 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ โดยมีสาระสำคัญเป็นการเปลี่ยนแปลงรายการจัดซื้อเวชภัณฑ์ยาจากยาโมลนูพิราเวียร์ 50,000 โดส เป็นยาฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 17,065,457 เม็ด และยา เรมเดซิเวียร์ จำนวน 5,166 ขวด เนื่องจากแนวทางดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคโควิด-19 กำหนดให้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ทั้งที่ไม่มีอาการปอดอักเสบหรือมีอาการปอดอักเสบเล็กน้อย โดยมีอัตราการใช้ยาร้อยละ 87 ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อทั้งหมด สำหรับยาเรมเดซิเวียร์ ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแต่มีข้อห้ามในการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์โดยมีอัตราการใช้ยาร้อยละ 2 ของผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด
“กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด19 ยังคงมีความต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องสำรองยาดังกล่าวไว้ให้เพียงพอสำหรับรักษาผู้ป่วย รวมถึงมีความจำเป็นต้องปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการปรับระยะเวลาการดำเนินโครงการเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดหาเวชภัณฑ์ยาเพื่อดูแลดูแลประชาชนได้ตามแผนงานและสอดคล้องกับเวชปฏิบัติในปัจจุบัน” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
- 57 views