สสส. ประกาศผลรางวัลเกียรติยศ Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2021

 

 ผลงานแอปพลิเคชันคัดกรองภาวะซึมเศร้าสำหรับวัยรุ่น ของโรงเรียนนานาชาติกรุงเทพฯ คว้ารางวัลชนะเลิศระดับมัธยม และเครื่องฆ่าเชื้อโรคในหมวกนิรภัย ของวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชูทิศ กรุงเทพฯ คว้ารางวัลชนะเลิศระดับอาชีวะฯ รองนายกรัฐมนตรี “อนุทิน” ยกนิ้วภูมิใจ “นวัตกรรุ่นเยาว์” โชว์ศักยภาพสร้างสรรค์นวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ พร้อมผลักดันต่อยอดแก้ปัญหาสุขภาวะของประเทศ

          วันที่ 31 มกราคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีประกาศผลและมอบรางวัล Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิวายไอวาย และภาคีเครือข่ายผ่านทางการจัดงานในรูปแบบออนไลน์ว่า รู้สึกภูมิใจกับผลงานของเยาวชนทุกทีม ทุกผลงานเกิดมาจากความทุ่มเทและความพยายามของนักเรียน นักศึกษา ที่ร่วมกันคิด ริเริ่มอย่างสร้างสรรค์จนออกมาเป็นผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ โดย สสส. ได้ทำหน้าที่ในการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เพื่อสร้างนักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ให้แก่นักเรียน นักศึกษา คนรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ เป็นจุดเริ่มที่ดีเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ โดยเริ่มจากตัวเอง ชุมชน และสังคมรอบข้าง ควรที่จะได้รับการพัฒนาต่อยอดนำไปใช้แก้ปัญหาสุขภาวะในระดับประเทศต่อไป

          รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพโดยฝีมือเยาวชนทั้ง 20 ทีม จาก 362 ทีม ในปีนี้ ได้ผ่านอุปสรรค ความยากลำบาก เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ก็ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์อันมีคุณค่าในค่ายพัฒนาศักยภาพเพื่อพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งทุกคนสามารถเอาชนะมาได้ ทุกผลงานได้ผ่านกระบวนการพัฒนา ทดสอบ ทดลองอย่างเข้มข้น การที่ สสส. จัดประกวดฯ ครั้งนี้ จึงช่วยติดอาวุธให้เยาวชนรุ่นใหม่ รวมทั้งครู อาจารย์ได้เข้าใจและเกิดความตระหนักเรื่องการ “สร้าง” นำ “ซ่อม” สุขภาพ เห็นถึงสถานการณ์มิติสุขภาพที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอีกหลายมิติมากกว่าการเจ็บป่วยและรักษา แต่เป็นการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรค ผนวกกับการใช้พลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ในการคิดสร้างสรรค์วิธีแก้ไขหรือป้องกันปัญหา นับเป็นการสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคต ทั้งของตัวเยาวชนเองและสังคมได้อย่างดี เชื่อว่านักเรียน นักศึกษา และครู อาจารย์ที่ได้ผ่านกระบวนการนี้จะมีความเป็น active citizen และเป็นความหวังของพวกเราทุกคนในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพต่อไป

          ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส. มุ่งสร้างเสริมสุขภาพ โดยแก้ไขต้นเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพของคนไทย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น เห็นผลที่ต่างไปจากเดิม จำเป็นต้องใช้ “นวัตกรรม” ในการทำงาน ดังนั้นคำว่า “นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” ในมุมมองของ สสส. เป็นได้ทั้งแนวคิดหรือสิ่งประดิษฐ์ที่มุ่งสร้างเสริมสุขภาพทั้ง 4 มิติ คือ สุขภาพกาย สุขภาพจิตใจ สุขภาพทางสังคม และสุขภาพทางปัญญา ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยอย่างยั่งยืน สำหรับโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เป็นเสมือนกระจกที่สะท้อนวิธีการทำงานของ สสส. โดยเยาวชนจะต้องรู้จักสำรวจปัญหาหรือความต้องการของสังคม เพื่อนำไปสู่การออกแบบนวัตกรรมที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้กับสังคม อีกทั้งโครงการนี้ยังเกิดการสานพลังจากหลายภาคส่วน ในการร่วมกันออกแบบกระบวนการพัฒนาทักษะด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้กับเยาวชน โดย สสส. พร้อมที่จะขยายต่อสานความร่วมมือจากภาคีภาครัฐและเอกชนมาร่วมสนับสนุนต่อยอดและขยายผลงานนวัตกรรมต่อไป

          สำหรับโจทย์การประกวดในปีนี้ ได้นำประเด็นเป้าหมายหลัก 10 ปีของ สสส. ได้แก่ 1. ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2. ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ 3. ลดอุบัติเหตุและสร้างเสริมความปลอดภัยทางถนน 4. เพิ่มการบริโภคผักผลไม้ และอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ 5. เพิ่มกิจกรรมทางกาย หรือ ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง 6. สร้างเสริมความเข้าใจสุขภาวะทางเพศ 7. การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 8. สร้างเสริมสุขภาพจิต/การจัดการอารมณ์และความเครียด

          ในปีนี้รางวัลนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2021 รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา ได้แก่ ทีม Crying Cloud จากโรงเรียนนานาชาติกรุงเทพ (International School of Bangkok :ISB) ผลงาน Connecting Depression Therapy แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มคัดกรองภาวะซึมเศร้าสำหรับวัยรุ่น รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ทีม BCC-Robot จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ผลงาน PakYim Game แอปพลิเคชันเพื่อการวางแผนรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและให้ความรู้ทางโภชนาการผ่านการเล่นเกม รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ทีมเชื้อเพลิงอัจฉริยะ จากโรงเรียนศึกษานารี ผลงานเครื่องฆ่าเชื้อและย่อยสลายหน้ากากอนามัยเพื่อเป็นขยะเชื้อเพลิง และรางวัลความคิดสร้างสรรค์ ทีม NGGYU จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ผลงานระบบตรวจจับการขับมอเตอร์ไซค์ย้อนศรจากภาพกล้องวงจรปิด และส่งข้อมูลแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรผ่านแอปพลิเคชัน Line

ทีม Crying Cloud

          รางวัลชนะเลิศระดับอาชีวศึกษา ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ทีม NWM..Safety Roads 3 Plus จากวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชูทิศ กรุงเทพฯ ผลงานเครื่องฆ่าเชื้อโรคในหมวกนิรภัย รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ทีม Safe Zone จาก วิทยาลัยเทคนิคพังงา จ.พังงา ผลงาน “Safe Zone” แอปพลิเคชันการจัดการความเครียด รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ทีม Born to be จาก วิทยาลัยเทคโนโลยี โปลิเทคนิคลานนา เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ผลงานเก้าอี้ถังนุ่มนิ่ม เพื่อเสริมสร้างกิจกรรมทางกาย และลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง และรางวัลความคิดสร้างสรรค์ ทีมไข่เค็ม จากวิทยาลัยการอาชีพไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ผลงานสัญญาณไฟเตือนขณะกลับรถ สัญญาณแจ้งเตือนด้วยระบบไฟฟ้าและป้ายข้อความให้แก่ผู้ขับขี่ในจุดกลับรถ โดยใช้เซนเซอร์ตรวจจับความเร็วของพาหนะ โดยรวมรางวัลมูลค่ากว่า 200,000 บาท พร้อมโอกาสในการต่อยอดนวัตกรรม

ทีม NWM..Safety Roads 3 Plus

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่www.thaihealth.or.th/inno หรือwww.facebook.com/pmhealthpromotioninnoaward