รมช.สธ.พร้อมผู้บริหารโชว์กินอาหารทะเล ทั้งกุ้ง ปู ปลา ปลาหมึก การันตีความปลอดภัยภายหลังเก็บกู้คราบน้ำมันดิบที่รั่วไหลลงทะเลแล้ว เผยผลตรวจโลหะหนักไม่เกินค่ามาตรฐาน ไม่พบสาร PAHs ในน้ำมันปนเปื้อน เตรียมตรวจต่อเนื่องอีก 2-3 ปี ส่วนสุขภาพ จนท.เก็บกู้รอตรวจอีก 3 เดือนเพื่อเปรียบเทียบหลังจบภารกิจ พร้อมตั้งกรรมการติดตามหาสาเหตุ
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่หาดแม่รำพึง ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) พร้อมด้วย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นายอนันต์ นาคนิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง แถลงข่าวอาหารทะเล ระยอง ปลอดภัย มั่นใจ กินได้ โดยมีการนำอาหารทะเลมาจาก 4 แห่ง คือ หาดสุชาดา หาดสวนสน หาดแม่รำพึง และปากน้ำระยอง มาปรุงอาหารพร้อมสาธิตรับประทานอาหารทะเลโชว์ต่อสื่อมวลชน เพื่อสร้างความมั่นใจต่อประชาชนและนักท่องเที่ยว ว่า มีความปลอดภัยรับประทานได้ หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเล จ.ระยอง กว่า 4 แสนลิตร ซึ่งมีการเก็บกู้คราบน้ำมันแล้ว
นายสาธิต กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนในฐานะ ส.ส.พื้นที่ ร่วมกับ รมว.อุตสาหกรรม ติดตามแก้ไขปัญหาและร่วมวางแผนการกำจัดคราบน้ำมัน ซึ่งวันนี้เรียนว่าดำเนินการกำจัดคราบน้ำมันได้เรียบร้อย ส่วนที่เหลืออยู่เล็กน้อยเป็นการตามเก็บของทีมจังหวัดและศูนย์บัญชาการ อย่างไรก็ตาม จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาสาเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อรู้สาเหตุแล้วก็ไม่ควรมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก ต้องมีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลมาตรฐาน หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอาจต้องรับโทษทางวินัยอย่างไรนอกจากเรื่องของคดี คณะกรรมการติดตามความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งน้ำมันรั่วไหลนั้นไม่สามารถสรุปได้วันสองวันหรือเดือนสองเดือน ต้องติดตามประเมินความเสียหายต่อเนื่อง ว่ามีผลกระทบต่อธรรมชาติทางทะเล พืชใต้น้ำ สัตว์ทะเล อาชีพประมงพื้นบ้านอย่างไร
"สำหรับวันนี้ได้มาสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนระยองและนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ให้เข้าใจตรงกันว่า อาหารทะเลระยองมีความปลอดภัย มั่นใจและบริโภคได้" รมช.สธ.กล่าว
เมื่อถามถึงผลการตรวจสุขภาพเจ้าหน้าที่เก็บกู้คราบน้ำมันเป็นอย่างไร นายสาธิตกล่าวว่า เรามีการเก็บเลือดและปัสสาวะของเจ้าหน้าที่เก็บกู้กว่า 500 คนมาตรวจก่อนที่จะลงมือปฏิบัติภารกิจ และหลังเก็บกู้จะมีการตรวจสุขภาพอีกครั้งเพื่อเปรียบเทียบผลสุขภาพ ซึ่งจะมีการตรวจอีกครั้งในอีก 3 เดือนหลังจกาเก็บกู้ และมีการติดตามต่อเนื่องในระยะ 1 ปี และ 3 ปีด้วย
ด้าน นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นแล็บของประเทศซึ่งได้รับรองมาตรฐานระดับโลก มั่นใจได้ว่าผลตรวจเป็นมาตรฐานระดับโลก หากมีสารก็บอกว่ามี ไม่มีก็บอกไม่มี ตรงไปตรงมา ซึ่งตั้งแต่เกิดเหตุแรกๆ ได้เก็บตัวอย่าง กุ้ง หอย ปู ปลา ปลาหมึก หลายประเภทและหลายชนิด จากหลายพื้นที่ เช่น หาดสุชาดา หาดแม่รำพึง ศาลาเขียว สวนสน และตลาดสดบ้านเพ จำนวน 14 ตัวอย่าง ตรวจหาสารโลหะหนักคือ ปรอท แคดเมียม และตะกั่ว ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.ชลบุรี ไม่พบเกินค่ามาตรฐาน
ส่วนการตรวจว่าปนเปื้อนน้ำมันหรือไม่ คือ การตรวจสารเบนโซเอไพลีน ซึ่งเป็นสารประกอบในกลุ่ม PAHs ( Polycyclic Aromatic Hydrocarbons ) ที่อาจก่อมะเร็งได้นั้น ซึ่งหากเจอแสดงว่ามีสารที่เกี่ยวกับน้ำมันปนเปื้อน ซึ่งค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อ 1 กิโลกรัมอาหาร หรือ 5 ส่วนในพันล้านส่วน ซึ่งทั้ง 14 ตัวอย่างไม่พบสารดังกล่าว และมีการตรวจสารหนูเพิ่มเติมก็พบว่าปลอดภัย ไม่เกินค่ามาตรฐาน
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนการตรวจครั้งที่สอง ได้เก็บตัวอย่าง 17 ตัวอย่าง การตรวจโลหะหนักทั้ง 3 ตัวผ่านทั้งหมด ไม่เกินเกณฑ์ ส่วนการตรวจ PAHs กำลังส่งไปตรวจ คาดว่าอีก 1-2 วันจะได้ผลว่าเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม เราไม่ตรวจเฉพาะหน้า แต่วางแผนตรวจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรามีประสบการณ์เมื่อปี 2556 ที่มีการรั่วของน้ำมันมาแล้ว ก็มีการตรวจติดตามอาหารทะเลเป็นระยะไปอีก 2-3 ปี ซึ่งเราพบสารต่างๆ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับปลอดภัยหรือเซฟตี้ลิมิต ซึ่งครั้งนี้ก็จะทำแบบเดียวกัน โดยช่วง ก.พ.นี้จะเก็บตัวอย่างตรวจทุกสัปดาห์ ช่วง มี.ค.-พ.ค. จะตรวจครึ่งเดือนครั้ง ถ้าตัวอย่างไม่มีอะไรผิดปกติ ก็จะเฝ้าระวังต่อไปอีก 2-3 ปี เพื่อการันตีว่า อาหารทะเลของระยองมีความปลอดภัย
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ด้าน นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า นอกจากเรื่องของวัตถุดิบอาหารที่มีความปลอดภัยแล้วนั้น สถานที่เก็บและจำหน่ายอาหารก็ต้องปลอดภัยด้วย ซึ่งกรมอนามัยร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตรวจมาตรฐานตลาดและร้านอาหาร กำกับมาตรฐานของการปรุงจะต้องถูกหลักสุขอนามัย การปรุงจำหน่ายต้องเป็นไปตามมาตรฐานสุขาภิบาล ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าตลาดและร้านอาหารที่เข้าไปควบคุมดูแลกำกับ วัตถุดิบปลอดภัย ผู้ปรุงจำหน่ายถูกสุขอนามัย จำหน่ายตามหลักสุขาภิบาล อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารต้องมีความหลากหลาย รับประทานอาหารทะเล ก็ต้องรับประทานข้าว ผัก กับประเภทอื่นๆ ให้ครบ 5 หมู่ตามหลักโภชนาการ อย่ากินอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งซ้ำๆ ต่อเนื่อง ก็จะปลอดภัยเป็นผลดีต่อร่างกาย
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
นายอนันต์กล่าวว่า ขณะนี้การเก็บกู้ต่างๆ ทำเสร็จสิ้นแล้ว และคืนพื้นที่ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จากนั้นเป็นกระบวนการฟื้นฟู ซึ่งมีการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ที่สบายสบายรีสอร์ท ซึ่ง 4-5 วันที่ผ่านมา มีผู้รับผลกระทบมายื่นเรื่อง 3 พันกว่าราย และจะบูรณาการร่วมกับศูนย์ดำรงธรรม จ.ระยอง และ อบต.ต่างๆ เปิดจุดรับเรื่องราวร้องทุกข์ อบต.ทุกแห่งที่มีพื้นที่ติดชายหาด เพื่อให้ประชาชนที่รับผลกระทบแล้วไม่สะดวกมาที่จุดบริการหลัก ได้ยื่นเรื่องราวแสดงถึงความเดือดร้อน ซึ่งจุดที่สบายสบายรีสอร์ทจะให้บริการถึงวันที่ 11 ก.พ. จากนั้นจะให้บริการที่ศูนย์ดำรงธรรม ชั้นที่ 1 ของศาลากลางจังหวัดระยอง
นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการด้านต่างๆ พิจารณาแนวทางการเยียวยา ส่วนทางบริษัท IPRC ได้ออกไปเยี่ยมเยียนขออภัยพี่น้องที่รับผลกระทบ มอบถุงน้ำใจแทนคำขอโทษ ซึ่งระบุว่าไม่ได้อยากจะให้เกิดเหตุการณ์นี้ และคาดหวังว่าจากนี้จะมีเข้มมาตรการไม่ให้เกิดขึ้นอีก
ส่วนการท่องเที่ยวนั้น ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนกังวลว่าการมาท่องเที่ยวระยองเป็นอย่างไร ปิดหาดปิดเกาะอย่างไร เรียนว่าที่ผ่านมาเราไม่มีการปิดหาด เพียงแต่ปิดเฉพาะจุดที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเก็บกู้คราบน้ำมัน ขอความร่วมมืองดเล่นน้ำ แต่ที่เกาะเสม็ดและจุดอื่นๆ จ.ระยอง ยังมีการท่องเที่ยวได้ตามปกติ
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 72 views