กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยสถานการณ์สายพันธุ์โควิดในไทย พบโอมิครอน 97.2% ใกล้แทนที่เดลตา ขณะที่กรุงเทพฯมากสุด พร้อมติดตามสายพันธุ์ BA.2 หลังหลายประเทศเริ่มพบ ล่าสุดเดนมาร์กแทนที่ BA.1 แล้ว กระจายความรู้ตรวจหาสายพันธุ์ย่อยศูนย์วิทย์ทั่วประเทศ พร้อมศึกษาภูมิฯ คนฉีดเข็มกระตุ้นต่อสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 15 ก.พ. 2565 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงประเด็น : การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด19 และโอมิครอน ว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตรวจไปประมาณ 2 พันตัวอย่าง พบ 97.2% เป็นโอมิครอน เหลือเพียง 2.8% เป็นเดลตา แสดงว่ายังมีเดลตาหลงเหลืออยู่บ้าง โดยพบจังหวัด Top Ten ที่พบโอมิครอนเยอะ อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร มากที่สุด รองลงมาเป็น ภูเก็ต ชลบุรี ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ หนองคาย สุราษฎร์ธานี มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และขอนแก่น ซึ่งประเทศไทยพบทั่วทุกจังหวัด แต่จะมากน้อยแตกต่างกันไป
ทั้งนี้ จะเห็นความเปลี่ยนแปลงรายสัปดาห์ โดยภาพรวมกว่า 97% เป็นโอมิครอน เหลือ 2.8% เป็นเดลตา แต่หากแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มมาจากต่างประเทศเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ประมาณ 99.4% ป่วยโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ส่วนกลุ่มอื่นๆในประเทศไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้ประมาณ 96.2% อีกไม่นานจะเข้าใกล้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่า เมื่อมีการระบาดโอมิครอนค่อนข้างเร็ว และจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก ตามธรรมชาติไวรัสเมื่อมีการติดเชื้อซ้ำๆ ก็ออกลูกออกหลาน ทำให้มีโอกาสกลายพันธุ์ จากเดิมกำหนดไว้ B.1.1.529 ก็ออกมาเป็น BA.1 เป็นสายพันธุ์หลัก ขณะนี้มีข้อมูลที่ซัมมิทเข้าไประบบจีเสสประมาณ 6 แสนเศษๆ ส่วน BA.2 ประมาณ 5 หมื่นกว่าราย ยังไม่ถึง 10% ประมาณ 8-9% ทั้งนี้ BA.2 จะพบมากในเดนมาร์ก ส่วน BA.3 ยังน้อยมาก 297 ราย
สำหรับ BA.1 ยังเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในแอฟริกาใต้และประเทศส่วนใหญ่ ขณะที่ BA.2 มาทีหลังและตรวจพบครั้งแรกในอินเดียและแอฟริกาใต้ช่วยปลายเดือนธ.ค. 2564 ส่วนประเทศไทยพบครั้งแรกในกลุ่มผู้เดินทางเข้าไทยช่วงต้นปี 2565 อย่างไรก็ตาม BA.1 และ BA.2 มีตำแหน่งกลายพันธุ์เหมือนกัน 32 ตำแหน่ง ส่วนที่แตกต่างกันมี 28 ตำแหน่ง ที่เป็นมาคเกอร์สำคัญของ BA.2 หากเป็นโอมิครอน ควรต้องมีการหายไปของตำแหน่งเดลตา 69-70 แต่ BA.2 ไม่หายไป แต่ไม่ใช่ประเด็น เพราะเราตรวจจับได้ โดยขณะนี้จากการซัมมิทข้อมูลในจีเสสกว่า 5 หมื่นราย พบ 57 ประเทศ และประเทศที่เริ่มเห็นแนวโน้มว่า BA.2 จะแทน BA.1 มีอินเดีย เดนมาร์ก สวีเดน โดยเดนมาร์กพบมากกว่า BA.1 แล้ว แต่สำหรับประเทศไทยขณะนี้ยังพบ BA.1 มากกว่า ยกเว้นว่าในอนาคตหากแพร่เร็วก็อาจเป็นเบียด BA.1
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า มีคำถามว่า ถ้ามีสายพันธุ์ย่อยใหม่จะแพร่เร็วขึ้นหรือไม่ หลบวัคซีนหรือไม่ โดยข้อมูลการแพร่เร็วก็เห็นสัญญาณ จากกรณีเดนมาร์ก ที่เบียด BA.1 ส่วนความรุนแรงที่หลบวัคซีนก็ต้องดูตำแหน่งกลายพันธุ์ ซึ่งยังไม่เห็นข้อแตกต่าง BA.1 มากนัก แต่ก็ต้องติดตามข้อมูล โดยเฉพาะเรื่องป่วยรุนแรงต้องดูในสนามจริงว่า คนไข้ติดสายพันธุ์ BA.2 รุนแรงมากน้อยแค่ไหน
"BA.1 เนื่องจากระบาดมาก ก็ขยับเป็น BA.1.1 ซึ่งเราก็ตรวจจับได้ในประเทศไทย" นพ.ศุภกิจ กล่าว
อธิบดีกรมวิทย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้สายพันธุ์ที่เหลือคือ โอมิครอน และเดลตา โดยการตรวจเบื้องต้นสามารถทำได้โดยเรามีวิธีตรวจยีน หากพบ G3339D เป็นบวกแสดงว่าเป็นโอมิครอน แต่ยังแยก BA.1 และ BA.2 ไม่ได้ ซึ่งหากเป็นลบก็เป็นเดลตา นอกจากนี้ เรามาตรวจการหายไปของตำแหน่ง 69-70 หากหายไปก็จะเป็น BA.1 แต่หากไม่หายไปก็จะเป็น BA.2 ด้วยวิธีนี้จะทำให้ตรวจได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องทำการตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ซึ่งใช้เวลา 7-10 วัน โดยขณะนี้เรากำลังพัฒนาการตรวจเพื่อให้ศูนย์วิทย์ต่างๆ ในต่างจังหวัดทำการตรวจนี้ จะได้ทราบสถานการณ์ได้
ทั้งนี้ สัดส่วนสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน ระหว่างวันที่ 5-11 ก.พ.65 รวมทั้งหมด 1,975 ราย ไม่ได้แยก BA.1 และ BA.2 คือ 1,408 ราย หากแยกเป็น BA.1 จะมี 462 ราย และ BA.2 จำนวน 105 ราย อย่างไรก็ตาม จากการแยกสายพันธุ์ 567 ราย พบว่า เป็น BA.1 มากที่สุด 81.5% และ BA.2 18.5% ส่วนการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวมีจำนวนตัวอย่างทั้งหมด 534 ตัวอย่าง แต่คนละช่วงเวลาในการเก็บข้อมูลจากข้างต้น โดยเราจะพบว่า BA.2 อยู่ที่ประมาณ 2% ที่เหลือเป็น BA.1.1 เท่ากับ 70% และ BA.1 จำนวน 28%
"จากข้อมูลทั้งหมดแสดงว่า BA.2 เริ่มเพิ่มขึ้น แต่จะมีการเฝ้าระวังต่อเนื่องว่า สัปดาห์หน้าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ทั้งนี้ โอมิครอน ขณะนี้เป็นสายพันธุ์หลักแทนเดลตา และจากการแพร่เร็วทั่วโลก ทำให้ติดเชื้อซ้ำๆ บ่อยๆ ก็มีโอกาสเกิดกลายพันธุ์ ทั้งโอมิครอนเดิม แต่มีกลายพันธุ์ในบางตำแหน่งที่เปลี่ยนไป แต่ก็ยังมาจากพ่อแม่เดิม คือ โอมิครอน หรืออาจกลายพันธุ์เป็นตัวใหม่ แต่ตอนนี้ยังไม่เห็น" นพ.ศุภกิจ กล่าว
อธิบดีกรมวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์บ้านเรา คนที่เดินทางมาจากต่างประเทศเป็นโอมิครอนเกือบ 100% ส่วนไทยก็ใกล้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ประมาณกว่า 96% ขณะที่สายพันธุ์ย่อย BA.2 จากถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวประมาณ 2% แต่ตรวจสอบเบื้องต้น (SNP) ในพื้นที่เจอประมาณ 18% ซึ่งจะมีการตรวจให้กว้างขวางครอบคลุมมากขึ้น โดย BA.2 มีหลักฐานพอสมควรว่าแพร่เร็วกว่า BA.1 แต่ความรุนแรงยังไม่มีข้อมูลมากพอ แต่เมื่อมีจำนวน BA.2 พอสมควรก็จะมีการติดตามข้อมูลของคนไข้ที่เป็น และจะส่งให้กรมการแพทย์ ติดตามคนไข้ว่า อาการรุนแรงมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม มีรายงานหลายชิ้นระบุว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยป้องกันสายพันธุ์ทั้ง BA.1 และ BA.2 ช่วยลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปแล้วขณะนี้มีข้อมูลว่า BA.2 แพร่เร็วกว่า BA.1 อย่างไร นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ยังบอกไม่ได้ว่าแพร่เร็วกว่า BA.1 กี่เท่ามากน้อยแค่ไหน แต่จะตามดูรายสัปดาห์ อย่างสัปดาห์นี้เจอประมาณ 18% หากสัปดาห์หน้าแพร่เร็วถึง 30-40% ก็ถือว่าแพร่เร็ว แต่ระดับโลกเห็นตัวเลขเปลี่ยนพอสมควร จากเดิม 1-2% แต่ตัวเลขตอนนี้เริ่มมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
เมื่อถามว่ากรณีเดลตาครอนเป็นอย่างไร นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ค่อนข้างชัดว่า อาจมาจากปนเปื้อน ซึ่งทางจีเสสถอนออกไปแล้ว
นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทย์ ได้มีการตรวจสอบภูมิคุ้มกันวัคซีน โดยเอาเชื้อจริงมาเพาะเชื้อ และเอาซีรั่มของอาสาสมัครมาตรวจสอบ โดยที่ผ่านมาเป็นสายพันธุ์โอมิครอน แต่ตอนนี้เรามีตัวอย่าง BA.1 และ BA.2 ซึ่งทางกรมจะตรวจสอบภูมิคุ้มกันว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีผลต่อสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้หรือไม่
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 70 views