สช. ลงนามความร่วมมือกับ ม.ธรรมศาสตร์ เดินหน้าพัฒนากระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ “HIA” ในพื้นที่ภาคกลาง-ตะวันตก ผ่านเครือข่ายทางวิชาการสนับสนุนการสร้างบุคลากร-องค์ความรู้-งานวิจัย มุ่งผลักดันการใช้กลไก HIA เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของประเทศ

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา  ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิชาการด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ และการจัดการความรู้ด้านประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ภูมิภาคภาคกลาง-ตะวันตก โดยมีขอบเขตความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากร งานวิจัย องค์ความรู้ ที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการนำกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ หรือ Health Impact Assessment (HIA)

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวโยงกับมิติทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เราได้เห็นชัดเจนถึงความเชื่อมโยงกันของสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ในขณะที่ประเทศไทยต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น HIA จึงถือเป็นเครื่องมือทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน และจะนำมาสู่การลดความขัดแย้ง ลดการเผชิญหน้าของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

“เครื่องมือ HIA จะต้องอาศัยองค์ความรู้ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันต้องมีนักวิชาการที่มีใจสาธารณะเป็นผู้ดำเนินการสนับสนุน และที่สำคัญจะต้องมีสถาบันทางวิชาการซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในพื้นที่ ซึ่งธรรมศาสตร์เป็นศูนย์กลางทางวิชาการของภูมิภาคกลางและภาคตะวันตก ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก” นพ.ประทีป กล่าว

นพ.ประทีป กล่าวว่า ความสำคัญของ มธ. ต่อการพัฒนา HIA นอกจากบทบาทในแง่การผลิตและพัฒนาศักยภาพของกำลังคนแล้ว ยังทำหน้าที่ในแง่การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ที่จะกำหนดการพัฒนาในพื้นที่ ในขณะที่บทบาทของ สช. และภาคียุทธศาสตร์ จะมีบทบาทในการจัดทำหลักเกณฑ์และแนวทาง HIA สนับสนุนการพัฒนาวิชาการและกำลังคน ผ่านกลไกเครือข่ายสถาบันวิชาการ (HIA Consortium) รวมทั้งการสื่อสารและเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อให้รับรู้และใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ HIA

รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์พัทยา มธ. กล่าวว่า ประเทศไทยมีการปรับปรุงระบบสาธารณสุขครั้งใหญ่เมื่อตอนที่มีการก่อตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สช. ซึ่งทั้งสามองค์กรนี้เป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งเป็นความก้าวหน้าที่สอดคล้องกับปรัชญาในการทำเพื่อประชาชนของ มธ.

“ธรรมศาสตร์ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขมาเป็นเวลานาน ทั้งการผลิตแพทย์ การทำวิจัยระบบสาธารณสุข โดยสิ่งที่คาดหวังต่อไปคือการจัดทำนโยบายสาธารณะซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับประเทศ ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำให้เกิดความร่วมมือครั้งนี้ และเป็นนิมิตหมายดีที่ธรรมศาสตร์เองมีวิทยาเขตที่พัทยา ซึ่งกำลังเริ่มพัฒนาระบบสาธารณสุขแบบดิจิทัล และหาหนทางที่จะทำให้ระบบดิจิทัลลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้” รศ.นพ.กัมมาล กล่าว

ขณะที่ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการพัฒนาระบบกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อน HIA นั้นดำเนินการโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ภายใต้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งกำลังมีทิศทางการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการหนุนเสริมกลไกต่างๆ ให้สามารถนำ HIA ไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีกลไกด้านวิชาการ การสร้างองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรและภาคีเครือข่ายต่างๆ

“เรามุ่งเน้นการสร้างเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันวิชาการ ทั้งในระดับภาคและระดับชาติ มาเป็นกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อน HIA ซึ่งปัญหาต่างๆ ในบ้านเมือง หากนักวิชาการได้ร่วมกันออกมาขับเคลื่อน สนับสนุน และมีส่วนในการแก้ไขปัญหา จะทำให้บ้านเมืองมีดุลยภาพและความสงบสุข การลงนามความร่วมมือครั้งนี้จึงมีความสำคัญ ที่จะขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาว สร้างความเป็นธรรมในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” นพ.ชูชัย กล่าว

ด้าน รศ.ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ในส่วนของข้อตกลงความร่วมมือนี้ มีขอบเขตการดำเนินงานที่ชัดเจน อาทิ การสนับสนุนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการจัดอบรมด้าน HIA ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เชื่อมโยงการศึกษาในหลักสูตรที่เปิดสอนในคณะ สนับสนุนการทำงานวิจัยและการพัฒนาองค์ความรู้ด้าน HIA ทั้งจากการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา และจากงานวิจัยของนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาที่เป็นเครือข่ายในภูมิภาค รวม 16 สถาบัน 18 คณะ

นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายที่ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ซึ่งจะเป็นตัวแทนของภาคประชาชนในพื้นที่เขต 4 และเขต 5 โดยเครือข่ายทั้งหมดนี้จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุดความรู้ด้าน HIA รวมถึงการจัดการความรู้ร่วมกัน รวมถึงส่งเสริมการนำกระบวนการ HIA ไปใช้เป็นเครื่องมือการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ โดยมี สช.เป็นพี่เลี้ยงและสนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการยกระดับและเพิ่มศักยภาพการสร้างองค์ความรู้ ผลงานวิจัย และนวัตกรรม พร้อมกับคณะที่จะมีการจัดตั้งเป็นศูนย์วิชาการด้าน HIA ต่อไปในอนาคต

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org