นักวิชาการอิสระแสดงความคิดเห็นต่อ กมธ. สาธารณสุขเรื่องงบประมาณกรณี สปสช. กับการถ่ายโอน รพ.สต. สู่ อปท. เรื่องนี้ทำไม่ได้ง่ายๆ คุณสมบัติครบจึงจะเป็นหน่วยบริการได้ ไม่มีหมอประจำ เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่รักษา ไม่มียาและเวชภัณฑ์ที่พร้อมเหมือนโรงพยาบาล แล้วจะเป็นหน่วยบริการได้อย่างไร
วันนี้ ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร นักวิชาการอิสระ และ ผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่ทำงานด้านการปฏิรูปงานสาธารณสุข ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Chalermpol Waitayangkoon ถึง กรณี สปสช. กับการถ่ายโอน รพ.สต. สู่ อปท. โดยได้ระบุใจความดังนี้ ว่า วันก่อนมีการประชุม กมธ. สาธารณสุขเรื่องงบประมาณ และการถ่ายโอน รพสต. กับสถานีอนามัย ทั่วประเทศจาก ก.สาธารณสุข มา อปท. ฟังแล้วก็รู้สึกว่า สปสช. ก็ดูจะยังไม่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรกับงบประมาณรายหัวที่จะต้องจัดสรรตาม พรบ. กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น หน่วยบริการที่จะได้รับค่ารายหัวโดยตรงจาก สปสช.ต้องขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ก่อน
เมื่อมีคุณสมบัติครบจึงจะเป็นหน่วยบริการได้ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า รพสต.นั้นไม่มีแพทย์ ไม่มีบุคคลากรทางการแพทย์ ไม่มียา ไม่มีเวชภัณฑ์ เป็นของตัวเอง เป็นหน่วยบริการไม่ได้ ที่ผ่านมาเป็นการอุ้มโดย รพ.แม่ข่าย ในจังหวัด และ สสอ. สสจ. ให้การดูแล แต่ถ้าตอนนี้จะต้องยืนบนลำแข้งของตนเอง ก็คงมีปัญหาไม่น้อย และเชื่อว่า รพสต. และสถานีอนามัย เกือบทั้งหมดไม่มีคุณสมบัติที่ะเป็นหน่วยบริการตามกฎหมายดังกล่าว
แม้จะเป็นส่นหนึ่งของ อปท. ที่เป็นนิติบุคคล แต่ อปท. ก็ไม่เคยทำหน้าที่นี้ และก็เชื่อว่าไม่มีบุคคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับระบบสาธารณสุขพอที่จะมาบริหาร รพสต. ดูที่ สปสช. ชี้แจงต่อ กมธ. ทั้ง 3 เรื่อง 1. ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการของ สปสช. หรือในฐานะเครือข่ายหน่วยบริการ และต้องขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ตามกฎหมาย สุขภาพปฐมภูมิ 2. ทุก อบจ. ต้องจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการของ สปสช. และจัดตั้งระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 3. ให้ กสพ. พิจารณากำหนดแนวทางพัฒนา อสม.ให้เป็นผู้ช่วยผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน
เรื่องพวกนี้คงทำไม่ได้งายๆ เพราะนอกจาก อปท. ขนาดใหญ่แล้ว อปท. ขนาดเล็กและกลางไม่มีเครื่องมืออะไรเลย ไม่มีบุคคลากรทางการแพทย์ประจำ แล้วจะเป็นหน่วยบริการได้อย่างไร
การถ่ายโอนครั้งนี้ ยังจะมีปัญหาเรื่องบุคคลากรอีกไม่น้อย ทั้งคนที่ต้องการโอนและไม่ต้องการโอน เพราะเป็นเรื่องสมัครใจ ทาง ก.สาธารณสุขชี้แจงกว้างๆว่า ถ้าเป็นข้าราชการ ก็ต้องพยายามหาทางบรรจุผู้ที่ไม่ต้องการโอน แต่อาจไม่ใช่ที่ต้องการ แต่ถ้าไม่ใช่ข้าราชการ เป็นลูกจ้างประจำ แบบนี้คงต้องพิจารณาเป็นรายๆไป ลูกจ้างประจำคงต้องตกงานกันเป็นแถว
ในขณะที่ รพสต. ที่มีคนไม่โอนไป อปท. ทั้งหมด คงต้องขาดบุคคลากรที่เคยทำงานในส่วนต่างๆที่ รพสต. และ สถานีอนามัย แล้วจะหาคนมาจากไหน เพราะขนาดที่มีบุคคลากรตอนนี้ยังไม่พอขออัตราใหม่เป็นพันๆหรือเป็นหมื่นจาก กพ. จะทำได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้สถานะของพวกเขาจะเป็นอย่างไร
ฟังแล้วก็รู้สึกว่า ที่เคยบอกว่า ที่เดิมทำอย่างไร ที่ใหม่ก็ทำอย่างนั้น เป็นแค่เปลี่ยนสังกัดเท่านั้น แค่นั้นหรือเป็นเรื่องที่น่าห่วง ทั้งผู้ที่ยินดีโอน กับไม่ต้องการโอนจากการถ่ายโอนครั้งนี้จะเดินหน้ากันอย่างไร นี่ยังไม่ได้พูดถึงผลกระทบที่จะมีกับประชาชนที่เคยรับบริการจาก รพสต. และสถานีอนามัยเชื่อว่า คงจะหนีไปใช้บริการที่ รพ.รัฐกันอีกมากมาย
ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก : Chalermpol Waitayangkoon
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 212 views