บุคลากรฯ แห่คอมเมนต์กรณี อสม.อบรมหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล 3 พันคน ห่วงอาจไม่ทำจิตอาสาต่อ  ด้าน อธิบดี สบส. ย้ำโครงการนี้เป็นหนึ่งในการยกระดับ อสม. เหมือนอสม.เชี่ยวชาญ - อสม.ประจำบ้าน เน้นเพิ่มคุณภาพ และให้ประโยชน์ต่อประชาชนเสริมนโยบายหมอ 3 คนให้ทุกครัวเรือน

จากกรณีกระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)  และสถาบันพระบรมราชชนก  จัดโครงการ “พัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าศึกษาหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล 3,000 คน”  เพื่อยกระดับอสม.นั้น ปรากฎว่ามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ถึงเรื่องนี้ โดยบุคลากรสาธารณสุขต่างแสดงความคิดเห็นผ่านสังคมออนไลน์ อาทิ  นายสมศักดิ์ จึงตระกูล   ประธานชมรมผู้อำนวยการ รพ.สต. (ประเทศไทย) เห็นว่า " สธ.ควรต้องสื่อสารให้ชัดว่าหลังจาก อสม.จบหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลแล้ว จะจัดจ้างเป็นผู้ช่วยพยาบาลหรือไม่ อย่างไร หรือยังคงให้เป็น อสม. จิตอาสาเหมือนเดิม และ อสม.เดิม ที่เคยไปส่งไปศึกษาหลักสูตรอื่นของ สบช. ได้บรรจุเค้าเป็นข้าราชการทุกคยหรือยัง

ขณะที่บุคลากรอื่นๆ  ต่างมีความเห็นที่หลากหลาย เช่น "หากอบรมเป็นผู้ช่วยพยาบาลแล้ว จะต้องบรรจุที่โรงพยาบาลชุมชน(รพช.)หรืออย่างไร"  หรือ บางท่านเห็นว่า "รพช.ขนาดเล็ก ไม่มีกรอบบรรจุผู้ช่วยพยาบาล หรือมีแต่น้อย จะทำอย่างไร"  "ยังมีกลุ่มที่ศึกษาผู้ช่วยพยาบาลเช่นกัน  ขณะเดียวกันปัจจุบันสธ.ส่งอสม. เรียนอสม.เชี่ยวชาญแล้ว และอสม.บางคนเรียนจนก็ไม่ได้มาเป็นอสม.อีก ตรงนี้จะป้องกันอย่างไร"  ฯลฯ 

(ข่าวเกี่ยวข้อง :  สานฝัน อสม. 3 พันคนได้สิทธิ์อบรม “ผู้ช่วยพยาบาล” ฟรี! พร้อมเปิดเกณฑ์ให้แต่ละเขตสุขภาพคัดเลือก)

เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2565 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า  สำหรับโครงการพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าศึกษาหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล 3,000  คนนั้น จากอสม.ที่ปัจจุบันมีกว่า 1 ล้านคน มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการยกระดับคุณภาพ อสม. โดยเฉพาะเสริมการทำงานนโยบาย 3 หมอ ที่ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการสธ. ต้องการให้คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน โดย อสม. จะเป็นหมอคนที่ 1 

นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า  ดังนั้น  ประโยชน์ที่ได้จากการอบรมหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล คือ กลับไปทำงานในพื้นที่อย่างมีศักยภาพมากขึ้น  ขณะเดียวกันก็มีจิตอาสาเดิมอยู่ มีองค์ความรู้เพิ่มขึ้น สามารถช่วยงานในสถานพยาบาลของรัฐก็ได้ ดูแลคนในชุมชนก็ได้  อย่างตอนนี้เป็น อสม. พวกเขาไม่ได้ทำทุกวัน แต่มีการแบ่งเวลา เป็นจิตอาสา  หลักสูตรอันนี้เพิ่มความรู้ให้เขา ซึ่งคนที่เป็นอสม. เขารักการเป็นอสม. แม้ได้รับการอบรมก็เป็นการเพิ่มทักษะ มองว่า เมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้ว เขาก็ไม่ได้ทิ้งพื้นที่ ทิ้งงานอสม.  แต่จะมีความรู้ไปให้บริการประชาชนมากขึ้น อีกทั้ง ยังช่วยงานสถานพยาบาล เป็นแกนนำสุขภาพประชาชน และตอบสนองนโยบาย 3 หมออีกด้วย

"จริงๆ หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ก็เป็นหนึ่งในช่องทางยกระดับให้อสม. เพื่อประโยชน์ในการทำงานในพื้นที่ อย่างที่ผ่านมาก็มีการการฝึกอบรมโครงการอสม.เชี่ยวชาญ และอสม.ประจำบ้าน ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีโครงการนี้ ทั้งหมดก็เป็นการยกระดับคุณภาพ สนับสนุนการทำงานของ อสม. และเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนผู้รับบริการ" นพ.ธเรศ กล่าว

เมื่อถามว่ามีข้อกังวลว่า ถ้าเรียนจบหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล หากรพ.จ้างเข้าทำงานจะมีอัตราหรือไม่ และจะเป็นอสม.จิตอาสาต่อหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ตนมองว่า อสม. ก็ยังคงทำงานอสม. เพราะอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น วัตถุประสงค์หลักคือ ยกระดับคุณภาพ อสม. เพื่อเสริมการทำงานนโยบาย 3 หมอ และเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนที่ได้รับการบริการ

** ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนโยบาย 3 หมอ หรือหมอประจำตัว 3 คนนั้น ประกอบด้วย 

1.หมอประจำบ้าน คือ อสม. 1 คนรับผิดชอบ 8-15 หลังคาเรือน  
2.หมอสาธารณสุข คือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข/พยาบาล 1 คน รับผิดชอบประชาชน 1,250 คน 
3.หมอครอบครัว คือ แพทย์ที่มีองค์ความรู้หรือจบด้านเวชศาสตร์ครอบครัว 1 คนรับผิดชอบประชาชน 10,000 คน ทำงานร่วมกันในการดูแลให้ความรู้ ส่งเสริมสุขภาพประชาชนในพื้นที่ 

อนึ่ง สำหรับคุณสมบัติ อสม. ที่สามารถเข้าศึกษาหลักสูตร "ผู้ช่วยพยาบาล" 1 ปี จำนวน 3 พันคน
1.มีอายุ 16-40 ปี นับถึงวันเปิดการศึกษา 
2.จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง 
3.ปฏิบัติหน้าที่เป็น อสม. ไม่น้อยกว่า 5 ปี 
** สถาบันพระบรมราชชนก มอบหมายให้รองอธิการบดีที่กำกับดูแลวิทยาลัยพยาบาลในแต่ละเขตสุขภาพ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด คัดเลือกตามสัดส่วนที่เหมาะสม  

แฟ้มภาพ